ปลาบู่มหิดล (Mahidolia mystacina)

 
 
 


 
         ปลาบู่มหิดล (Mahidolia mystacina) เป็นสัตว์น้ำที่พบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรีเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙โดย ดร.นพ.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ (Dr. Hugh McCormick Smith M.D.,Ph.D.)และได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามพระนามของจอมพลเรือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ในฐานะที่ได้ทรงอุปถัมภ์และพระราชทานทุนสำหรับส่งคนไทยไปศึกษาต่อด้านการประมงยังต่างประเทศและทรงได้รับถวายพระราชสมัญญานามว่า "พระประทีปแห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำของไทย"
 

         หากใช้ตามกฎเกณฑ์ทางอนุกรมวิธารปลาในปัจจุบันนี้ ปลาบู่มหิดลจัดอยู่ในสกุล Mahidoliaซึ่งมีอยู่ในประเทศไทยที่มีลักษณะเด่นๆ และมีเรื่องราวที่น่าสนใจ คือMahidolia mystacina ซึ่งมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
         พันธุ์สัตว์น้ำที่ชื่อ Mahidolia mystacina นี้ ดร.นพ.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ (Dr. Hugh McCormick Smith M.D.,Ph.D.)ได้ตีพิมพ์ในหนังสือ “The fresh-water fishes of Siam, or Thailand” (เดิมใช้ชื่อว่า “A monograph of the freshwater fishes of Siam”)ซึ่งเป็นงานอนุกรมวิธารปลาน้ำจืดของไทย และ Mahidolia mystacina ได้ถูกค้นพบหลายครั้งในประเทศต่างๆ จนปัจจุบันได้มีข้อมูลจาก เอกสารทางวิชาการและทางInternet เป็นจำนวนมากว่ามี Mahidolia mystacina ในเขตน้ำกร่อย ของอ่าวไทย(จากการสำรวจในปัจจุบันนี้ มีปลาบู่มหิดลในแถบอ่าวไทยมากที่สุด) ทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก เขตที่พบปลาบู่มหิดล นอกจากที่ประเทศไทยแล้ว จะพบ ที่ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอินโดนีเซีย และที่อ่าวเดลากัว ฝั่งตะวันออกของทวีป แอฟริกา

 


 

         ปัจจุบันนี้ ปลาบู่สกุล Mahidolia ชนิด Mahidolia mystacinaนี้ได้มีการยอมรับกันทั่วโลก และปรากฏในเอกสารวิชาการเกี่ยวกับอนุกรมวิธานปลาไม่ต่ำกว่า๒๐เรื่อง นอกจากนี้เอกสารเล่มแรก เกี่ยวกับปลาบู่มหิดลของมหาวิทยาลัยมหิดล ปรากฎขึ้นในปีพ.ศ.๒๕๓๑เขียนโดยศาสตราจารย์ นพ.สุด แสงวิเชียร ซึ่งเป็นบทความพิเศษเรื่องปลาบู่มหิดลในสารศิริราชของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่ระบุชื่อปลาบู่มหิดลว่า Mahidolia mystacina

 

         นอกจากนี้เอกสารจากกรมประมง คุณลือชัย ดรุณชู และคุณคำรณ โพธิพิทักษ์ ได้ศึกษาเรื่องปลาบู่ มหิดล โดยใช้ชื่อเรียกปลาบู่มหิดลว่า Mahidolia mystacinaอีกทั้งจากหนังสือ ๑๐๐ปี สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ซึ่งคุณวิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์ เป็นบรรณาธิการ ได้ศึกษาเรื่องปลาบู่มหิดล โดยใช้ชื่อปลาบู่มหิดลว่า Mahidolia mystacina

 
หนังสือชื่อ “The fresh-water fishes of Siam, or Thailand”ของ
ดร. ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ (Dr. Hugh McCormick Smith)ได้ศึกษา
เรื่องปลาบู่มหิดล โดยใช้ชื่อว่า Mahidolia mystacina
 

