การติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์กับแนวทางการรักษาในปัจจุบัน

การติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์กับแนวทางการรักษาในปัจจุบัน
Volume: 
ฉบับที่ 17 เดือน พฤศจิกายน 2557
Column: 
Health Station
Writer Name: 
กุสุมา ภักดี

การติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์กับแนวทางการรักษาในปัจจุบัน

การติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์กับแนวทางการรักษาในปัจจุบัน

ใกล้วันเอดส์โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปีเข้ามาอีกแล้ว นิตยสารเพื่อสุขภาพ @Rama ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ รศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีและแนวทางการรักษาในปัจจุบัน ถึงโอกาสที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะหายขาดจากโรคติดต่อเรื้อรังนี้ได้หรือไม่ เชิญติดตามได้เลยค่ะ

การติดเชื้อเอชไอวีแบ่งเป็นกี่ระยะ

การติดเชื้อเอชไอวีแบ่งได้ 4 ระยะ

1) ระยะติดเชื้อเฉียบพลัน คือ ระยะที่รับเชื้อมาใหม่ๆ ผู้ติดเชื้อส่วนหนึ่งจะมีอาการคล้ายไข้หวัด แต่ผู้ติดเชื้ออีกส่วนหนึ่งจะไม่มีอาการ ทำให้ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวีมาแล้ว

2) ระยะไม่ปรากฏอาการ คือ เป็นระยะที่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ จึงทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่นได้ง่ายโดยการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน เนื่องจากไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ

3) ระยะมีอาการ คือ ในระยะนี้จะมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น เริ่มมีฝ้าขาวในปาก มีตุ่มคันขึ้นตามแขนขา มีไข้เรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ ท้องเสียเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ น้ำหนักลดมากกว่าร้อยละ 10 เป็นต้น ทำให้เป็นระยะที่ผู้ติดเชื้ออาจสงสัยว่าตนเองมีความผิดปกติ และอาจจะมาพบแพทย์

4) ระยะเอดส์ คือ ระยะนี้ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะถูกทำลายลงไปมาก สามารถทราบได้จากการตรวจเลือดจะพบเม็ดเลือดขาวชนิดซีดีสี่ลดลง อาจจะมาพบแพทย์ด้วยวัณโรค เชื้อราในปอด เชื้อราขึ้นสมอง หรือที่รวมเรียกว่า “โรคติดเชื้อฉวยโอกาส”

แนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบัน

แนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบัน คือ การรักษาด้วยยาต้านเอชไอวีเท่านั้น เนื่องจากเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด โดยผู้ติดเชื้อจะได้รับยาต้านเอชไอวีอย่างน้อย 3 ชนิดร่วมกันเป็นสูตรยา แต่มีหลักการรักษา คือ ผู้ติดเชื้อต้องกินยาให้ตรงเวลาทุกวันต่อเนื่องตลอดชีวิต เพราะยาจะไปทำการยับยั้งการแบ่งตัวและการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส ถ้าหยุดกินเมื่อไหร่ก็จะทำให้เชื้อไวรัสแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและแพร่กระจาย

แนวโน้มของจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบัน

จากตัวเลขที่มีการรายงาน ในประเทศไทยมีความชุกของการติดเชื้อเอชไอวีอยู่ประมาณร้อยละ 1.3 มีผู้ติดเชื้อสะสม จากการรายงานของกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 500,000 - 600,000 ราย แต่คาดว่าอาจจะมากถึง 1,000,000 รายในขณะที่ภาพรวมของทั่วโลกมีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 33,000,000 ราย

สรุปคือ ถ้ามองในแง่ของตัวเลขที่มีการรายงาน อาจเห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงแรกที่มีการระบาด แต่ถ้ามองในแง่ของการปฏิบัติงานของแพทย์ผู้ตรวจรักษา พบว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่มาให้ตรวจและทำการรักษาอยู่เกือบทุกวัน ดังนั้นจึงเชื่อว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้ลดจำนวนลงเลย

นอกจากการรักษาด้วยยาแล้วมีวิธีรักษาอื่นใดอีกบ้าง

การติดเชื้อเอชไอวีเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง ดังนั้น การรักษาหลักคือการกินยาต้านเอชไอวีตลอดชีวิต ปัจจุบันนักวิจัย จึงสนใจและเกิดแนวคิดที่จะหาวิธีการรักษาใหม่ๆ โดยทำอย่างไรให้การติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์หายขาด หรือว่าไม่ต้องกินยาตลอดไป อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาดเป็นไปได้ยากคือ เชื้อไวรัสมีการหลบซ่อนอยู่ในเซลล์ต่างๆ และอยู่ในระยะที่ไม่แบ่งตัวทำให้ยาต้านเอชไอวีไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ ซึ่งในขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพียง 1 รายในโลก ที่หายขาดจากการติดเชื้อเอชไอวี โดยเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวร่วมด้วย และได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก ฉายแสง รับยาเคมีบำบัด รักษาตามขั้นตอนของผู้ป่วยโรคมะเร็ง และอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ จนกระทั่งพบว่าสามารถหยุดยาต้านเอชไอวีได้มากกว่า 5 ปี โดยที่ยังตรวจไม่พบเชื้อไวรัสกลับมาใหม่ แต่ว่าเป็นกรณีที่ผ่านวิธีการรักษาที่ซับซ้อน นักวิจัยจึงหวังและพยายามคิดค้นวิธีรักษาว่าทำอย่างไรจึงจะมีวิธีการรักษาที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหายขาดจากการติดเชื้อเอชไอวีได้ เช่น นักวิจัยพยายามพัฒนาวัคซีนเพื่อเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อหวังที่จะให้สามารถกำจัดเชื้อไวรัสออกไปจากร่างกายได้รวมไปถึงการหาสารบางชนิดและยาที่กระตุ้นเชื้อไวรัสที่หลบซ่อนอยู่ในเซลล์ให้ออกมา และใช้ยาต้านเอชไอวียับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสอีกขั้นตอนหนึ่ง เป็นต้น

