ผลสัมฤทธิ์การฝึกอบรม

ผลสัมฤทธิ์การฝึกอบรม (Expected Learning Outcomes)

แพทย์ที่จบการฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาอายุรศาสตร์ จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ต้องมีคุณสมบัติและความรู้ความสามารถตามสมรรถนะหลัก 8 ด้าน (โดยเพิ่มเติมสมรรถนะหลักอีก 2 ด้าน นอกเหนือจากความสามารถขั้นต่ำตามสมรรถนะหลัก 6 ด้าน ของเกณฑ์หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาอายุรศาสตร์ของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ) ดังนี้

  1. การดูแลรักษาผู้ป่วย (Patient Care)
    1. มีทักษะในการซักประวัติ ตรวจร่างกายผู้ป่วย ทำหัตถการ และรวบรวมข้อมูล สำหรับนำมาคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสม โดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานของการดูแลแบบองค์รวม
    2. วินิจฉัยบำบัดรักษาภาวะผิดปกติทางอายุรศาสตร์ที่พบโดยทั่วไปในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
    3. บันทึกรายงานผู้ป่วยได้อย่างสมบูรณ์และสม่ำเสมอ
    4. ให้การป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างเหมาะสม
  1. ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความสามารถในการนำไปใช้แก้ปัญหาของผู้ป่วยและสังคมรอบด้าน (Medical knowledge and Skills)
    1. เข้าใจวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานของร่างกาย และจิตใจ
    2. มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพ และเชี่ยวชาญในสาขาอายุรศาสตร์
  2. การพัฒนาตนเองและการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Practice-based Learning and Improvement)
    1. มีความคิดสร้างสรรค์ตามหลักวิทยาศาสตร์ในการสร้างความรู้ใหม่และพัฒนาระบบบริการสุขภาพ
    2. เรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติ
    3. นำความรู้จากงานวิจัยมาปรับใช้ในการปฏิบัติงาน
  3. ทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and Communication Skills)
    1. นำเสนอข้อมูลผู้ป่วย และอภิปรายปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
    2. มีทักษะในการถ่ายทอดความรู้ ให้แพทย์ นักศึกษาแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์
    3. สื่อสารให้ข้อมูลแก่ญาติ และผู้ป่วย ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยมีเมตตา เคารพการตัดสินใจและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
    4. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
    5. เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่แพทย์และบุคลากรอื่น โดยเฉพาะคำปรึกษาทางอายุรศาสตร์
  4. ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) และความเป็นอิสระทางวิชาชีพ
    1. มีคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติอันดีต่อผู้ป่วย ญาติ ผู้ร่วมงาน เพื่อนร่วมวิชาชีพและชุมชน     
    2. ให้การบริบาลโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง รักษามาตรฐานและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย
    3. มีความสนใจใฝ่รู้ และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (Continuous Professional Development)
    4. มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
    5. คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม
  5. การปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ (System-based Practice)
    1. มีความรู้เกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศ
    2. มีความรู้และมีส่วนร่วมในระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย
    3. ใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม (Cost Consciousness Medicine) และสามารถปฏิบัติงานหรือปรับเปลี่ยนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เข้ากับบริบทของการบริการสาธารณสุขหรือความต้องการของชุมชนได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ
  6. ความรู้ ความสามารถในการดำเนินการวิจัย (Research Skills)
    1. มีความรู้พื้นฐานของการทำวิจัย
    2. รู้หลักการการปฏิบัติงานวิจัยทางคลินิกที่ดี  (Good clinical practice)
    3. สามารถตั้งคำถามวิจัยได้เหมาะสม
    4. วิเคราะห์ วิจารณ์งานวิจัยได้อย่างเหมาะสม
    5. ดำเนินการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขได้
  7. การทำงานเป็นทีมและทักษะการเป็นผู้นำ (Teamwork and Leadership Skills)
    1. ทำงานร่วมกันเป็นทีมกับผู้ร่วมงานทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ
    2. มีความสามารถในการบริหารจัดการและเป็นผู้นำในทีมดูแลผู้ป่วย