โครงการประกวดเพลงสุขภาพ

โครงการประกวดเพลงสุขภาพ

มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยหลักของชาติ ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งมีปณิธานว่า “ปัญญาของแผ่นดิน” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพของตนเอง ลดความเจ็บป่วย ลดการไปโรงพยาบาล การดูแลสุขภาพของตนเองนั้นจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่ยังไม่เจ็บป่วย ทำให้สุขภาพแข็งแรง โดยดำเนินการกับปัจจัยที่กำหนดสุขภาพ ทั้งปัจเจกสิ่งแวดล้อมระบบบริการสุขภาพ อาทิ มีพฤติกรรมการรับประทานที่ดี ออกกำลังกาย ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา หลีกเลี่ยงอบายมุข ผ่อนคลายจิตใจ ฟังเพลง ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคม ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีคณะที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และคณะที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ นอกจากนี้ ยังมีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ที่สามารถใช้บทเพลงเป็นสื่อผ่านช่องทางให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้

นอกจากดนตรีและบทเพลงจะให้ความบันเทิงและให้ความไพเราะแล้ว ยังให้สาระความรู้ผ่านเนื้อเพลงที่ทำให้ผู้ฟังสามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงใส่ใจเรื่องสุขภาพ

“สุขภาพดีเป็นหน้าที่ ไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง”

โครงการประกวดเพลงสุขภาพเป็นโครงการประกวดแต่งเพลงที่มีเนื้อหาในการดูแลสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจและมีความสามารถในการแต่งเนื้อหาเป็นเพลงส่งเข้าประกวด ไม่ว่าจะเป็นเพลงลีลาใด ประเภทใด ลูกทุ่ง ลูกกรุง ลูกเทศ ป็อปร็อก อินดี้ เพลงเพื่อชีวิต ฯลฯ ผู้ประพันธ์เพลงสามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้โดยไม่จำกัดรูปแบบและเนื้อหา

วัตถุประสงค์

๑. เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพตนเองผ่านบทเพลง

๒. เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใจใส่ดูแลรักษาสุขภาพ

๓. เพื่อให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ คณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาสุขภาพของประชาชนให้มีสุขภาพที่ดี

๔. เพื่อสร้างบทบาทใหม่ให้แก่คณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีบทบาทที่จะนำสังคมให้สมกับปณิธานของมหาวิทยาลัย “ปัญญาของแผ่นดิน”

๕. เพื่อหารายได้การก่อสร้างอาคารสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์

๖. เพื่อนำเสนอผลงานที่เป็นความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์กับวิทยาลัยดนตรี ในการสร้างบทเพลงที่บรรเลงด้วยวงซิมโฟนีออร์เคสตร้า ซึ่งเป็นกิจกรรมงานสาธารณะ

สาระสำคัญของบทเพลงที่ส่งเข้าประกวด

(๑) ต้องเป็นบทเพลงที่ได้ประพันธ์ขึ้นใหม่ (ทั้งเนื้อร้องและทำนอง) ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน ไม่ได้ลอกเลียนแบบมาจากผลงานของผู้อื่น หากคณะกรรมการพบว่าเป็นเพลงเก่าที่เคยเผยแพร่มาก่อนแล้ว หรือพบว่าเป็นการลอกเลียนบทเพลงของผู้อื่นให้ถือว่าเป็นโมฆะจะตัดสิทธิ์ไปโดยปริยาย

(๒) รับบทเพลงทุกลักษณะ ทุกชนิด ทุกลีลา และทุกรูปแบบ โดยเปิดกว้างให้เสนอความแตกต่าง เสนอความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการได้เต็มที่ และผู้ประพันธ์เพลงสามารถส่งผลงานได้ไม่จำกัดจำนวนชิ้น

(๓) บทเพลงที่ชนะการประกวดและได้รับการคัดเลือกให้ผ่านเข้ารอบต่าง ๆ เป็นลิขสิทธิ์ของสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์

(๔) การส่งบทเพลงเข้าประกวดถือว่ายอมรับกติกาและวิธีการดำเนินการของฝ่ายจัดประกวด ผู้ส่งผลงานไม่สามารถที่จะเรียกร้องสิทธิ์ใด ๆ ได้ การดำเนินการและการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นสิ้นสุด

(๕) สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์และส่วนงานในมหาวิทยาลัยมหิดลสามารถนำบทเพลงที่ชนะการประกวดไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ ให้ความรู้ความบันเทิงแก่ประชาชนได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

(๖) รางวัลที่ได้รับจากสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ถือเป็นที่สิ้นสุดและไม่สามารถเรียกร้องสิทธิ์ใด ๆ ได้อีก

(๗) เนื้อหาสำคัญของเพลง

แนวคิดหลัก สุขภาพดีเป็นหน้าที่ ไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง

กรอบความคิดของเนื้อหา สุขภาพและปัจจัยกำหนดสุขภาพ

ปัจจัยกำหนดสุขภาพ

•  ปัจเจก

การดูแลตนเอง

๑) การรับประทานอาหาร

หลีกเลี่ยง อาหารหวาน/อาหารมัน/อาหารเค็ม/ไขมัน ตัวร้าย (ไขมันทรานส์ น้ำมันทอดซ้ำ)/อาหารหมักดอง/ อาหารแปรรูป ฯลฯ

