ภาวะเป็นพิษจากพืช

 

    ภาวะเป็นพิษจากพืช

 

              ภาวะเป็นพิษจากพืช พืชพิษ คือพืชที่ประกอบด้วยสารพิษ หรือผลิตสารพิษในปริมาณที่มากพอที่จะก่อให้เกิด อันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ได้ อันตรายที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงต่างกัน อาจถึงขั้นเกิดโรค, พิการ หรือเสียชีวิต พืชบางชนิดเกิดพิษเพียงระยะเวลาสั้น ถ้าได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง ร่างกายก็จะกลับคืนสู่สภาพปกติได้
มนุษย์ได้เรียนรู้ความเป็นพิษของพืช และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตั้งแต่โบราณ เช่น นำยางน่องมาอาบลูกศรไว้ใช้ยิงศัตรู หรือสัตว์เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต นำพืชหลายชนิดมาใช้เบื่อปลา เป็นต้น
อันตรายที่ได้รับจากพืชพิษ มักเกิดแก่เด็กเล็ก ส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทาน ในผู้ใหญ่มักเกิดจากการเข้าใจผิด พืชพิษบางชนิดมีลักษณะคล้ายกับพืชที่ใช้เป็นอาหารหรือ ยา นอกจากนี้การเป็นพิษอาจเกิดขึ้นจากการดื่มนม หรือรับประทานเนื้อสัตว์ที่กินพืชพิษเข้าไป และพิษถ่ายทอดมาถึงผู้บริโภคเช่น สัตว์กินกากเมล็ดพืชที่ประกอบด้วยสาร anthraquinone ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบายสารนี้จะออกมาในน้ำนมของสัตว์ มีรายงานการเกิดพิษในคนที่รับประทานน้ำผึ้งจากตัวผึ้งที่ไปดูดน้ำหวานจากดอกยี่โถ หรือรับประทานเนื้อย่างที่ใช้กิ่งยี่โถเสียบ เกิดการเป็นพิษจนถึงแก่ชีวิตได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังอาจมีอาการเกิดขึ้นจากการสัมผัสทำให้เกิดอาการระคายเคือง เป็นผื่นแดง หรือผิวหนังอักเสบได้ รวมทั้งการสูดดม หรือเสพพืชบางชนิด เช่น ฝิ่น, กัญชา ทำให้เกิดอาการเป็นพิษได้เช่นกัน

การเป็นพิษของพืช 
อาจเนื่องจากสารพิษเพียงชนิดเดียว หรือหลายชนิดได้ สารเหล่านี้มีลักษณะและแหล่งที่มาต่างๆ กัน พืชที่เป็นพิษมักมีสารพิษประเภทต่างๆ ดังนี้