         ในที่สุด เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ.๑๙๔๑) ดร.นพ.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ (Dr. Hugh McCormick Smith M.D.,Ph.D.)ได้ตีพิมพ์ผลงานอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับปลาบู่มหิดล ใช้ชื่อว่า“The gobies Waitea and Mahidolia” ใน Journal of the Washingtion Academy of Sciences,vol.๓๑(๙):๔๐๙-๔๑๕ figs.๑-๒,September ๑๕, ๑๙๔๑ซึ่งได้ตีพิมพ์เผยแพร่ก่อนหน้าวันถึงแก่กรรมของเขาในวันที่ ๒๘กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ.๑๙๔๑) เพียง ๑๓ วัน เท่านั้น เนื่องจาก ดร.นพ.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ (Dr. Hugh McCormick Smith M.D.,Ph.D.)ได้เปรียบเทียบ ปลาบู่ที่พบกับปลาบู่วงศ์ Gobius พบว่ามีความแตกต่างกัน อีกทั้งยังค่อนข้างห่างออกไปมากเมื่อเทียบกับสกุล Waitea ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๔๗๕ (ค.ศ.๑๙๓๒) จึงได้ให้ชื่อเป็นสกุลใหม่ว่า Mahidoliaตามพระนามของจอมพลเรือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โดย F.P. Koumans ซึ่งได้รับการยอมรับกันว่าเป็นผู้ศึกษาเรื่องปลาบู่มาเป็นเวลานาน และมีความรู้ในเรื่องปลาพวกนี้ดีที่สุดในสมัยนั้น จึงได้คล้อยตามกันว่าเป็นชนิดใหม่ และเสนอชื่อว่า Mahidolia normani ไปพร้อมกับงานให้ชื่อสกุล Mahidoliaของ ดร.นพ.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ (Dr. Hugh McCormick Smith M.D.,Ph.D.)
อย่างไรก็ตามในปีพ.ศ.๒๔๗๘ (ค.ศ.๑๙๓๕) F.P. Koumans ได้รับตัวอย่างและผลงานของ D.S.Jordan and A.Seale ทำให้เกิดความสับสน ในปีเดียวกันนั้นเองได้ตีพิมพ์คล้อยตามผลงานนั้นแล้วแจ้งว่าปลาบู่มหิดลหรือปลาสกุล Mahidoliaเป็นปลาในสกุล Waiteaซึ่งเป็นชื่อเก่ากว่าที่ต้องนำมาใช้ตามกฎเกณฑ์ทางอนุกรมวิธารปลา

 

         นอกจากนี้ ในปีเดียวกันกับที่ดร.นพ.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ (Dr. Hugh McCormick Smith M.D.,Ph.D.)ได้ให้ชื่อเป็นสกุลใหม่ว่า Mahidolia ตามพระนามของจอมพลเรือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ปีพ.ศ.๒๔๗๕ (ค.ศ.๑๙๓๒) ดร.นพ.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ (Dr. Hugh McCormick Smith M.D.,Ph.D.)ได้เดินทางกลับเข้าทำงานในพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาของสถาบัน สมิทโซเนียน กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งที่เกษียณอายุแล้ว ในตำแหน่งพิเศษคือเป็นผู้ช่วยภัณฑารักษ์แผนกปลา กองสัตววิทยา เพื่อเขียนงานอนุกรมวิธารปลาน้ำจืดของไทยที่เขารวบรวมตัวอย่างไว้มากมายคือเรื่อง “A monograph of the freshwater fishes of Siam”) ซึ่งถือกันว่าเป็นงานเด่นที่สุดในชีวิตการทำงานของผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ (แต่ตีพิมพ์ได้เสร็จในปี พ.ศ.๒๔๘๘ (ค.ศ.๑๙๔๕) ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยเริ่มเสนอเปลี่ยนชื่อจากประเทศสยามเป็นประเทศไทย ดร.นพ.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ (Dr. Hugh McCormick Smith M.D.,Ph.D.)จึงได้เปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น “The fresh-water fishes of Siam, or Thailand” ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในระหว่างการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ ๒) นอกจากนี้ดร.นพ.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ (Dr. Hugh McCormick Smith M.D.,Ph.D.)ก็มีงานตีพิมพ์ชิ้นเล็กๆเกี่ยวกับทรัพยากรปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ของประเทศไทย ด้วยความมั่นใจในการเสนอชื่อสกุลMahidolia สำหรับพันธุ์สัตว์น้ำจากแหลมสิงห์ ที่กล่าวมาแล้ว ดร.นพ.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ (Dr. Hugh McCormick Smith M.D.,Ph.D.)จึงได้ทำความค้นคว้าเพื่อเปรียบเทียบในกรอบที่กว้างขึ้น เพื่อแก้ไขความสับสนต่างๆ ที่เกิดขึ้นจาก F.P. Koumans โดยอาศัยตัวอย่างที่เกี่ยวข้องที่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆเช่น ที่นครปารีส ประเทศฝรั่งเศส,เมืองไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ , สถาบันสนิทโซเนียน กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เคยใช้เป็นหลักพิจารณาการกำหนดชื่อนักวิทยาศาสตร์ทุกท่านที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด

 

         และจากฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทยของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่าปัจจุบันปลาบู่มหิดลมีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์ ผู้เขียนจึงได้นำปลาบู่มหิดลมาใช้ขับเคลื่อนในงานวิจัยจากการปฏิบัติจริงเพื่อศึกษาถึงผลกระทบทางด้านสังคม(Social Impact Assessmnt : SIA) ด้วยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนชาวประมงมาประยุกต์ใช้ผสมผสานกับความรู้สมัยใหม่ที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับระบบบอกตำแหน่งบนพื้นผิวโลกน่าจะเป็นเทคโนโลยีทางเลือกที่ดีที่สุดในปัจจุบัน เมื่อผนวกเข้ากับการใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมที่อาศัยการคำนวณจากสัญญาณนาฬิกาที่ส่งมาจากดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลกซึ่งเมื่อทราบตำแหน่งแล้ว ทำให้สามารถบอกตำแหน่งณจุดที่สามารถรับสัญญาณได้ทั่วโลกเพื่อใช้คำนวณความเร็วและทิศทางนำมาใช้ร่วมกับโปรแกรมแผนที่สำหรับใช้ในการนำทางเพื่อค้นหาปลาบู่มหิดลได้(Global Positioning System : GPS)

 

         จากงานวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างองค์ความรู้'ปลาบู่มหิดล'ในพื้นที่แหล่งที่พบปลาบู่มหิดลนอกจากเป้าหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว เจตนารมณ์ที่สำคัญผู้เขียนก็คือการมุ่งเทิดพระเกียรติจอมพลเรือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกเพราะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เนื่องจากพระองค์ให้ความสำคัญด้วยการที่ทรงอุปถัมภ์และพระราชทานทุนสำหรับคนไทยไปศึกษาต่อยังต่างประเทศด้านการประมง(โดยเฉพาะเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ)ทำให้พระองค์ทรงได้รับการถวายพระราชสมญานามว่า“พระประทีปแห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำของไทย”

 

         ปลาบู่มหิดลมีลักษณะเด่น คือ หัวค่อนข้างโต และแบนข้างมาก ปากกว้างจนมีกระดูกขากรรไกรที่ยื่นไปทางข้างเลยขอบหลังตา ฟันมีขนาดเล็ก และมีแถวเดียวที่ขากรรไกรบนแต่มีหลายแถวที่ขากรรไกรล่าง ลำตัวสั้น ไม่มีเกล็ดบนหัว บนฝาเหงือกมีเกล็ดค่อนข้างใหญ่และมีจุดสีน้ำเงิน 2 จุดบนครีบบน เป็นปลาที่มีจุดเด่นและมีลักษณะเฉพาะ

 

