สาขาวิชามะเร็งวิทยานรีเวช

สาขาวิชามะเร็งวิทยานรีเวช (Gynecologic Oncology)

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอาบอรุณ  เลิศขจรสุข

     นับตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๘  ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ได้ถือกำเนิดขึ้นและได้เปิดดำเนินการพร้อมกับการเปิดดำเนินการของคณะฯ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๒ ในขณะนั้นภาควิชาฯมีการทำงานโดยแบ่งออกเป็น ๒ สาย สายสูติฯ และสายนรีเวช โดยอาจารย์จะปรับเปลี่ยนการทำงานระหว่างสองสายทุกๆ ๖ เดือน การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชจะอยู่ในสายนรีเวช โดยมีการจัดให้ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยภายว่าเป็นมะเร็งทางนรีเวชได้รับการตรวจติดตามในรูปแบบผู้ป่วยนอกในวันจันทร์บ่ายตั้งแต่โรงพยาบาลเริ่มเปิดดำเนินการ จึงนับได้ว่า Tumour Clinic ได้ถือกำเนิดมาตั้งแต่แรกเริ่ม ในด้านการผ่าตัด มีศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงวิไล เบญจกาญจน์ (หัวหน้าภาควิชาฯ ท่านแรก) ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงดวงเดือน คงศักดิ์ และศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงเยาวลักษณ์ ภมรประวัติ เป็นผู้ร่วมกันผ่าตัดผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชเป็นหลัก ท่านอาจารย์วิไล เป็นท่านแรกที่ได้เริ่มทำผ่าตัด Wertheim’s operation โดยนำรูปแบบการผ่าตัดมาจาก Prof. Masanao Magara, Nippon Medical School, Tokyo อาจารย์ปราโมทย์ รัตตกุล เป็นท่านแรกที่นำ colposcope และ cryotherapy มาช่วยในการรักษาผู้ป่วยที่มีเซลผิดปกติที่ปากมดลูก

      หลังจากศาสตราจารย์นายแพทย์กำแหง  จาตุรจินดา  หัวหน้าภาควิชาฯ ได้มีดำริให้แยกการทำงานให้เป็นตามสาขาวิชา หน่วยมะเร็งวิทยานรีเวช ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้เริ่มก่อตั้งแต่ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยมีศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์สมเกียรติ  ศรีสุพรรณดิฐ เป็นหัวหน้าหน่วยฯ ซึ่งได้วางรากฐานจัดระบบการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอด การวิจัย การดูแลผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชอย่างเป็นองค์รวมและมีการประชุมวางแผนการดูแบบสหสาขา ตลอดจนการบริการทางวิชาการตราบจนถึงปัจจุบัน

     สาขาวิชามะเร็งวิทยานรีเวชได้เริ่มจัดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดเพื่อสอบวุฒิบัตรมะเร็งวิทยานรีเวชที่รับรองโดยแพทยสภาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยมีแพทย์ประจำบ้านต่อยอดตั้งแต่เริ่มการฝึกอบรมจนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น ๑๖ คน

     ปัจจุบัน สาขาวิชามะเร็งนรีเวชวิทยา มีความร่วมมือทางวิชาการและการดูแลผู้ป่วยร่วมกันกับภาควิชาและหน่วยงานต่างๆในคณะฯอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอและใกล้ชิด อันได้แก่ภาควิชารังสีวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ หน่วยบริการพยาบาลผู้ป่วยที่บ้าน งานพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ฝ่ายการพยาบาล และงานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และปัจจุบันมีความร่วมมือกับศูนย์มะเร็งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (Ramathibodi Comprehensive Cancer Center) ที่ได้เริ่มจัดตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๕๘

     ทางภายนอกคณะฯทางสาขาวิชาฯยังมีส่วนร่วมกับสมาคมมะเร็งนรีเวชไทยตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเป็นชมรมมะเร็งนรีเวชไทยในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยมีอาจารย์ในสาขาวิชาฯได้รับเลือกเป็นนายกสมาคม ๒ ท่าน ได้แก่ รองศาสตราจารย์นายแพทย์วสันต์ ลีนะสมิตเป็นนายกสมาคม ปี พ.ศ. ๒๕๕๑-๒๕๕๒ และศาสตราจารย์แพทย์หญิงสฤกพรรณ วิไลลักษณ์ เป็นนายกสมาคม ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๙ จนถึงปัจจุบัน

โครงสร้างสาขาวิชา
รศ. นต. พญ.ชื่นกมล ชรากร(ร.น.)
หัวหน้าสาขาวิชามะเร็งวิทยานรีเวช
รศ. พญ.อาบอรุณ เลิศขจรสุข
ผศ. นพ.ภุชงค์ ลิขิตธนสมบัติ
ผศ. พญ.สุวิชา จิตติถาวร
ผศ. นพ.กฤษดา ไพรวัฒนานุพันธ์
ผศ. พญ.นวมลล์ เล็กสกุล
ผศ. พญ.ลัคนา พร้อมวัฒนาพันธุ์
ผศ. พญ.ชมพูนุท คงสวัสดิ์วรกุล
ผศ. พญ.ศิกานต์ สถิตนิรามัย
อ. พญ.พนิดา มาทวีโชติกุล
ด้านการเรียนการสอน