ควรรับประทาน อาหารเช้า/ผักผลไม้/นมแม่/ข้าวกล้อง

อื่น ๆ อ่านฉลากโภชนาการ

๒) การมีกิจกรรมทางกาย ทำงานบ้าน/ปลูกต้นไม้/ ออกกำลังกาย: เดินวิ่ง/เล่นกีฬา ฯลฯ

๓) การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง บุหรี่/สิ่งเสพติด/สุรา ฯลฯ

๔) การพัฒนาจิต – จิตวิญญาณ การเจริญสติ สมาธิ/ การผ่อนคลาย เช่น การเล่นดนตรี การฟังเพลง การพักผ่อน การนอนหลับ/ การดำเนินชีวิตในวิถีที่ถูกต้อง/หลีกเลี่ยงอบายมุข ฯลฯ

•  สิ่งแวดล้อม

๑) ทางกายภาพ พื้นที่สีเขียว/ถนนหนทางปลอดภัย/ อากาศดี ฯลฯ

๒) ชีวภาพ ลดขยะ/ลดสัตว์นำโรค เช่น ยุงลาย หนู ฯลฯ

๓) สังคม การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคม/การร่วมแรงร่วมใจ ในการทำงาน

•  ระบบบริการสุขภาพ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์/ระบบบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความเป็นธรรม/การเข้าถึงระบบบริการ ฯลฯ

กำหนดเวลาของโครงการ

รับสมัคร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป (หมดเขต ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๙)

ประกาศผลรอบแรก วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๐

คัดเลือกผู้ผ่านเข้ารอบแรกจำนวน ๑๐๐ บทเพลง พิจารณาคัดเลือกโดยคณะกรรมการดนตรี ๑๑ คน

การคัดเลือกรอบที่สอง

วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๐ ผู้ผ่านเข้ารอบแรกทั้ง ๑๐๐ บทเพลง ต้องแสดงผลงานสดต่อหน้าคณะกรรมการ ๑๕ คน ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพิจารณาให้เหลือผลงาน ๓๐ บทเพลง

วันที่ ๒๓ มกราคม ถึง ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ผลงานทั้ง ๓๐ บทเพลง ที่ผ่านการคัดเลือกรอบที่สอง จะถูกนำไปเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับวงออร์เคสตร้า (๗๖ ชิ้น) โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นผู้คัดเลือกนักเรียบเรียงเสียงประสานให้ทำงานเรียบเรียงแต่ละบทเพลง ซึ่งค่าเรียบเรียงเสียงประสานจะรับผิดชอบโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หมายเหตุ: หากเจ้าของผลงานสามารถหาผู้เรียบเรียงเสียงประสานสำหรับวงออร์เคสตร้า (๗๖ ชิ้น) ที่ตนชื่นชอบได้เอง ซึ่งแตกต่างไปจากรายชื่อนักเรียบเรียงเสียงประสานที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์จัดให้ ก็สามารถกระทำได้ แต่เจ้าของผลงานจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

นักร้องที่ขับร้องผลงานเพลง เจ้าของผลงานสามารถที่จะเลือกนักร้องของตนได้ แต่เจ้าของผลงานจะต้องเสียค่าใช้จ่ายและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง แต่หากเจ้าของผลงานมอบให้ฝ่ายจัดการคือวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้คัดเลือกนักร้องให้ ก็จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

รอบชิงชนะเลิศ วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๐

ถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์รามาแชนแนล และสถานีโทรทัศน์ช่องทั่วไป

รางวัลจากการประกวด

รอบแรก

ผู้ผ่านเข้ารอบ ๑๐๐ บทเพลง จะได้รับเงินรางวัลเพลงละ ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมใบประกาศนียบัตรจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รอบที่สอง

ผู้ผ่านเข้ารอบ ๓๐ บทเพลง จะได้รับเงินรางวัลเพลงละ ๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมใบประกาศนียบัตรจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้บันทึกบทเพลงลงแผ่นเสียง (Compact Disc)

รอบชิงชนะเลิศ

รางวัลที่ ๑ ได้รับเงินรางวัล ๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมถ้วยรางวัลซึ่งจะขอทูลเกล้าฯ พระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

รางวัลที่ ๒ ได้รับเงินรางวัล ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมถ้วยรางวัลซึ่งจะขอความอนุเคราะห์จากนายกรัฐมนตรี

รางวัลที่ ๓ ได้รับเงินรางวัล ๒๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

รางวัลชมเชย ๑ ได้รับเงินรางวัล ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมถ้วยรางวัลจากนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์

รางวัลชมเชย ๒ ได้รับเงินรางวัล ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมถ้วยรางวัล จากอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล

สอบถามข้อมูลและรายละเอียดได้ที่
ฝ่ายงานกิจกรรม วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โทรศัพท์ 02-800-2525 ต่อ 151
หรือที่
http://med.mahidol.ac.th/healthsongcontest

สอบถามข้อมูลและรายละเอียดได้ที่
ฝ่ายงานกิจกรรม วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โทรศัพท์ 02-800-2525 ต่อ 150, 151
หรือที่
http://www.music.mahidol.ac.th/healthymusic