ข้อค้นพบ

         การศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้ได้ค้นพบถึงความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันอย่างดียิ่งของนักวิจัยเพื่อชุมชนและประชาชนในพื้นที่ชุมชนชาวประมงบริเวณแหล่งที่พบปลาบู่มหิดล นับเป็นการยกระดับการวิจัยในลักษณะสหวิทยาการสำหรับใช้ในการฟื้นฟูสภาพร่างกาย จิตใจ สังคมและปัญญาของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวด้วยวัฒนธรรมอุดมคติที่มีปลาบู่มหิดลเป็นสิ่งบ่งชี้สุขภาวะของสังคมเพื่อใช้ในการป้องกันและแก้ปัญหาของชุมชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจในมิติของการพึ่งพาตนเองของชุมชน ข้อสนับสนุนผลการศึกษาที่ชัดเจนที่สุดซึ่งเป็นสัญลักษณ์เชิงตรรกะในพื้นที่ชุมชนชาวประมงก็คือ การที่ประเทศไทยมีโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลจากทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนเกิดขึ้นหลายโครงการ อาทิเช่น โครงการก่อสร้างท่อก๊าซโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกโครงการก่อสร้างเขื่อนหินกั้นคลื่นที่มีทั้งทางชายฝั่งทะเลด้านทะเลอันดามันและอ่าวไทย เป็นต้นโครงการเหล่านี้ได้สร้างความสงสัยและกังขาให้กับประชาชนในพื้นที่ชุมชนชาวประมงซึ่งเป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิมเป็นอย่างมากจะเห็นได้จากการรวมตัวของประชาชนในพื้นที่ที่มีโครงการและกลุ่มเครือข่ายได้ออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติโครงการได้ทบทวนชะลอ และยุติโครงการ โดยที่หลายต่อหลายครั้งมักจะมีสถานการณ์ที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงส่วนสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความขัดแย้งมาจากโครงการทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็กนั้น ล้วนแต่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในด้านการร่วมรับรู้ ร่วมคิดร่วมวางแผน และร่วมตัดสินใจเพราะประชาชนในพื้นที่ยังมองไม่เห็นผลประโยชน์ส่วนใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในชุมชนอีกทั้งโครงการเหล่านี้ยังไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ปรากฏผล สถานการณ์ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ กรณีพื้นที่อ่าวคลองสน ชุมชนย่าหมี ตำบลเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงาซึ่งในปัจจุบันนี้อ่าวคลองสนยังคงเป็นแหล่งรวมทรัพยากรที่มีมากมาย ตั้งแต่ภูเขาถึงทะเล มีป่าต้นน้ำอยู่บนภูเขาป่าชายเลนผืนใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพรรณพืชหลากหลายชนิด และแนวโขดหินที่ติดกับชายฝั่งทะเลมีป่าชายหาดที่มีพรรณไม้ต่างๆ อาทิเช่น ต้นจิก ต้นสน ต้นชะครามต้นผักบุ้งทะเล เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการัง ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนจำพวก ลูกปลา ลูกกุ้ง ลูกหอย และลูกปู รับรู้ได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ แต่เมื่อมีโครงการต่างๆเข้ามา ประชาชนในพื้นที่กลับไม่ได้ร่วมรับรู้เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ยิ่งเป็นการสร้างกระแสความขัดแย้งให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการปกป้องทรัพยากรสัตว์น้ำ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพประมง จึงเป็นการตอกย้ำความรู้สึกของประชาชนเกี่ยวกับกระบวนการการทำงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐบางคน โดยประชาชนมีความเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐบางคนมีมุมมองและทัศนคติที่มองประชาชนในพื้นที่ชุมชนชาวประมงว่าไม่มีความสามารถในการเข้าใจถึงรายละเอียดของโครงการได้แทนที่จะเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนแต่เจ้าหน้าที่บางคนกลับเป็นปากเป็นเสียงแทนบริษัทหรือโรงงานในการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อปกป้องบริษัทหรือโรงงานเพื่อให้ประชาชนยินยอมจนเกิดความขัดแย้งขึ้นมา ทำให้ประชาชนในพื้นที่ถูกมองว่าเป็นผู้ที่ขัดขวางความเจริญก่อให้เกิดเหตุสร้างความวุ่นวายให้กับสังคม

 