  1. Vegetable bases ประกอบด้วย amines, purines และ alkaloids
    1.1 Amines พบได้ทั้งจากจุลินทรีย์, ในเห็ดบางชนิด รวมทั้งพืชชั้นสูงบางอย่าง แต่ amines ที่พบในจุลินทรีย์จะไม่พบพืชชั้นสูง สารนี้ทำให้พืชบางชนิดมีกลิ่นเหม็น สารนี้อาจเป็นพิษจากตัวสารเอง หรือมีปฏิกิริยาต่อโปรตีนที่มีอยู่ในอาหาร ทำให้เกิดการเป็นพิษขึ้น
    1.2 Purines หรือ methylxanthines เป็นสารประกอบไนโตรเจนที่เป็นสารสำคัญของพืชเมืองร้อน เช่น ใบชา, กาแฟ, โกโก้, โคล่า เป็นต้น สารที่สำคัญ และมีฤทธิ์ต่อร่างกายได้แก่ caffeine, theobromine, theophylline ฯลฯ
    1.3 Alkaloids เป็นสารจากพืชที่มีความสำคัญ ที่สุด มักพบรวมอยู่กับกรดอินทรีย์หลายชนิด สารนี้พบในพืชชั้นสูงเป็นส่วนใหญ่ พบในพืชใบเลี้ยงคู่มากกว่าพืชใบเลี้ยงเดี่ยว พบน้อยมากในพืชที่ไม่มีดอกเช่น เฟิร์น และเห็ดรา สามารถออกฤทธิ์ต่อระบบต่างๆ ทางสรีรวิทยา ทำให้เกิดอาการพิษ alkaloids ที่เป็นพิษมาก ได้แก่ morphine จากยางของผลฝิ่น, emetine จากราก ipecac, strychnine จากเมล็ด แสลงใจและ curarine จาก curare เป็นต้น
  2. Glycosides สารนี้มีส่วนประกอบของน้ำตาล บางชนิดไม่เป็นพิษ, บางชนิดเป็นพิษโดยตัวของมันเอง เช่น digitoxin พบใน digitalis, cerbexin พบในพืช พวกตีนเป็ดน้ำ, thevetin พบในรำเพย, antiarin พบในยางน่อง เป็นต้น
    Glycosides บางชนิดเป็นพิษเมื่อถูกสลายตัวเช่น cyanogenic glycosides ซึ่งพบในหัวมันสำปะหลังดิบ สลายตัวให้ hydrocyanic acid, หรือ sinigrin glycoside ซึ่งพบในเมล็ดมัสตาร์ดดำ สลายตัวให้ isothiocyanotes ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง เป็นต้น
  3. Saponins เป็นสารที่พบมากในพืช พบในพืชประมาณ 400 ชนิดใน 50 วงศ์ เช่น สกุลของพวกประคำดีควาย, สะบ้ามอญ และจิก เป็นต้น สารประเภทนี้เมื่อเขย่า กับน้ำจะเกิดฟอง มีรสขม และกลิ่นฉุน ถ้าเป็นผงแห้งสารนี้จะระคายเคืองเยื่อบุจมูก สารนี้เป็นพิษมากต่อสัตว์เลือดเย็น ขนาดที่เจือจางมากเช่น 1:200,000 สามารถฆ่าปลา ได้ ในสัตว์เลือดอุ่นถ้ากินสารนี้จะระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร ทำให้น้ำลายออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง ถ้าสารนี้ถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกายจะทำให้มีอาการ ปวดศีรษะ กระหายน้ำ มีไข้ หน้าซีด ม่านตาขยาย ถ้าสารนี้เข้าไปในกระแสโลหิตจะทำให้เม็ดโลหิตแดงแตก ถ้าได้รับพิษมากจะทำให้กล้ามเนื้อเปลี้ย การไหลเวียนโลหิตผิดปกติ และมีอาการชักได้
  4. Toxalbumins พบมากในพืชวงศ์ Leguminosae และวงศ์ Euphorbiaceae เช่น สกุลพวกสลอดเปล่า, ละหุ่ง, สบู่แดงและสบู่ดำเป็นต้น สารนี้เป็นสารประกอบโปรตีน ประกอบด้วยกรดอะมิโนหลายหน่วยมารวมตัวกัน ตัวอย่างของสารประเภทนี้ได้แก่ abrin จากเมล็ดมะกล่ำตาหนู, croton จากเมล็ดสลอด, ricin จากเมล็ดละหุ่ง และ curcin จากเมล็ดสบู่ดำ สารนี้จะถูกดูดซึมช้าๆ จากทางเดินอาหารทำให้เกิดการอักเสบ ของกระเพาะอาหารและลำไส้ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องร่วงอย่างแรง นอกจากนี้ยังเป็นพิษต่อเลือดทำให้เม็ดเลือดแดงรวมตัวจับกลุ่ม และตกตะกอน สัตว์สามารถ สร้างภูมิต้านทานต่อสารนี้ได้ ถ้าให้ในขนาดน้อยๆ หลายๆครั้ง
  5. น้ำมันระเหยยาก (fixed oils) สารนี้ประกอบด้วย glycerol และ fatty acid หลายชนิด ซึ่งมี sterols หรือสารอื่นๆ รวมอยู่ด้วย ส่วนใหญ่มักมี คุณสมบัติเป็นยาระบาย บางชนิดมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง เช่น น้ำมันสลอด น้ำมันสบู่ดำ, น้ำมันละหุ่ง เป็นต้น นอกจากนี้ในน้ำมันบางอย่างเช่น น้ำมันสลอด ยังมีสารอื่นเช่น resin ละลายอยู่ เมื่อถูกผิวหนังจะทำให้เกิดความระคายเคือง และเป็นหนองได้