สาขาวิชาฯ รับผิดชอบการเรียนการสอนและการฝึกอบรม

๑.  หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต
     ๑.๑  รายวิชานรีเวชวิทยา สำหรับนักศึกษาแพทย์ ปีที่ ๔ ได้จัดให้นักศึกษาแพทย์มีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชและสังเกตการณ์การประชุมโรคมะเร็งแบบสหสาขากลุ่มละ ๑ สัปดาห์ และเรียนในคลินิกโคลโปสโคปี ๑ ครั้ง
     ๑.๒  รายวิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา สำหรับนักศึกษาแพทย์ ปีที่ ๖ ได้จัดให้นักศึกษาแพทย์มีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชกลุ่มละ ๑/๒ สัปดาห์ และเรียนในคลินิกมะเร็งนรีเวช ๑ ครั้ง

๒.  การฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา (แพทย์ประจำบ้าน) ปัจจุบันมีแพทย์ประจำบ้านมาฝึกอบรมที่สาขาวิชาฯชั้นปีละ ๑ เดือน

๓.  การฝึกอบรมต่อยอดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขามะเร็งวิทยานรีเวช (แพทย์ประจำบ้านอนุสาขามะเร็งวิทยานรีเวช) สามารถรับฝึกอบรมได้ปีละ ๒ ราย ใช้เวลาฝึกอบรม ๒ ปี

การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอด

     สาขาวิชามะเร็งวิทยานรีเวชได้เริ่มจัดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดและสอบวุฒิบัตรมะเร็งวิทยานรีเวชที่รับรองโดยแพทยสภาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยมีแพทย์ประจำบ้านต่อยอดตั้งแต่เริ่มการฝึกอบรมจนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น ๑๖ คน
     บัณฑิตที่จบปฏิบัติงานอยู่ในโรงเรียนแพทย์ ๖ ราย สถาบันร่วมผลิตแพทย์ ๕ ราย โรงพยาบาลในส่วนราชการ ๑ ราย และ โรงพยาบาลเอกชน ๔ ราย ปัจจุบัน มีแพทย์ประจำบ้านอนุสาขามะเร็งวิทยานรีเวชอยู่ระหว่างการฝึกอบรม ๕ ราย

คู่มือ

๑.  สมเกียรติ ศรีสุพรรณดิฐ. มะเร็งวิทยานรีเวช รามาธิบดี.  กรุงเทพ:สำนักพิมพ์ อาร์ ดี พี, ๒๕๓๑. ตำราเล่มนี้นับเป็นตำราภาษาไทยด้านมะเร็งนรีเวชเล่มแรกของประเทศ
๒.  วสันต์ ลีนะสมิต และสมเกียรติ ศรีสุพรรณดิฐ. ตำรามะเร็งนรีเวชวิทยา.  กรุงเทพ:โฮลิสติก พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๒.
๓.  สฤกพรรณ วิไลลักษณ์. มะเร็งรังไข่. กรุงเทพ:บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์, ๒๕๔๘.
๔.  คู่มือการรักษาผู้ป่วยมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี. ๒๕๓๘.
๕.  Treatment guideline gynecologic oncology 2007. 

การจัดประชุมวิชาการและการบรรยาย

     คณาจารย์สาขาวิชามะเร็งวิทยานรีเวชได้ร่วมเป็นวิทยากรในการประชุมวิชาการต่างๆของภาควิชาฯ คณะฯ ราชวิทยาลัยสูติ-นรีแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ชมรมคอลโปสโคปีและพยาธิสภาพปากมดลูกแห่งประเทศไทย และ ชมรมผ่าตัดผ่านกล้องมะเร็งนรีเวชไทย รวมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปทางสถานีโทรทัศน์และเว็บ Rama Channel อย่างสม่ำเสมอ

     นอกจากนั้นทางสาขาวิชาได้จัดประชุมวิชาการด้านมะเร็งวิทยานรีเวช ณ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้แก่
     ๑.  “Gyn oncology ’96 and beyond”  วันที่ ๙-๑๑ ตุลาคม ๒๕๓๙
     ๒.  “Radical pelvic surgery. Soft cadaver workshop & live surgery” International Workshop วันที่  ๗-๘ สิงหาคม ๒๕๕๑
     ๓.  “Radical vulvar surgery workshop. Vulvar field resection and anatomical reconstruction” International Workshop วันที่  ๑๐-๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๓
     ๔.  “Fantastic Ramathibodi Endoscopic Surgery in Harmony (FRESH) I” International Workshop วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน – ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔
     ๕.  “Fantastic Ramathibodi Endoscopic Surgery in Harmony (FRESH) II” International Workshop วันที่  ๔-๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