         นอกจากสถานการณ์เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่อ่าวคลองสนแล้ว ก็ยังมีข่าวคราวปรากฏทางสื่อมวลชนเรื่องประชาชนในพื้นที่ชุมชนชาวประมงร่วมกันคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย - มาเลเซียโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอกและหินกรูด โครงการท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา และโครงการเขื่อนหินกั้นคลื่นอยู่ตลอดเวลา เพราะขณะนี้ปัญหาขยะ อากาศเป็นพิษ และน้ำเสียเป็นเรื่องที่หลายพื้นที่ในชุมชนชาวประมงยังป้องกัน และแก้ไขปัญหาไม่ได้ผลเท่าที่ควร อีกทั้งรัฐบาลยังมีนโยบายที่จะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ให้มีโรงงานอุตสาหกรรม และโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกขึ้นมา โครงการดังกล่าวนี้ทำให้ประชาชนจำเป็นต้องความตื่นตัวในการแสวงหาแนวทางสำหรับนวัตกรรมด้านยุทธศาสตร์ภูมิปัญญาสำหรับการพัฒนาศักยภาพของประชาชนในพื้นที่ชุมชนชาวประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณแหล่งที่พบปลาบู่มหิดล สิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือประชาชนในชุมชนชาวประมงต้องการรวมตัวกันเพื่อการแก้ไขความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ระหว่างนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึก และความเป็นชุมชนชาวประมงที่ส่วนใหญ่หากินตามชายฝั่งทะเล ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

 

         การศึกษาครั้งนี้ยังได้องค์ความรู้ใหม่สำหรับสังคมไทยในเรื่องการประเมินผลกระทบทางสังคม(Social Impact Assessment : SIA)เพื่อลดความขัดแย้งด้วยการนำองค์ความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์(การมีส่วนร่วมของชุมชน)ด้านนิติศาสตร์(กฎหมายท้องถิ่น)ด้านเศรษฐศาสตร์(เศรษฐกิจชุมชน)ด้านสาธารณสุขศาสตร์ (สาธารณสุขชุมชน) ด้านมานุษยวิทยา(ความเชื่อของท้องถิ่น ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม) ด้านการศึกษา(หลักสูตรท้องถิ่น) และด้านการบริหารจัดการ(แผนแม่บทชุมชน)มาใช้ศึกษาสถานการณ์ในชุมชนควบคู่กับการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ(Health Impact Assessment : HIA)เพื่อที่จะได้ทำให้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(Environmental Impact Assessment : EIA)มีความชัดเจนยิ่งขึ้น

 


 