  6. น้ำมันระเหยง่าย (essential oils หรือ volatile oils) เป็นสารที่ทำให้พืชมีกลิ่น เช่น การบูร, ผักชีฝรั่ง ฯลฯ ระเหยได้ในอุณหภูมิปกติ มีส่วนผสมของสารอินทรีย์หลายชนิด เช่น alcohol, aldehyde, ketone เป็นต้น อนุพันธ์ของสารเหล่านี้อาจเป็น ester ของ alcohol ชนิดต่างๆ และสารประกอบ sulfur ทำให้สารนี้มีคุณสมบัติไล่และฆ่าแมลง มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อเยื่อเมือกขนาดมากทำให้อาเจียน และท้องร่วง ในสตรีทำให้เกิดความระคายเคืองอักเสบ และมีเลือดคั่งที่อวัยวะสืบพันธุ์ ทำให้ตกเลือด และแท้งบุตรได้ น้ำมันระเหยง่ายแต่ละชนิดมีฤทธิ์แตกต่างกันออกไป บางชนิดเช่น พืชพวกโกฎจุฬาลำพา, จันทน์เทศ ฯลฯ มีฤทธิ์โดยตรงต่อระบบประสาทส่วนกลาง ส่วนมากจะกระตุ้นในตอนแรก ทำให้เกิดอาการตื่นเต้น จนถึงชักได้ และมีฤทธิ์กดในตอนหลัง
  7. เรซิน (resins) มีส่วนประกอบหลักคือ resin ester complex acids และสารที่ยังไม่ทราบว่าเป็นสารประกอบใด เรียกว่า resenes เรซินบางชนิด เช่น ยางจากต้นมะม่วงหิมพานต์ ยางจากพืชจำพวกสลัดได มีสาร phenolic ทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างมาก เข้าตาทำให้ตาบอด บางชนิดมีสารรสขมซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง และบางชนิดก็มีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าแมลง เช่น พวกหางไหล, พวกครามป่า, พวกรัก ดอก, กัญชา เป็นต้น
  8. กรดอินทรีย์ ที่เป็นพิษได้แก่ oxalic acid และ formic acid, oxalic acid พบในพืชหลายชนิดในรูปของ calcium oxalate, sodium oxalate และ potassium oxalate ผลึก calcium oxalate ซึ่งเป็นรูปเข็มไม่ละลายน้ำพบใน บอน, ว่านหมื่นปี ฯลฯ ทำให้เกิดความระคายต่อเยื่อเมือกในปากและลำคอ ทำให้มีความ รู้สึกเจ็บปวดในบริเวณนั้น บางครั้งทำให้กลืนไม่ลงแม้แต่น้ำลาย ส่วน oxalate ชนิด อื่นในพืชมักมีปริมาณน้อยเกินกว่าที่จะทำให้เกิดการเป็นพิษได้ แต่ถ้าได้รับเข้าไปมาก oxalate จะทำปฏิกิริยากับ ionizable calcium เกิดเป็น calcium oxalate ทำให้ปริมาณ ionized calcium ลดลงเกิดอาการ hypocalcemia และมี calcium oxalate ตกตะกอนที่กรวยไต
  9. Photodynamic substances สารนี้โดยตัวเองนั้นไม่มีพิษ แต่จะเกิดพิษเมื่อ คนหรือสัตว์นั้นถูกแสงสว่าง ทำให้มีความไวต่อการรับแสงมากเป็นพิเศษ มักเกิดแก่สัตว์ที่มี สีขาว ไม่มี pigment ทำให้เกิดการแพ้แสงอย่างรุนแรง พืชที่มีสารเหล่านี้เช่น โคกกระสุน เป็นต้น
  10. Selenium และ fluorine พืชบางชนิดสามารถดูด selenium จากดิน ทำให้เกิดการเป็นพิษได้ สัตว์ที่กินข้าวสาลีที่ปลูกในดินที่มีธาตุ selenium สูง จะเกิดโรค alkali disease หรือ blind staggers ได้
การดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากพืชพิษ 
การดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากพืชพิษ ก็เช่นเดียวกับการได้รับพิษทั่วไป คือ ประกอบด้วย การรักษาตามอาการและประคับประคองให้ผู้ป่วยพ้นขีดอันตราย การสกัดไม่ให้พิษเข้าสู่ระบบและเร่งขับพิษออกจากร่างกาย และการให้ยาต้านพิษรวมทั้งการ รักษาจำเพาะบางอย่าง
การรักษาประคับประคองผู้ป่วยให้พ้นขีดอันตราย นับเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของการรักษา พึงระลึกไว้เสมอว่าอาการพิษจากพืชพิษ มักจะสลับซับซ้อนและมักเป็นหลายๆระบบ อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญก็คือ การดูแลทางเดินหายใจ การหายใจ การไหลเวียนโลหิต การควบคุมการชัก การรักษาอุณหภูมิร่างกาย และการรักษาประคับประคองอื่นๆ จะทำให้ผู้ป่วยพ้นขีดอันตราย และลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
การสกัดไม่ให้พิษเข้าสู่ระบบของร่างกาย ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับพิษโดยการรับประทาน การทำให้ผู้ป่วยอาเจียน เป็นวิธีการที่ดีที่สุด ยกเว้นพืชที่มีผลึก calcium oxalate ห้ามทำให้อาเจียน การล้างท้องโดยใช้ท่อมักไม่สามารถขจัดเศษใบไม้, ก้าน, เมล็ด หรือส่วนของพืชที่มีพิษออกได้ แม้ว่าจะใช้ท่อขนาดใหญ่ๆก็ตาม การทำให้ผู้ป่วยอาเจียนอาจมีปัญหาในผู้ป่วยที่รับประทานใบ และก้านจำนวนมากๆ คืออาจออกมาอุดบริเวณกล่องเสียงได้
 
ในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามในการทำให้อาเจียนเช่น ผู้ป่วยหมดสติ การขจัดเศษพืชออกจาก กระเพาะอาหารเป็นปัญหามาก บางครั้งไม่สามารถล้างออกได้ ผู้ป่วยทุกรายควรได้รับผงถ่านและยาระบาย ถ้าไม่มีข้อห้าม อย่างไรก็ตามยังไม่การศึกษาที่เพียงพอที่จะแสดงถึงประสิทธิภาพของการให้ผงถ่านซ้ำๆ ในผู้ป่วยที่ได้รับพิษจาก พืชพิษ เนื่องจากพืชพิษส่วนใหญ่มักประกอบด้วยสารต่างๆ มากมายหลายชนิด ทั้งสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ การพยายามเร่งขับสารพิษโดยการเร่งขับปัสสาวะจึงไม่ค่อยให้ประโยชน์มากนัก รวมทั้งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยด้วย
 
ปัญหาสำคัญในผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากพืชพิษ คือ ไม่สามารถบอกได้ว่าพืชนั้นเป็นต้นอะไร การเรียกชื่อต้นไม้ชนิดเดียวกันจะต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น และบางครั้งพืชชนิดเดียวกัน แต่ขึ้นในที่ต่างกันอาจมีพิษไม่เหมือนกัน รวมทั้งแต่ละส่วนของพืชบางชนิดอาจมีพิษต่างกัน เช่น น้ำมันละหุ่ง และ ricin ในเมล็ดละหุ่งเป็นต้น การใช้ชื่อต้นไม้ในบทนี้ได้ใช้ชื่อภาษาไทยตามหนังสือพืชรับประทานได้และพืชมีพิษในป่าเมืองไทย ของสมาคมวิทยาศาสตร์ แห่งประเทศไทย ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้ว่าเป็นต้นเดียวกันหรือไม่โดยดูจากชื่อทางวิทยาศาสตร์
 
การใช้ยาต้านพิษ อาการพิษจากพืชส่วนใหญ่มักไม่มียาต้านพิษที่จำเพาะ แต่การใช้ยา ที่มีฤทธิ์ต่อต้าน หรือตรงข้ามลักษณะทางพยาธิสรีรวิทยา อาจจะช่วยในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องแน่ใจว่าอาการเป็นเป็นไปในทางใด และเกิดขึ้นจากพืชชนิดใด มิฉะนั้นการให้การรักษานั้นอาจเป็นอันตรายได้
 
การรักษาอาการพิษต่อระบบต่างๆ 
ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อาการพิษจากพืชพิษมักเป็นหลายระบบ การจัดแบ่งกลุ่มพืชพิษในบทนี้จัดแบ่งตามอาการตามระบบที่เด่นหรืออาจเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยถึงแก่กรรมคือ
  1. พิษต่อระบบทางเดินอาหาร
  2. พิษต่อหัวใจและหลอดเลือด
  3. พิษต่อระบบประสาท
  4. พิษต่อไตและระบบปัสสาวะ
  5. พิษต่อโลหิต
  6. พิษต่อผิวหนัง

 

