ประวัติความเป็นมาสภาอาจารย์รามาธิบดี

ประวัติความเป็นมา  สภาอาจารย์รามาธิบดี
 
      เมื่อคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ก่อตั้งขึ้นใหม่ ๆ นั้น แทนจะกล่าวได้ว่า ความคิดในอันที่จะก่อตั้งสภาอาจารย์ แทบจะไม่ปรากฏเป็นเค้าโครงเลย ทั้ง ๆ ที่เรื่องเกี่ยวกับสภาอาจารย์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่าที่ครั้งหนึ่งในอดีตนั้น สมเด็จพระบรมราชชนกเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช พระบิดาแห่งวงการแพทย์ ได้เคยมีพระราชดำริไว้ว่า ในวงการศึกษาแขนงการแพทย์ และสาธารณสุขของ ประเทศเรานี้ สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีองค์กรที่เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า 'Senate' ไว้ ทำหน้าที่สำคัญในการดำเนินงานเพราะ  ทรงทราบดีว่า นักวิชาการนั้น เมื่อได้ทำงานตรงเป้าก็มุ่งมั่นรุดไปข้างหน้าเป็นสำคัญ เมื่องาน นั้นขยายตัวกว้างมากขึ้น มีนักวิชาการต่าง  แขนงเพิ่มมากขึ้น ย่อมเกิดความเหลื่อมล้ำในความคิดเห็น ในสิทธิหน้าที่ในผลประโยชน์ ทั้งต่อส่วนรวมและส่วนตน ฯลฯ การที่มี   Senate Council จะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ บรรดาที่จะเกิดตามมาให้เป็นไปโดยเรียบร้อย เกิดความกระทบกระเทือนน้อยที่สุด และยังอาจ  ใช้องค์กรนี้ในการก่อคุณประโยชน์ให้แก่กลุ่มนักวิชาการทั้งหลายได้เป็นอย่างดี
 

     อาจจะเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ก็ได้ว่า เมื่อไม่มีเรื่องร้อนมาถึงตน เมื่อการทำงานเป็นกลุ่มนั้นดำเนินไปภายใต้การ ควบคุมที่ดี ด้วยความคิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เสียสละและร่วมใจกันจนสามารถดำเนินงานไปได้ โดยราบรื่นแล้ว ความประสงค์ที่จะมีองค์กร  ดังกล่าวก็ไม่จำเป็น ดังนั้น กำเนิดของสภาอาจารย์รามาธิบดี จึงไม่มีเค้าโครงมาก่อน  จนถึงสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ยุคสุท้าย

     เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 จนถึง 2516 เหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองก็เกิดขึ้นด้วยความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อ ผู้บริหารประเทศ หากได้พบว่า งานบริหารจุดใดเกิดความบกพร่องไม่เป็นธรรมและไม่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ บ้านเมือง ก็จะใช้พลังนิสิตนักศึกษาเป็นสิ่งแสดงออกของความไม่พอใจนั้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็น่าจะเป็นการดีที่คนหนุ่มสาวที่มีความรู้และสติปัญญา ได้หันมาสนใจ  และเอาจริงเอาจังกับชีวิตของประชาชนมากขึ้นกว่าที่เคยมีมาในอดีต
 
     อาจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้น มีทั้งอาจารย์เก่าและอาจารย์ใหม่ มีทั้งที่อยู่มานานจนเกิดความเคยชินกับสภาพการทำงานและ การปกครองที่รัฐได้บัญญัติและให้ถือปฏิบัติตามมาช้านาน อาจารย์บางท่านอาจจะไม่เห็นด้วยในความคิดและแนวทางปฏิบัติเหล่านั้น และ ในลำพังตนคนเดียว หรือในกลุ่มเล็ก ๆ ย่อมไม่อาจจะต่อรองกับผู้บริหารได้ เป็นความจริงที่ว่า การแสดงพลังของนักศึกษามีส่วน ในการ กระตุ้นอาจารย์ให้กล้าพูดกล้าทำมากขึ้น การแสดงพลังของนิสิตนักศึกษายุคนั้น ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากอาจารย์ผู้สอน บางกลุ่ม  อาจจะเห็นด้วย บางกลุ่มอาจจะคัดค้าน บางกลุ่มอาจจะเฉยเมย ความแตกต่างทางความคิดเห็นนี้นำมาสู่ความไม่สมดุลย์แห่งการปฏิบัติงานร่วมกันเหมือนที่เคยมีมาอย่างราบรื่นในอดีต ในเมื่อนักศึกษาสามารถรวมตัวกันใช้พลังแข็งแกร่งมากขึ้น จนถึงขั้นหยุดการเรียน และ การปฏิบัติงาน ละทิ้งห้องเรียนและหน้าที่ออกไปเรียกร้องสิทธิที่เขาต้องการ โดยอ้างเหตุเป็นการรีบด่วน เพื่อประชาชนผู้ ยากไร้ ฝ่าย อาจารย์ที่ต้องทำหน้าที่สอน มีทั้งสิทธิและหน้าที่แห่งตนจะพึงนำมาใช้ก็ใช้สิทธินั้นแรงบ้างเบาบ้าง ต้องมีการเจรจาต่อรองกับศิษย์ ต่อ รองกับผู้บริหารระดับสูงก่อให้เกิดความสับสน ความไม่สมดุลแห่งชีวิต ความต้องการที่จะให้มีพลังในการเรียกร้อง ความ ต้องการที่จะให้มี  ผู้ไกล่เกลี่ยบรรดาปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงไม่เป็นการผิดทีจะกล่าวว่าสภาอาจารย์รามาธิบดีนั้น เกิดขึ้นในปี 2517 เพราะความจำเป็น  ดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ได้เกิดสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลแล้วไม่นานนัก โดยที่บรรดาอาจารย์สมัยนั้น เชื่อว่า การมีสภาอาจารย์ในรามาธิบดีนั้นจะเกิดคุณประโยชน์ให้แก่บรรดาอาจารย์มากกว่าที่จะไม่มีสภาอาจารย์เอาเสียเลย
 

     ในปี 2530 อันเป็นระยะเวลาที่สภาอาจารย์รามาธิบดี มีอายุได้ 13 ปีเต็ม ได้มีคณะกรรมการสภาอาจารย์ทำหน้าที่รวม ทั้งสิ้น 7 สมัย แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาอันสั้นแต่ก็มีเกตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งร้ายทั้งดี ทั้งที่แก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ เกิดขึ้นไม่น้อย บาง กรณีเป็นเรื่อง ความขัดแย้งทางวิชาการ บางกรณีเป็นเรื่องที่หาข้อสรุปไม่ได้ถึงความถูกต้อง ในทำนองคลองธรรม บางครั้งเป็นเรื่อง การเมือง อาจค้างในความทรงจำของบุคคลที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในรามาธิบดี และต้องมาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น ๆ โดยตรงและโดยทางอ้อม เหตุการณ์บางอย่างทำให้เกิดความเสียหายหลายระดับ ซึ่งมีตั้งแต่ความบาดหมางในส่วนตัว ความบาดหมางในระดับกลุ่ม การลาออกจากราชการ  ความสูญเสียต่อส่วนรวมต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นเหตุการณ์ผันผวนที่เป็นไปตาม วัฏจักรแหงชีวิต ซึ่งล้วนแต่เป็นคุณประโยชน์ที่ให้ประสบการณ์ชีวิตแก่เรา ให้หลักการแนวทางแก้ไขปัญหาซึ่งอาจจะเกิดตามมา ให้ได้รู้ทันต่อเหตุการณ์และแก้ปัญหา ได้ทันท่วงทีก่อนที่ความเลวร้ายจะเกิดซ้ำซ้อนขึ้นอีก เป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่ายิ่งนัก

 

  วัตถุประสงค์   พ.ศ. 2517 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้มีสภาอาจารย์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. เสนอข้อแนะนำและให้คำปรึกษาต่อคณบดีและกรรมการประจำคณะฯ ในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
         1.1 นโยบายและมาตรฐานทางวิชาการ 
         1.2 นโยบายและมาตรฐานทางการบริการ
         1.3 นโยบายเกี่ยวกับงานกิจการนักศึกษา
         1.4 กฎเกณฑ์เกี่ยวกับกิจการนักศึกษา
         1.5 มาตรฐานและจริยธรรมของอาจารย์ 
         1.6 ประเมินผลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของคณะฯ
  2. เป็นตัวแทนของคณาจารย์ในการติดต่อกับองค์กรอื่น ๆ
  3. ดำเนินการใด ๆ ตามที่สภาอาจารย์เห็นสมควรเพื่อประโยชน์ของคณะเป็นส่วนรวม
  4. พิทักษ์สิทธิและเสรีภาพอันชอบธรรมของคณาจารย์วาระของสภาอาจารย์มีกำหนดอยู่ในตำแหน่งสมัยละ 2 ปี โดยเริ่มสมัยแรก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2517