ข้อเสนอแนะ

         จากการขาดความรู้และความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและยั่งยืนในพื้นที่ชุมชนชาวประมง บริเวณแหล่งที่พบปลาบู่มหิดล ทำให้เกิดปัญหาในทุกมิติของการดำเนินชีวิตประกอบด้วย 5 แนวทางที่สำคัญ คือ ทางด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา เนื่องจากทรัพยากรสัตว์น้ำสูญเสียไปเรื่อยๆ สิ่งแวดล้อมถูกทำลายและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อ่อนแอลงจากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ผู้วิจัยเห็นได้ว่าควร จะต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยามาให้ความรู้และ ความเข้าใจก่อให้เกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิดกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความสมดุลของพลังอำนาจ(Balance of Power)ในการยกระดับสติปัญญาของประชาชนในพื้นที่(Consciousness raising) ด้วยการเสนอแนวคิดเพื่อปลุก มโนธรรมสำนึก(Conscientization)โดยคำนึงถึงหลักบวรประกอบด้วยบ้าน(หมู่บ้านหรือชุมชน) วัด(สถานที่ พัฒนาจิตใจ ใฝ่ธรรมะ) และโรงเรียน(สถานศึกษาที่ให้ความรู้)ด้วยการพัฒนารูปแบบในลักษณะชุมชนบำบัด (Community Theraphy) จากทุนทางสังคม(Social Capital)ที่อาศัยทุนมนุษย์(Human Capital)เพื่อออกกฎหมาย หรือระเบียบข้อปฏิบัติด้วยจิตใจสาธารณะให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน โดยมุ่งนำเสนอด้วยภูมิ ปัญญาที่เกิดจากแนวคิดที่มีฐานคิดอยู่ในแนวความเป็นจริงแบบไทยๆ เพื่อให้สอดรับกับการ เปลี่ยนแปลงของสังคม (Social Change) ที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรทางสังคม (Civic Innovator) ในการผลิต ผู้นำที่เข้าใจในการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ซึ่งพร้อมเข้าใจถึงจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักเรียน นักศึกษาให้ตระหนักถึงสภาพที่แท้จริงของประเทศไทยทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ด้วยการคำนึงถึงชุมชนที่ตน อาศัยอยู่เพื่อการสร้างความเข้าใจอันดีถึงความต้องการของชุมชน เพราะในปัจจุบันนี้ได้มีความคิดที่ว่าประชาชน ในยุคปัจจุบันได้นำทรัพยากรในอนาคตมาใช้อย่างฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น จึงต้องมีการสร้างพรมแดนด้านองค์ ความรู้ทางด้านสังคมและการจัดการ(Knowledge of Societyand Management)ในการนำทรัพยากรมาใช้อย่าง ถูกวิธีเปรียบกับทางพุทธศาสนาก็คือการนำวิธีสุจิปุลิมาใช้เพื่อสร้างศักยภาพในการทำความเข้าใจเพื่อระงับ ข้อขัดแย้งและข้อพิพาทที่เกิดขึ้น การพัฒนาจะต้องดำเนินไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดและจะต้องพัฒนาตามกระแส โลกให้ทัน จึงควรคิดถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ และปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนในประเทศมีสติ ร่วมกันในการแก้ไขปัญหาอย่างรู้เท่าทันสังคมโลกโดยการนำความรู้มาใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาในลักษณะ บูรณาการที่สรรค์สร้างจากการประมวลองค์ความรู้แบบสหวิทยาการที่ให้ความสนใจพฤติกรรมของประชาชน ในพื้นที่เป็นสำคัญ เพื่อสร้างหลักในการคิดที่มุ่งถึงการบรรลุความเท่าเทียมกัน(Equity)ของประชาชนในพื้นที่ ในการยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของชุมชนที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พร้อมที่จะสะท้อนถึงข้อมูล ทางวัฒนธรรมและบริบทของเงื่อนไขภายใต้พลวัตรการสะท้อนถึงความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ให้ ตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่สามารถเข้าใจในเพื่อนมนุษย์และเข้าใจตนเองได้ สามารถค้นพบตัวตน ของตนเองได้ในขณะเดียวกันโดยมีการแสวงหาความรู้และความเป็นจริงเพื่อสร้างผลึกความคิดเพื่อสอดรับกับ คุณธรรมแห่งความเป็นมนุษย์ในการสร้างชุมชนให้น่าอยู่มีสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี มีสภาพสังคมที่ เอื้ออาทรต่อกัน มีความสะดวกสบาย ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีระบบเศรษฐกิจที่มั่นคง มีวัฒนธรรมและ จิตวิญาณที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน

 

         การเข้าสู่วัฒนธรรมอุดมคติที่มีปลาบู่มหิดลเป็นสิ่งบ่งชี้สุขภาวะของสังคมจึงเป็นทางเลือกสำหรับสังคมไทยในปัจจุบันนี้ เพราะความรุ่งเรืองของประเทศหนึ่งๆไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(Gross National Product:GNP)เท่านั้น แต่ต้องขึ้นอยู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ด้วย โดยการวัดความสุขมวลรวมประชาชาติ(Gross National Happiness: GNH) ซึ่งแนวคิดนี้ให้ความสำคัญกับความสุขของประชาชนในประเทศมากกว่าความสุขที่เกิดจากความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นแนวคิดที่มีความสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทำให้หลายประเทศตื่นตัวกับประเด็นความสุขของประชาชนในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

 

   เกร็ดความรู้ได้จาก : อาจารย์ ศุภกฤต โสภิกุล