1. พิษต่อระบบทางเดินอาหาร

อาการพิษในระบบทางเดินอาหารมักเป็นอาการของการได้รับพิษ จากการรับประทานพืชพิษทุกชนิด เป็นอาการที่แสดงว่าผู้ป่วยได้รับพิษเข้าไปในร่างกาย ก่อนที่อาการ ทางระบบอื่นจะแสดงออกมา อาการทางระบบทางเดินอาหารอาจเป็นไปได้ตั้งแต่การ ระคายเคืองต่อเยื่อบุปาก และลำคอ การอักเสบของกระเพาะอาหารและลำไส้ ตลอดจนถึงอาการพิษต่อตับ
  1. การระคายเคืองต่อเยื่อบุปากและลำคอ พืชที่ทำให้เกิดอาการในกลุ่มนี้ มักเป็นพืชที่มีผลึกของกรด oxalic ซึ่งระคายเคืองต่อเยื่อบุและเยื่อเมือกต่างๆ รวมทั้งอาจมีเอ็นไซม์บางชนิดทำให้เกิดอาการระคายเคืองรุนแรงมากขึ้น ทำให้เยื่อบุปากและ ลำคอบวม ซึ่งอาจมากจนกระทั่งกลืนไม่ได้, พูดไม่ออก และหายใจไม่สะดวกได้ ในผู้ป่วย เหล่านี้ควรให้นมเย็น หรือไอศครีมเพื่อลดอาการระคายเคืองเฉพาะที่ และเฝ้าระวังการ อุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ควรทำให้อาเจียน เพราะจะทำให้สารพิษสัมผัสกับเยื่อบุปากและคออีกครั้ง อาจให้ antihistamine และ corticosteroid เพื่อลดอาการ บวม และถ้าจำเป็นอาจต้องให้ยาแก้ปวด เช่น morphine หรืออนุพันธ์เพื่อลดอาการปวด ด้วย พืชที่ทำให้เกิดอาการในกลุ่มนี้ได้แก่ บอน, ว่านหมื่นปี, เพชรสังฆาต, เผือก, กระดาด, พลูฉีก เป็นต้น
  2. การระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เฉียบพลัน พืชที่ทำ ให้มีอาการเช่นนี้มักมีสารต่างๆเช่น lycorine เป็น alkaloid พบในเหง้าพลับพลึง, saponin group, resin, taxine group, protoanemonin group และอื่นๆ อาการต่างๆ จะเกิดขึ้นภายหลังที่รับประทานพืชพิษเข้าไปประมาณ 1 ชั่วโมง ทำให้เกิดอาการปวดท้อง, คลื่นไส้, อาเจียน และท้องร่วง ติดต่อกันเป็นเวลานาน บางครั้ง อาเจียนมีเลือดและน้ำดีปนออกมา การรักษาอาการในกลุ่มนี้ ได้แก่ การให้สารน้ำและเกลือแร่เข้าทางหลอดเลือดดำ รวมทั้งให้ยาลดอาการเกร็งตัวของลำไส้
  3. อาการอักเสบของทางเดินอาหาร สารที่ทำให้เกิดอาการในกลุ่มนี้ได้แก่ สารกลุ่ม toxalbumin เช่นในเมล็ดละหุ่ง alkaloid กลุ่ม solanine เช่นในหญ้า ต๋มต๊อก, มันฝรั่งที่กำลังงอก colchicine เช่นในเหง้าดองดึงส์ และกลุ่ม oxalate เช่นในใบส้มกบ อาการในกลุ่มนี้เกิดขึ้นอย่างช้าๆ อาจใช้เวลาถึง 1-2 วัน จึงปรากฏอาการเริ่มต้นด้วยรู้สึกปวดแสบปวดร้อนที่ปากและลำคอ มีเลือดออกที่เยื่อหุ้มกระเพาะ อาหาร ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องร่วงอย่างแรง การรักษาอาการในกลุ่มนี้ ได้แก่การทดแทนสารน้ำ และเกลือแร่เข้าทางหลอดเลือดดำ, การให้ยา ลดอาการเกร็งตัวของลำไส้ แต่ต้องระลึกไว้เสมอว่าอาการในระบบทางเดินอาหารที่เกิด ขึ้นจากสารจากพืชในกลุ่มนี้ เป็นเพียงอาการเริ่มต้นเท่านั้น เพราะสารเหล่านี้มักเป็นพิษต่อ ระบบเลือด, ตับ และไต ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้อันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  4. พิษต่อตับ สาร alkaloid ในกลุ่ม pyrrolizidine เช่นที่พบใน ต้นหิ่งหาย ทำให้เกิด venoocclusive disease เป็นพิษต่อตับ และทำให้เซลล์ที่เกิดใหม่มีรูปผิดไปจากเดิม, และสาร alkaloid ในกลุ่ม lasiocarpine จากหญ้างวง ช้างเป็นพิษต่อตับ ทำให้ตับอักเสบอย่างรุนแรง นอกจากนี้ภาวะตับวายอาจเกิดหลังจากผู้ป่วยได้รับพิษแล้วช็อค และไตวายได้ การรักษาพิษต่อตับคือ การประคับประคองอย่างเต็มที่

