อนุสาขากุมารเวชศาสตร์โภชนาการ

 

 

การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอด
อนุสาขากุมารเวชศาสตร์โภชนาการ

Fellowship Training in Pediatric Nutrition

 

           การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดอนุสาขากุมารเวชศาสตร์โภชนาการ เป็นหลักสูตรการฝึกอบรมระยะเวลา 2 ปี ผู้เข้ารับการฝึกอมรมจะได้ฝึกฝนและเพิ่มพูนประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วย ตั้งแต่ขั้นตอนการวินิจฉัย การซักประวัติการได้รับอาหาร การประเมินภาวะโภชนาการ ตลอดจนการให้โภชนบำบัดในผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาด้านโภชนาการ ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยที่มีภาวะทุพโภชนาการและภาวะขาดสารอาหาร ผู้ป่วยโรคลำไส้สั้น ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคตับ โรคไต โรคปอด เป็นต้น ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤต ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติด้านเมตาบอลิสม และผู้ป่วยที่ได้รับอาหารด้วยวิธีพิเศษ เช่น การได้รับอาหารทางหลอดเลือดดำ และการได้รับอาหารทางสายให้อาหาร เป็นต้น โดยจะมีการฝึกประสบการณ์เกี่ยวกับการคำนวณสูตรอาหารที่ให้ทางลำไส้ และทางหลอดเลือดดำ สำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะต่างๆ การให้คำแนะนำด้านโภชนาการด้วยวิธีต่างๆ รวมทั้งการดำเนินโครงการวิจัยที่เกี่ยวกับโภชนาการในเด็กในช่วงที่ฝึกอบรม

 

1.    ผู้สมัครเข้าฝึกอบรม
ผู้สมัครเข้าฝึกอบรมจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้ว และจะต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1)    เป็นผู้ได้รับหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวช-กรรม สาขากุมารเวชศาสตร์แล้ว
2)    เป็นผู้ที่กำลังฝึกอบรมปีสุดท้ายในหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขากุมารเวชศาสตร์
2.    ผู้เข้าฝึกอบรม
1)    เป็นผู้ได้รับหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขากุมารเวชศาสตร์แล้ว
2)    เป็นสมาชิกราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

 

แจ้งความจำนงได้ที่สำนักงานสาขาวิชาโภชนวิทยา โทรศัพท์หมายเลข 02-201-1776 หรือสำนักงานภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โทรศัพท์หมายเลข 02-201-1498
1.    สมัครonline ที่ URL ต่อไปนี้    
http://med.mahidol.ac.th/graded/raf/account/log_in
2.    เมื่อสาขาวิชาฯ ได้รับเอกสารการสมัครแล้ว จะทำการตรวจสอบ และพิจารณาเบื้องต้นโดยอาจารย์ประจำสาขาวิชาฯ
3.    ผู้สมัครที่ผ่านการพิจารณาขั้นต้น จะได้รับเชิญมารับการสัมภาษณ์กับอาจารย์ประจำสาขาวิชาฯและคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้านต่อยอด              ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
4.    คณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้านต่อยอดจะตัดสินรับผู้สมัครโดยใช้ผลการสัมภาษณ์ประกอบกับข้อมูลที่ได้จากเอกสารการสมัคร

 