        สมัยที่  1  (พ.ศ.  2517 - 2519)

          ในการเลือกตั้งคณะกรรมการสภาอาจารย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2517 คณะกรรมการประกอบด้วย  อาจารย์ ม.ร.ว.พัชรีสาณ  ชุมพล เป็นประธานสภาอาจารย์   มีคณะกรรมการประกอบด้วย อาจารย์ดวงเดือน คงศักดิ์ เป็นรองประธานสภาอาจารย์, อาจารย์สมพนธ์  บุณยะคุปต์, อาจารย์สมชาติ โลจายะ, อาจารย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ, อาจารย์ชิดพงษ์ ไชยวสุ,  อาจารย์ทองดี ชัยพานิช, อาจารย์บุญชอบ  พงษ์พาณิชย์ และอาจารย์ปรีชา ตันไพจิตร เป็นเลขาธิการ ทั้งนี้กรรมการได้รับเลือกในฐานะเป็นอาจารย์ในคณะฯ มิใช่เป็นตัวแทนของแต่ละภาควิชา

          คณะกรรมการสภาอาจารย์รามาธิบดีชุดนี้ได้ปฏิบัติงานพอสรุปได้ดังต่อไปนี้

  1. ได้เสนอแนะให้คณะกรรมการบริหารของคณะฯ แถลงวัตถุประสงค์ (objective) และ job description เพื่อให้อาจารย์และข้าราชการในคณะฯ ปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น
  2. ได้ให้ข้อเสนอ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดลฉบับใหม่ ตามที่คณะกรรมการบริหารคณะฯ ได้ส่งมาให้พิจารณา ในหัวข้อวาระของผู้บริหารทุกระดับ ตามที่สภาอาจารย์มีส่วนร่วมในการบริหารและตำแหน่งวิชาการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย
  3. แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการคัดเลือกนักศึกษาชีวะภาพ ปีที 2 ที่เข้าเรียนแพทย์ในปีการศึกษา 2517-2519
  4. ส่งผู้แทนจากคณะกรรมการสภาอาจารย์เข้าร่วมเป็นกรรมการพิจารณาให้ทุนอาจารย์จากทุนของมูลนิธิรามาธิบดี
  5. ออกระเบียบปฏิบัติในการรับสมาชิกสภาอาจารย์เพิ่มเติม ซึ่งมีข้าราชการที่มิได้เป็นอาจารย์โดยตำแหน่ง แต่ทำหน้าที่สอนนักศึกษาเป็นประจำ สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มเติมอีก 4 ท่าน และระเบียบปฏิบัติในการเลือกตั้งคณะกรรมการ
  6. มีการประชุมใหญ่วิสามัญ 1 ครั้ง และได้มีแถลงการณ์ว่าด้วยกิจกรรมนอกหลักสูตรของนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีในเดือนกันยายน 2517
  7. แถลงการณ์คัดค้านการกระทำของศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในลักษณะบีบบังคับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เดือนกันยายน  2517
  8. จัดให้มีการสนทนาเพื่อความเข้าใจของการปกครองประเทศ การเมืองในด้วยวิชาการระหว่างอาจารย์ที่สนใจโดยมิได้เชิญนักการเมืองหรือบุคคลภายนอกเข้าร่วมด้วย
  9. จัดให้มีการประชุมวิชาการว่าด้วยศูนย์การแพทย์และอนามัยชนบท
  10. จัดให้มีการประชุมด่วน เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2517 สืบเนื่องจากบทความในข่าวขององค์การบริหารสหพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีในลักษณะกล่าวพาดพิงถึง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อันไม่ตรงต่อความเป็นจริงที่มีอยู่  ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิดและอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่คณะได้และจากผลของการประชุมนี้ก็ได้มีการประชุมข้าราชการ และนักศึกษาทั้งหมดในคณะฯ แถลงข้อเท็จจริงให้ทราบโดยละเอียด