แพทย์มีส่วนช่วยปรับทัศนคติผู้ติดเชื้อเอชไอวีอย่างไรบ้าง

จากการทำการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีมามากกว่า 10 ปี พบว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือ ผู้ที่ทราบว่าตนเองติดเชื้อมานานแล้ว และทำใจยอมรับได้ แพทย์ก็จะดูแลและติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อมีทัศนคติที่ดีในการดำเนินชีวิตต่อไปแม้ว่าจะมีการติดเชื้อเอชไอวี เช่น ทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าใจว่าการติดเชื้อเอชไอวีเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง และเป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับยารักษาอย่างต่อเนื่อง การมาพบแพทย์ตามนัด และติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการตรวจเลือด เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้อยู่ในกระบวนการรักษาที่ถูกต้อง และมีผลการรักษาก็เป็นไปในทางที่ดี

กลุ่มที่สอง คือ ผู้ที่เพิ่งทราบว่าตนเองติดเชื้อแต่ยอมรับในช่วงแรกไม่ได้ เพราะคิดว่าตัวเองไม่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ ทำให้ทำใจยอมรับไม่ได้ แพทย์จึงต้องพยายามอธิบายถึงสาเหตุ และความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีว่าติดต่อมาได้อย่างไร นอกจากนี้พยายามบอกว่าการติดเชื้อเอชไอวีเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง แต่สามารถรักษาได้ ถึงจะไม่หายขาดก็ตาม อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อเอชไอวีเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงยังเป็นโรคที่สังคมยังไม่เปิดกว้างที่จะยอมรับ มีความรังเกียจ แต่ปัจจุบันมีการให้ความรู้และมีการออกสื่อหลายช่องทาง ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งรู้จักโรคและการติดต่อมากขึ้น จึงทำให้มุมมองที่มีต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก

งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคเอชไอวี

งานวิจัยที่ทำอยู่ในปัจจุบันมี 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับยาต้านเอชไอวีใหม่ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยที่มาจากต่างประเทศแต่ต้องการมาทำการศึกษาในคนไทย อาจเป็นยากลุ่มใหม่ หรือยากลุ่มเดิมที่มีการพัฒนาให้มีผลข้างเคียงน้อยลง และหรือเพื่อให้กินง่ายขึ้น เป็นต้น

กลุ่มที่สอง เป็นงานวิจัยที่ทำในผู้ติดเชื้อเอชไอวีไทยโดยนักวิจัยไทยในโรงพยาบาลรามาธิบดีมีข้อมูลผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 2,000 - 3,000 ราย ก็จะมีการใช้ข้อมูลในส่วนนี้วิเคราะห์และวิจัยต่อยอด เช่น การเก็บข้อมูลเรื่องโรคติดเชื้อฉวยโอกาส หรือติดตามผลการรักษาของผู้ติดเชื้อ ถือเป็นการนำข้อมูลของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยมาปรับใช้ในการดูแลรักษากับผู้ติดเชื้อในประเทศเอง

ปัญหาและอุปสรรคที่พบระหว่างการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี

เนื่องจากการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์เป็นการรักษาระยะยาว ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ ผลข้างเคียงจากยาต้านเอชไอวี บางรายพบผลข้างเคียงระยะสั้น บางรายพบผลข้างเคียงระยะยาว แพทย์จึงมีความจำเป็นต้องติดตามอาการ และผลการรักษาเป็นระยะๆ มีการเจาะเลือดทุก 6 เดือน เพื่อเป็นการติดตามผลข้างเคียงจากการใช้ยา ในกรณีที่พบผลข้างเคียงของยาต้านเอชไอวีและผู้ติดเชื้อไม่สามารถทนต่อยานั้นๆ ได้ แพทย์ก็จะทำการปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมกับผู้ติดเชื้อแต่ละรายต่อไป

การติดเชื้อเอชไอวีรักษาให้หายขาดได้จริงหรือไม่?

การรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาดมี 2 ความหมาย ความหมายแรกหมายถึงการที่หายขาดจริงๆ ซึ่งพบเพียงรายเดียวดังที่ยกตัวอย่างมาเบื้องต้น แต่อีกความหมายหนึ่ง คือ กลุ่มผู้ติดเชื้อที่อาจหยุดการรักษาด้วยยาต้านเอชไอวีได้หลังจากที่ได้รับการรักษามาแล้วระยะเวลาหนึ่ง แต่เชื้อไวรัสยังอยู่ในร่างกาย ซึ่งตอนนี้มีผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้กำลังมีการติดตามโดยนักวิจัยการที่สามารถหยุดการรักษาได้เพราะอาจมีการกินยาเร็วตั้งแต่ที่ทราบว่ามีการติดเชื้อไม่นานเมื่อหยุดยาก็สามารถควบคุมปริมาณไวรัสไม่ให้มีการเพิ่มจำนวนอยู่ได้ ยังคุมไวรัสได้เหมือนคนที่ยังกินยาอยู่ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศอิตาลีประมาณ 10 กว่าราย ที่หยุดยาต้านเอชไอวีได้ ซึ่งแพทย์กำลังติดตามอาการและผลการหยุดยานี้อยู่

การรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาด มีความยุ่งยากหลายประการดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ในอนาคตมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม และมีการวิจัยที่ประสบความสำเร็จ แพทย์ผู้ทำการรักษาและผู้ติดเชื้อเอชไอวีอาจมีความหวังว่าจะหายขาดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เรื้อรังนี้ได้

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 17