หลักสูตรของการฝึกอบรม

หลักสูตรของการฝึกอบรม (ฉบับย่อ)

 

เนื้อหาของหลักสูตรการฝึกอบรม (Program content)

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องมีความรู้ความสามารถในเนื้อหาต่อไปนี้

  1. ความรู้พื้นฐานของอายุรศาสตร์ และระบบที่เกี่ยวข้อง
  2. โรคหรือภาวะทางอายุรศาสตร์ที่สำคัญ
  3. หัตถการและ/หรือการแปลผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัย และรักษาโรคอายุรศาสตร์
  4. การเรียนรู้ทางด้านบูรณาการ

ตารางการปฏิบัติงานและ ผลสัมฤทธิ์ที่ตั้งไว้ตามกิจกรรมการปฏิบัติงานของแพทย์ประจำบ้าน

 

องค์ประกอบของการฝึกอบรม (Program Structure)

การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตลอด 3 ปี เพื่อให้มีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยทางอายุรศาสตร์และบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เน้นที่ภาคปฏิบัติมากกว่าด้านทฤษฎี โดยให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วยเป็นหลัก ควบคู่ไปกับกิจกรรมทางวิชาการของภาควิชาฯ

  • แพทย์ประจำบ้านจะต้องปฏิบัติงานในการดูแลผู้ป่วยอายุรศาสตร์ เป็นเวลา 21 เดือน และปฏิบัติงานในสาขาเฉพาะทางรวมกัน 11-12 เดือน โดยการปฏิบัติงานในแต่ละสาขาวิชาเฉพาะทาง จะต้องมีระยะเวลาในการปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 4 สัปดาห์ และไม่เกิน 3 เดือน
  • แพทย์ประจำบ้านแต่ละคนจะต้องได้รับประสบการณ์เรียนรู้ในสถาบันสมทบในส่วนภูมิภาค (รพ.บุรีรัมย์ และ สถาบันร่วมฝึกอบรม) 1 เดือนต่อชั้นปี เพื่อให้เข้าใจระบบสาธารณสุขและมีประสบการณ์เรียนรู้ปัญหาผู้ป่วยที่หลากหลาย
  • นอกจากนี้ภาควิชาฯ ยังจัดวิชาเลือกให้แพทย์ประจำบ้านปีที่ 2 หรือ 3 อย่างน้อย 1-2 เดือนได้ทั้งอายุรศาสตร์ และสาขาเฉพาะทาง หรือสาขาวิชาอื่นตามที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา หรือต่างประเทศที่ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ รับรอง กรณีเลือกไปปฏิบัติงานในสถาบันต่างประเทศ แพทย์ประจำบ้านสามารถขอรับทุนสนับสนุนจากคณะฯ ได้ตามประกาศคณะฯ
  • การจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ประจำบ้านและอาจารย์ในภาควิชาฯ รวมถึงกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค

          ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจัดประสบการณ์เรียนรู้ตามความรู้ความสามารถของแพทย์ประจำบ้านในแต่ละชั้นปี และให้แพทย์ประจำบ้านมีอิสระในการจัดประสบการณ์เรียนรู้ด้วยตัวเองภายใต้ข้อกำหนดข้างต้น โดยผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอด และจะมีระบบการกำกับดูแลเพื่อให้แน่ใจว่าในตลอด 3 ปีแพทย์ประจำบ้านแต่ละคนมีประสบการณ์เรียนรู้ในด้านต่างๆ เหมาะสมและครบถ้วนตามข้อกำหนดของราชวิทยาลัยฯ (ตารางสรุปการจัดประสบการณ์เรียนรู้ตลอด 3 ปี)

ภาควิชาอายุรศาสตร์มีนโยบายในการนำเวชศาสตร์เชิงประจักษ์ (evidence-based medicine) เข้ามาประยุกต์ใช้ในทุกกิจกรรม รวมทั้งให้อิสระแก่แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีในการแสดงความคิดเห็นหรือตั้งคำถามอย่างเสรีในทุกกิจกรรมทางวิชาการนอกจากนี้แพทย์ประจำบ้านยังสามารถให้ข้อเสนอแนะกับภาควิชาในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหรือกิจกรรมวิชาการผ่านกระบวนการให้ข้อมูลป้อนกลับ นอกจากนี้แพทย์ประจำบ้านต้องทำงานวิจัย ได้แก่ งานวิจัยแบบ retrospective, prospective หรือ cross sectional  อย่างน้อย 1 เรื่อง ในระหว่างการปฏิบัติงาน 3 ปี โดยเป็นผู้วิจัยหลักหรือ ผู้นิพนธ์หลัก