 

2. พิษต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
พืชที่มีพิษต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด มักมีสารจำพวก cardiac glyco sides เช่นใบยี่โถ, รำเพย, ปอกระเจา ฯลฯ หรือสาร alkaloid พวก aconitine อาการพิษเริ่มด้วยอาการระบบทางเดินอาหาร และตามด้วย progressive A-V block ทำให้หัวใจเต้นช้า และจังหวะผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ และถึงแก่ชีวิตจาก ventricular fibrillation การรักษาต้องพยายามแก้ไขภาวะเกลือแร่ไม่สมดุลย์ โดยเฉพาะภาวะ potassium สูง โดยการให้ ion-exchange resine หรือ dialysis แก้ไขภาวะหัวใจเต้นช้าและจังหวะผิดปกติ โดยการให้ atropine, phenytoin และในรายที่รุนแรงมากอาจต้องใส่ electrical pacing นอกจากนี้การให้ digitoxin-specific Fab antibodies อาจช่วยแก้ไขภาวะเหล่านี้ได

 

3.พิษต่อระบบประสาท

  1. พิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีฤทธิ์กระตุ้นทำให้เกิดอาการชัก หรือ ทำให้เกิดอาการซึม, หายใจช้า และหมดสติ หรือมีผลต่อจิตประสาททำให้ประสาทหลอน หรือหลายอย่างรวมกัน ส่วนใหญ่มักนำมาด้วยการกระตุ้น และตามมาด้วยการกด ดังนั้น จึงต้องระลึกเสมอว่า ผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากพืชและมีอาการตื่นเต้นในช่วงแรก อาจจะซึมลงจนถึงหมดสติได้ในเวลาต่อมา การให้ยาที่ทำให้ผู้ป่วยสงบ หรือยาแก้ปวด จึงต้องระมัด ระวังอย่างยิ่ง และต้องเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด การรักษาทั่วไปขึ้นกับลักษณะอาการของผู้ป่วย นอกจากนี้ความรู้ทางเภสัชวิทยาเกี่ยวกับการออกฤทธิ์ของสารพิษในพืชต่างๆ โดยเฉพาะพืชที่ใช้เป็นยาเสพติดอาจช่วยให้ทำการรักษาได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
  2. พิษต่อระบบประสาทอัตโนมัติ และประสาทส่วนปลาย สารพิษในพืชหลายชนิด นอกจากจะมีพิษต่อระบบประสาทส่วนกลางแล้ว ยังอาจมีพิษต่อระบบประสาทอัตโนมัติ ที่สำคัญได้แก่สารในกลุ่ม tropane alkaloids และ nicotine
Tropain alkaloids (atropine-like alkaloids) เช่นสาร hyoscine ซึ่งพบในต้นลำโพง มีฤทธิ์ anticholinergic ทั้งในระบบประสาทส่วนกลาง และส่วนปลายทำให้เกิดอาการเคลิ้มฝัน หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง มีไข้ ม่านตาขยาย ปากคอแห้ง ผิวแห้ง การเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลง และปัสสาวะคั่ง การรักษานอกจากจะประคับประคองให้พ้นขีดอันตรายแล้ว อาจให้ physostigmine ในรายที่มีอาการซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และอาจใช้เพื่อช่วยการวินิจฉัย รวมทั้งควบคุมอาการคลั่งและเคลิ้มฝันในผู้ป่วยบางรายได้
Nicotine จัดเป็นสารที่มีพิษสูง ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทได้ 3 แห่ง คือ autonomic ganglia, somatic neuromuscular junction และ afferent fibers from sensory receptor ในขนาดน้อยๆ จะมีฤทธิ์กระตุ้นทำให้มีการหลั่ง catecholamine จาก adrenal medulla ทำให้หัวใจเต้นเร็ว, หายใจเร็ว และความดันโลหิตสูง ในขนาดสูงจะกระตุ้นแล้วตามด้วยการกดทำให้มีอาการน้ำลายไหล, น้ำตาไหล, เหงื่อออกมาก, ม่านตาเล็ก, อาเจียน, ท้องร่วง, หัวใจเต้นช้า, ความดัน โลหิตตก, กล้ามเนื้อเปลี้ย, ชัก, หมดสติ และกดการหายใจ ผู้ป่วยอาจถึงแก่ชีวิตได้จาก กล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต เนื่องจากผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการชัก และการหายใจผิดปกติ ดังนั้นจึงไม่ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยอาเจียน ควรใช้สายยางสวนล้างกระเพาะอาหารจะดีกว่า นอกจากนี้ต้องให้ผงถ่านซึ่งสามารถจับกับ nicotine ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควรให้ซ้ำหลายๆ ครั้ง รวมทั้งให้ยาระบายถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการท้องร่วง สิ่งสำคัญคือต้องดูแลทางเดินหายใจให้ดี อาจต้องให้ oxygen และใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าผู้ป่วยมีอาการของการกระตุ้น parasympathetic อาจให้ atropine รวมทั้งให้ยาบำบัดอาการชักด้วย
 