           การฝึกอบรมจะประกอบด้วยการรับปรึกษาผู้ป่วยทั้งผู้ป่วยใน และผู้ป่วยนอก โดยจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านโภชนาการ และผู้ป่วยที่มีปัญหาโภชนาการจากภาวะหรือโรคประจำตัวเรื้อรัง รวมทั้งการให้โภชนบำบัดในผู้ป่วยที่มีภาวะต่างๆ เช่น ผู้ป่วยที่อยู่ในหอบำบัดวิกฤต ผู้ป่วยทารกแรกเกิดที่มีปัญหา เป็นต้นโดยเน้นการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม (holistic approach)การตรวจผู้ป่วยนอก ที่คลินิกโภชนาการ ผู้รับการฝึกอบรมจะได้เรียนรู้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโภชนาการทั่วไป และผู้ป่วยที่ได้รับการให้อาหารทางสายให้อาหารหรือทางหลอดเลือดดำที่บ้าน ผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคพันธุกรรมเมตาบอลิสม การรับปรึกษาและการทำงานร่วมกับแพทย์ประจำบ้านและนักศึกษาแพทย์ ซึ่งจะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมฝึกทักษะการถ่ายทอดความรู้ด้วย
          ในด้านวิชาการ ผู้เข้ารับการฝึกอบรม จะได้เข้าร่วมกิจกรรมวิชาการของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ในเวลา 8.00-9.00 น. ทุกวันทำการ และช่วงเวลาอื่นที่มีหัวข้อที่เกี่ยวข้องกุมารเวชศาสตร์และโภชนาการ รวมถึงเรื่องสถิติ การทำวิจัย และการฝึกพูดภาษาอังกฤษ
          หลักสูตรฝึกอบรมนี้ กำหนดให้ผู้เข้าฝึกอบรมเข้าร่วมกิจกรรมวิชาการด้านโภชนาการทั้งในและนอกสถาบัน นอกเหนือจากการดูแลผู้ป่วยที่คลินิกโภชนาการ และการดูแลผู้ป่วยใน โดยจะมีกิจกรรมวิชาการภายในของสาขาวิชาฯ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง และผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้เข้าร่วมกิจกรรม Interhospital pediatric nutrition conference ซึ่งจัดโดยชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย ปีละ 3 ครั้ง  นอกจากนี้ สาขาวิชาฯ สนับสนุนให้ผู้เข้าฝึกอบรมมีโอกาสเข้าร่วมประชุมวิชาการด้านโภชนาการทั้งระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงการฝึกงานในต่างประเทศตามความเหมาะสม
    บทบาทของผู้เข้าฝึกอบรม
    แพทย์ประจำบ้านต่อยอดปีที่ 1 จะร่วมรับปรึกษาผู้ป่วยทั้งจากแผนกผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยในกับแพทย์ประจำบ้านต่อยอดชั้นปีที่ 2 ภายใต้การกำกับดูแลจากอาจารย์ประจำสาขาวิชาที่หมุนเวียนมารับปรึกษาในช่วงเวลานั้น โดยจะหมุนเวียนดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วยต่างๆ และมีช่วงเวลาให้สำหรับวิชาเลือก 2 เดือน มีช่วงเวลาสำหรับการคิดโครงร่างวิจัยและดำเนินงานวิจัยตั้งแต่ปี 1
    ส่วนแพทย์ประจำบ้านต่อยอดปีที่ 2 จะร่วมรับปรึกษาปัญหาผู้ป่วยกับทีมรับปรึกษา โดยแพทย์ประจำบ้านต่อยอดปีที่ 2 มีบทบาทหน้าที่กำกับดูแลการรับปรึกษาของแพทย์ประจำบ้านต่อยอดปีที่ 1  ในปีที่ 2 จะเน้นเรื่องการดำเนินงานวิจัยให้สำเร็จโดยสาขาวิชาฯ จะจัดสรรให้มีเวลา 1 เดือนสำหรับการบริหารจัดการงานวิจัยและการเขียนผลงานเพื่อตีพิมพ์และเพื่อสอบ  ผู้เข้าฝึกอบรมจะมีช่วงเวลาสำหรับวิชาเลือก 2 เดือน ซึ่งสามารถเลือกเรียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
    นอกจากกิจกรรมด้านวิชาการแล้ว สาขาวิชาฯ สนับสนุนให้ผู้เข้าฝึกอบรมมีโอกาสร่วมกิจกรรมส่งเสริม ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และงานสังสรรค์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์ประจำบ้านต่อยอดด้วยกัน ระหว่างแพทย์ประจำบ้านต่อยอดกับแพทย์ประจำบ้าน และกับอาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์