     ในการจัดประชุมแต่ละครั้งได้มีการเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศที่มีชื่อเสียง เช่น Prof. Jonathan S Berek (US), Prof. Denis Querleu (France), Prof. William J Hoskins (US), Prof. Ignace Vergote (Belgium), Prof. Michael Hockel (Germany), Prof. Hextan S Ngan (Hong Kong), Prof. Seung Jo Kim (Korea)

การจัดประชุมวิชาการและการบรรยาย

จนถึงปัจจุบัน อาจารย์ในสาขาวิชาฯ มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติและนานาชาติที่สามารถหาได้จากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสิ้น ๘๗ เรื่อง

งานบริการ

สาขาวิชาฯ ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งนรีเวช ดังต่อไปนี้

๑.  ผู้ป่วยนอก
     ๑.๑  คลินิกมะเร็งนรีเวช ให้บริการผู้ป่วยเฉลี่ยในรอบ ๓ ปีหลัง เป็นผู้ป่วยใหม่ ๑๗๒ ราย/ปี ผู้ป่วยเก่า ๓,๖๕๓ ราย/ปี
     ๑.๒  คลินิกคอลโปสโคปี ผู้ป่วยใหม่ ๔๑๔ ราย/ปี ผู้ป่วยเก่า ๑,๖๓๑ ราย/ปี มีการส่องคอลโปสโคปในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ทั้งสิ้น ๕๒๕ ราย/ปี มีการตัดปากมดลูกด้วยห่วงลวดไฟฟ้า (large loop excision of transformation zone, LLETZ) ๑๑๖ ราย/ปี มีโครงการ see & treat เป็นการให้บริการส่องกล้องตรวจปากมดลูกด้วยกล้องคอลโปสโคปตามด้วยการให้การรักษาภายในการรับบริการเดียวกัน

๒.  ผู้ป่วยใน ให้บริการผู้ป่วยเฉลี่ยในรอบ ๓ ปีหลัง ๑,๐๕๙ ราย/ปี มีการพัฒนาห้องดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในระยะสุดท้ายซึ่งได้รับความพึงพออย่างยิ่งจากญาติผู้ป่วย และได้รับรางวัลการจัดระบบสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ในเวที HA  National Forum เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔

๓.  การผ่าตัด ให้การผ่าตัดผู้ป่วยเฉลี่ยในรอบ ๓ ปีหลัง ๒๓๔ ราย/ปี มีการผ่าตัด radical hysterectomy เฉลี่ยในรอบ ๓ ปีหลัง ๑๘ ราย/ปี มีการผ่าตัด surgical staging ๑๓๗ ราย/ปี ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา ทางสาขาวิชาได้พัฒนาการผ่าตัดทางมะเร็งผ่านกล้องเพิ่มมากขึ้น โดยมีการทำ laparoscopic surgical staging เฉลี่ย ๙-๑๐ ราย/ปี laparoscopic radical hysterectomy ประมาณปีละ ๑ ราย และเริ่มทำ robotic surgical staging ในปี  พ.ศ. ๒๕๕๙

๔.  การให้ยาเคมีบำบัด ได้เริ่มมีการให้ยาเคมีบำบัดแบบ short stay service แบบเช้าไปเย็นกลับ ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๔๖ ปัจจุบันสาขาวิชาฯมีการให้ยาเคมีบำบัด ๒,๐๔๐ ครั้ง/ปี เป็น admit ๕๘๓ ครั้ง/ปี และ short stay service ๑,๔๕๗ ครั้ง/ปี

งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

     ทางสาขาวิชาฯ ร่วมกับภาควิชาฯได้จัดและร่วมกับคณะฯ จัดกิจกรรมต่างๆ เช่นพิธีไหว้ครู การรดน้ำขอพรผู้อาวุโส และทำบุญตักบาตรในวาระขึ้นปีใหม่ทุกปีอย่างสม่ำเสมอ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

     ในอนาคต ทางสาขาวิชามะเร็งวิทยานรีเวช รามาธิบดี มุ่งพัฒนาทั้งการเรียนการสอนและการบริการ เน้นการผ่าตัดผ่านกล้อง เสริมการวิจัยทางระบาดวิทยาโดยใช้ข้อมูลจาก cancer registry และวิทยาศาสตร์พื้นฐานจาก tumor biobank ของคณะฯ ในขณะที่ยังส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมแบบสหสาขาสืบไป

*update 09/07/2566

 
เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมสูติกรรมพิเศษ อาคาร 1 ชั้น 4
 
ซึ่งจัดโดยสาขาวิชามะเร็งวิทยานรีเวช เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม 2567 เวลา 12.30 น. ณ ห้องประชุมภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวช...
 
เมื่อวันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา อาคาร 1 ชั้น 4
 
 ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2567 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณวนิดา เลขานุการสาขาวิชาฯ โทร 0-2201-1451
 
ในวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ National University of Singap...