พิษจากปลาปักเป้า

 

ภาวะเป็นพิษจากการรับประทานสัตว์มีพิษ

 


พิษจากปลาปักเป้า

 

 

                ประเทศไทยมีปลาปักเป้าทั้งน้ำจืด และน้ำเค็มถึง 20 ชนิด พบได้ทุกภาคทั่วประเทศ ในสภาพปกติปลาปักเป้าจะมีรูปร่างอย่างปลาทั่วไป อาจมีหนามตามตัว แต่หากถูกรบกวนจะพองตัวเบ่งออก และมีหนามให้เห็นชัดเจน
อันตรายจากการรับประทานปลาปักเป้า เป็นที่รู้จักกันมานาน ในบ้านเรามีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการรับประทานปลาปักเป้าจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะครอบครัวชาวประมง ทหารที่ออกฝึก และประชาชนตามริมฝั่งทะเล ในตัวปลาปักเป้าโดยเฉพาะที่ผิวหนัง รังไข่ และเครื่องในมีสารชีวพิษคือ tetrodotoxin ซึ่งเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำได้และทนต่อความร้อน      

                  ดังนั้นการทำให้สุกจึงไม่สามารถลดความเป็นพิษได้ สารนี้ออกฤทธิ์ที่เซลล์ประสาทโดยกันไม่ให้โซเดียมถูกดูดกลับเข้าไปในเซลล์ ทำให้ไม่สามารถนำกระแสประสาทได้ รวมทั้งออกฤทธิ์ยับยั้งการสื่อสัญญาณประสาทที่จุดบรรจบประสาทกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต

อาการ จะเริ่มเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาที หลังจากผู้ป่วยรับประทานปลาปักเป้า ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ เหงื่อแตก ชา และรู้สึกผิดปกติที่ริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้าและปลายมือปลายเท้า มีตุ่มพองในปาก น้ำลายไหล กลืนลำบาก พูดไม่ชัด หายใจขัด ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกตัวลอย กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย ไม่มีแรง ไม่สามารถควบคุมให้เคลื่อนไหวตามประสงค์ได้ จนกระทั่งเป็นอัมพาตอย่างสมบูรณ์ ตรวจพบม่านตาขยายกว้าง กระจกตาไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้น กล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต ชีพจรเบาเร็วหรือช้า หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตตก อุณหภูมิร่างกายลด ผู้ป่วยอาจถึงแก่ชีวิตได้ภายใน 30 นาทีจากการหายใจล้มเหลว 

การรักษา ที่สำคัญได้แก่ การรักษาตามอาการ และประคับประคองให้ผู้ป่วยพ้นขีดอันตรายต่อชีวิต ดูแลทางเดินหายใจ ถ้าผู้ป่วยหายใจไม่พอให้ใส่ท่อหลอดลม และใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้สารน้ำเข้าหลอดเลือดดำ และถ้าความดันโลหิตต่ำมากอาจให้ dopamine รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถ้าเต้นช้ามากให้ทดลองฉีด atropine ถ้าไม่ได้ผลต้องใส่ pace maker หลังจากที่ได้รักษาประคับประคองจน vital signs ปกติ ให้ใส่ท่อสวนล้างกระเพาะอาหาร ให้ activated charcoal ประมาณ 1g/kg ถ้าผู้ป่วยไม่ถ่ายควรให้ยาระบายด้วย ปัจจุบันยังไม่มียาต้านพิษที่มีประสิทธิภาพ ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาประคับประคองที่ดี ผู้ป่วยจะหาย เป็นปกติภายใน 24-48 ชั่วโมง