4. พิษต่อไตและระบบปัสสาวะ

สารพิษบางชนิดโดยเฉพาะในกลุ่ม toxalbumin ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกในกระแสโลหิต ซึ่งจะไปจับที่ไตทำให้ไตวาย การให้สารน้ำอย่างเพียงพอ และทำให้ปัสสาวะเป็นด่างจะช่วยบำบัดภาวะนี้ได้ สารในกลุ่มกรดอินทรีย์ซึ่งตกผลึกในไตได้เช่น oxalate, ผลึก djenkolic (พบในเมล็ดเนียง) ทำให้ปัสสาวะขัด ปัสสาวะไม่ออก ปวดบีบบริเวณเอวและกระเพาะปัสสาวะ และบางครั้งปัสสาวะเป็นเลือด นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะ calcium ต่ำในเลือดได้ การรักษาควรให้สารน้ำอย่างเพียงพอ ให้ calcium และดูแลภาวะสมดุลย์ของเกลือแร่
 
 
 
5. พิษต่อเลือด
ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นพืชที่มีสารพิษกลุ่ม toxalbumin อาจทำให้เม็ดเลือด รวมตัวตกตะกอน เม็ดเลือดแดงแตกและไตวายได้ ซึ่งในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องทำการเปลี่ยนถ่ายเลือด
พืชบางชนิดมี nitrates สูง ซึ่งอาจขึ้นกับการใส่ปุ๋ย ทำให้เกิด methemoglobimemia ได้ ในผู้ป่วยเหล่านี้ให้การรักษาทำโดยการประคับประคองและให้ methylene blue ในรายที่มีอาการรุนแรง (ดูบท methemoglobinemia)
พืชที่มี cyanogenic glycoside เมื่อรับประทานเข้าไปจะถูก hydrolize เกิดเป็น hydrocyanic acid ซึ่งเป็นพิษ การรักษานอกจากการ ประคับประคองจนพ้นขีดอันตรายแล้ว อาจจำเป็นต้องให้ยาต้านพิษได้แก่ amyl nitrite, sodium nitrite และ sodium thiosulfate (ดูบท cyanide)
 
