โครงร่างการฝึกอบรม

โครงร่างการฝึกอบรม ประกอบด้วย

  1. การปฏิบัติงานในการดูแลผู้ป่วยอายุรศาสตร์ เป็นเวลา 21 เดือน (รวมสถาบันจักรีนฤบดินทร์ปีละ 1-2 เดือน)
  2. การปฏิบัติงานในสาขาเฉพาะทางรวมกัน 11-12 เดือน โดยแพทย์ประจำบ้านมีอิสระในการเลือกสาขาวิชาเฉพาะทางใดก็ได้ แต่ไม่เกิน 3 เดือนในแต่ละสาขาวิชาเฉพาะทาง
  3. การปฏิบัติงานในสถาบันร่วมในรพ.ส่วนภูมิภาค 1 เดือน (รพ.บุรีรัมย์ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ หรือ รพ.สุราษฎร์ธานี) เพื่อให้เข้าใจระบบสาธารณสุขและมีประสบการณ์เรียนรู้ปัญหาผู้ป่วยในภูมิภาคอื่นของประเทศ
  4. วิชาเลือก 2 เดือน ในสาขาอายุรศาสตร์ หรือสาขาวิชาเฉพาะทางหรือสาขาวิชาอื่นตามที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภาหรือสถาบันต่างประเทศที่ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ รับรอง
  5. การออกตรวจ OPD อายุรศาสตร์ และ OPD สาขาวิชาเฉพาะทาง
  6. กิจกรรมวิชาการ ได้แก่ Noon report, Medicine-ER noon report, Medical grand round, Interesting case, Morbidity mortality conference, Internal medicine journal club, Medical research conference, Approach in Internal Medicine การบรรยาย และการประชุมวิชาการต่างๆ
  7. การทำวิจัย ได้แก่ งานวิจัยแบบ retrospective, prospective หรือ cross sectional อย่างน้อย 1 เรื่อง โดยเป็นผู้วิจัยหลักหรือ ผู้นิพนธ์หลัก
  8. กิจกรรมเสริมหลักสูตรอื่นๆ

การจัดประสบการณ์เรียนรู้พิจารณาตามความรู้ความสามารถที่พึงประสงค์ของแพทย์ประจำบ้านในแต่ละชั้นปีและให้แพทย์ประจำบ้านมีอิสระในการจัดประสบการณ์เรียนรู้ด้วยตัวเองภายใต้ข้อกำหนดข้างต้น โดยผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านและมีระบบการกำกับดูแลเพื่อให้มั่นใจว่าตลอดระยะเวลา 3 ปีแพทย์ประจำบ้านแต่ละคนมีประสบการณ์การเรียนรู้ในด้านต่างๆ เหมาะสมและครบถ้วนตามข้อกำหนดของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ

นอกจากนี้ภาควิชาอายุรศาสตร์มีนโยบายในการนำเวชศาสตร์เชิงประจักษ์ (evidence-based medicine) เข้ามาประยุกต์ใช้ในทุกกิจกรรม รวมทั้งให้อิสระแก่แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีในการแสดงความคิดเห็นหรือตั้งคำถามอย่างเสรีในทุกกิจกรรมทางวิชาการ แพทย์ประจำบ้านยังสามารถให้ข้อเสนอแนะกับภาควิชาฯ ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหรือกิจกรรมวิชาการผ่านกระบวนการให้ข้อมูลป้อนกลับ

คณะฯ และภาควิชาฯ สนับสนุนให้แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีเข้าร่วมในกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มความรู้ด้านบูรณาการ ทักษะทางสังคม สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์ประจำบ้านและอาจารย์ รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพตนเอง และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น

ให้แพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 ทุกคนเข้าเรียนรายวิชาของหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก ซึ่งครอบคลุมความรู้เกี่ยวกับระบบสุขภาพและการจัดการบริการสุขภาพ วิทยาระเบียบวิธีวิจัยและชีวสถิติ จัดโดยงานการศึกษาหลังปริญญา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (เริ่มปีการศึกษา 2563 เป็นปีแรก) กิจกรรม “100 วัน ฉันยังอยู่” จัดโดยคณะฯ หลังจากที่แพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 ปฏิบัติงานครบ 100 วันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ประจำบ้านแต่ละภาควิชา กิจกรรม Medicine rally เป็นกิจกรรมที่จัดโดยภาควิชาฯ จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้แพทย์ประจำบ้านทุกคนมีโอกาสเข้าร่วม เป็นกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีและอาจารย์ นอกจากกิจกรรมสันทนาการแล้ว สามารถเพิ่มการจัดกิจกรรมนอกหลักสูตรตามความสนใจของแพทย์ประจำบ้านได้อีกด้วย กิจกรรมเลี้ยงส่งแพทย์ประจำบ้านปีที่ 3 และเลี้ยงต้อนรับแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 กิจกรรมปีใหม่ของภาควิชาฯ ซึ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ แพทย์ประจำบ้าน พยาบาลและเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนในภาควิชาฯ ในกิจกรรมนี้จะมีการคัดเลือก แพทย์ประจำบ้านดีเด่น แพทย์ประจำบ้านขวัญใจนักศึกษาแพทย์ และอาจารย์ที่เป็นขวัญใจแพทย์ประจำบ้านด้วย โดยคะแนนที่ได้มาจากการ vote และคะแนนการประเมินต่างๆ กิจกรรมรดน้ำดำหัว อาจารย์ผู้ใหญ่ในภาควิชาที่เกษียณอายุไปแล้ว ในเทศกาลสงกรานต์ เพื่อแสดงมุทิตาจิต สร้างวัฒนธรรมองค์กรในการให้เกียรติและเคารพอาจารย์อาวุโส และสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศ กีฬาสี จัดโดยคณะฯ เป็นการส่งเสริมการออกกำลังกายและสร้างความสัมพันธ์ของบุคลากรในคณะฯ