 
6.พิษต่อระบบผิวหนัง พืชที่มีพิษกับผิวหนัง สามารถจำแนกตามอาการและอาการแสดงออกได้เป็น
  1. พืชที่ก่อให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ (irritant and allergic contact dermatitis) พืชส่วนใหญ่ที่มีพิษต่อผิวหนัง ก่อให้เกิดอาการแสดงทางผิวหนังในลักษณะนี้ โดยผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับพืชจะเกิดผื่นแดง คัน รูปร่างของผื่นอาจเป็นทางยาวๆ หรือปื้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการสัมผัสเช่น ถ้าเป็นโดยการสัมผัสใบหญ้าจะเป็นทางยาวๆ ในกรณีที่อาการแพ้รุนแรงจะพบตุ่มพองเกิดขึ้นด้วย พืชในกลุ่มนี้ได้แก่สลัดได, โป๊ยเซียน, พญาไร้ใบ และปุ่มสมัด
  2. พืชที่ก่อให้เกิดผื่นหนาคันเรื้อรัง เช่น กรด citric ในมะนาว และสารจาก กระเทียม ทำให้ผู้สัมผัสมีผิวหนังบริเวณปลายนิ้วแข็ง บาง ลอก และเป็นรอยแตก
  3. พืชที่ก่อให้เกิดผื่นลมพิษ เช่น ตำแย (urtica urens หรือ stinging nettles) และหมามุ่ย (cowhage, mucuna pruriens) มีขนพิษซึ่งมีสาร acetylcholine, histamine และ serotonin ทำให้ผู้สัมผัสเกิดผื่นลมพิษขึ้นอย่างรวดเร็ว และหายในเวลาอันสั้น
  4. พืชที่ก่อให้เกิดผื่นแพ้แสง (phytophotodermatitis) พิษจากพืชบางชนิด จะทำปฏิกิริยากับแสงแดด ทำให้เกิดผื่นผิวหนังได้ สารที่สำคัญคือ bergapten (psoralens) ซึ่งพบในมะกรูด มะนาว ผักชีฝรั่ง แครอท และคื่นช่าย ผู้ที่สัมผัสกับสาร ประเภทนี้เมื่อถูกกับแสงแดดจะมีผื่นดำเกิดขึ้นใน 2-7 วัน โดยไม่มีอาการคันหรือแสบนำมาก่อน ในรายที่ได้รับสารเข้าไปมากอาจมีผื่นแดง พอง ในบริเวณที่ถูกแสงแดดได้ สำหรับคื่นช่ายนั้นไม่มีสารที่ทำให้แพ้แสง แต่จะทำให้ผู้สัมผัสมีผื่นแพ้แสงได้จากเปลือกสีชมพู ที่รากของมัน
พืชที่ก่อให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบที่สำคัญ ได้แก่
  1. พืชประเภทไลเคน (lichens) เป็นพืชชั้นต่ำที่พบตามพื้นดินที่พบใน ประเทศไทยได้แก่ ฟองหินและฝอยลม ทำให้ผู้ที่สัมผัสเกิดผื่นแดง และคันที่มือ
  2. พืชตระกูล compositalได้แก่ทานตะวันดอกคำฝอยดาวเรืองบานชื่น เบญจมาศ ดอกกระดาษ และตั้งโอ๋ พืชประเภทนี้มีสาร sesquiterpene lactone ในลำต้นและใบ แต่ไม่พบสารนี้ในเกสร ผู้สัมผัสจะเกิดผื่นผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดง คันมีตุ่มน้ำใส ผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง หรือเป็นผื่นแพ้แสง
  3. พืชตระกูล urushiol เป็นพืชที่มีลักษณะพิเศษ คือเมื่อตัดให้กลางลำต้นสัมผัส กับอากาศ น้ำพืชจะเป็นสีดำใน 2-3 นาที (black spotsign) ที่พบในประเทศไทยคือ กอกกัน (Toxicodendron shetzoides taid) และสะเดาช้าง (Toxicodendron succedenea mold) นอกจากนี้ยังพบในเปลือกผลมะม่วง และเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ พืชในกลุ่มนี้ทำให้เกิดผื่นแบบ erythema multiforme และผื่นลมพิษ มีรายงานพบผื่นรอบๆ ปากในผู้ป่วยที่กัดผลมะม่วงดิบที่ไม่ได้ปอกเปลือก
การรักษา
  1. เมื่อสัมผัสกับสารพิษในพืช ไม่ว่าจะเป็นยางหรือน้ำในลำต้น ควรรีบล้างบริเวณที่สัมผัสด้วยน้ำและสบู่ จะทำให้เกิดอาการน้อยลง และอาจป้องกันการเกิดผื่นได้
  2. ในกรณีที่มีผื่นคัน ถ้ามีอาการน้อย ให้รักษาตามอาการด้วย antihistamine และ topical steroid ในกรณีที่มีอาการมาก มีตุ่มน้ำพอง ควรทำ wet dressing ด้วย normal saline solution, boric acid หรือ Buran's solution ร่วมกับ systemic steroid
  3. Immunotherapy ด้วยการทำ hyposensitization ยังอยู่ในขั้นทดลอง
เอกสารอ้างอิง
  1. พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. พืชพิษ. วารสารเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปี่ที่ 4 เล่มที่ 3; 111-127.
  2. พัชรี สุนทรผะลิน. ผื่นสัมผัสจากพืช. ผื่นสัมผัส สำนักพิมพ์เมดิคัล มีเดีย พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2534 หน้า 159-167.
  3. Areekul S, Kirdudom P, Chanarong S, et al. Studies on the chemical components and toxic substances in Niang beans. The Royal Thai Army Med J 1981; 34: 309-314.
  4. Champion R.H. Text book of Dermatology 5th ed. Blackwell, 1992.
  5. Fisher A. Contact dermatitis. 3rd ed. Lea & Fibiger, 1986.
  6. Kaojarern S, Sukhupunyarak S, Mokkhavesa C. Oleander Yee Tho poisoning. J Med Ass Thailand 1986; 69: 108-112.
  7. Oonsombat P. Health hazard of Castor bean dust. Siriraj Hosp Gas 1985; 37: 1004-1015.