          ท่านประธานสภาฯ สมัยแรกให้ความคิดว่า จุดมุ่งหมายแรกเริ่มนั้นก็คือรวบรวมความคิดของอาจารย์ส่วนใหญ่ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะทำให้เกิดน้ำหนักสำคัญในการต่อรองที่เห็นได้ชัดก็คือ คณะกรรมการชุดนี้ทำให้เกิดความอบอุ่นขึ้นในกลุ่มอาจารย์ เพราะระยะนั้นอาจารย์มีปัญหากับศิษย์บ่อย ๆ ด้วยศิษย์ขาดเรียน ขาดสอบ และบางรายมีพฤติกรรมค่อนข้างจะก้าวร้าวต่ออาจารย์ เช่น ร่วมใจกันนัดหยุดเรียนโดยแจ้งให้ผู้สอนทราบในเวลากระชั้นชิดแล้วหายไปหมดทั้งชั้น การพิจารณาโทษหรือการเจรจาย่อมมีสภาอาจารย์เป็นที่ปรึกษาขอความร่วมมือได้   สภาอาจารย์มีบทบาทในด้านอธิบายให้บรรดาอาจารย์ทราบถึงจุดยืนที่ควรปฏิบัติต่อเหตุการณ์ต่างๆ สภาอาจารย์มีบทบาทเสนอความคิดต่อผู้บริหารคณะฯ ส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีในกลุ่มอาจารย์ เนื่องจากระยะนั้น ความสัมพันธ์และความเข้าใจกันระหว่างศิษย์กับอาจารย์มีช่องว่างมาก แม้ว่าจะได้พยายามที่จะหาหนทางลดช่องว่างนั้นแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จได้ว่าเกิดกับทุกสถาบัน โฉมหน้าของสภาอาจารย์ในยุคนั้นทำให้ศิษย์บางกลุ่มมีความเห็นว่าอาจารย์ตั้งกลุ่มขึ้นมาจับผิดศิษย์และอาจารย์ ไม่พยายามจะเข้าใจศิษย์ ผลเสียก็คือมีศิษย์จำนวนหนึ่งหายตัวจากคณะโดยละทิ้งการเรียนไปอย่างเด็ดขาด (ในระยะเวลาต่อมาส่วนใหญ่ได้กลับมาเรียนจนสำเร็จ) อาจารย์บางท่านในยุคนนั้น เกิดความรู้สึกกลัวและขาดความมั่นใจว่าจะทำหน้าที่อาจารย์ที่ดีสมกับสถานการณ์ได้ สรุปได้ว่า ชุดแรกนี้เข้ามาเริ่มทำหน้าที่ในขณะที่ไฟร้อนกำลังระบาดไปทั่วราชอาณาจักร จึงจำเป็นอยู่เองที่ผลงานของสภาอาจารย์ชุดแรกนี้  จะหนักไปในทางแก้ปัญหา

          สมัยที่  2  (พ.ศ.  2519 - 2521)

          สภาอาจารย์รามาธิบดีสมัยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ระหว่าง ปี 2519-2521 มีอาจารย์ถนอมศรี ศรีชัยกุล เป็นประธานสภาอาจารย์  มีคณะกรรมการประกอบด้วย อาจารย์กัลยา บำรุงผล เป็นรองประธานสภาอาจารย์, อาจารย์ดิเรก อิศรางกูร ณ อยุธยา, อาจารย์สุปาณี  เสนาดิสัย, อาจารย์สุชาติ อินทรประสิทธิ์, อาจารย์อารีณา ภาณุโสภณ, อาจารย์จินตนา โมกขะเวช, อาจารย์เกรียงไกร อัครวงศ์ และอาจารย์ชิดพงษ์ ไชยวสุ เป็นเลขาธิการ ต่อมาอาจารย์กัลยา ลาออก อาจารย์รัชช สมบูรณ์สิน จึงได้รับหน้าที่แทน

          สิ่งแรกที่คณะกรรมการ  ชุดนี้พยายามแก้ไขคือ การประสานรอยร้าวและช่องว่างระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาทุกประเภทที่เรียนอยู่ในคณะฯ ของเรา เริ่มต้นด้วยการประชุมอาจารย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล และอาจารย์สายงานเทคนิคการแพทย์ เพื่อเตรียมจัดงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ หาหนทางที่จะทำให้ศิษย์กับอาจารย์เข้ากันได้สนิททั้งไว้วางใจกันและกัน ให้กำลังใจอาจารย์ผู้สอน และเชิญเข้าร่วมในรายการ "ศิษย์กับครู" ซึ่งสภาอาจารย์ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในการต้อนรับนักศึกษาแพทย์รามาธิบดีรุ่นที่ 8 เนื่องจากที่ประชุมสภาอาจารย์ มีความเห็นว่า งานประสานรอยร้าวนี้เป็นงานรีบด่วนเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรามาธิบดี จึงต้องพยายามจุดยึดเหนี่ยว  โดยทำกิจกรรม "รามาธิบดีสังสรรค์" ขึ้นพร้อมกับงานกิจกรรมประจำปีของนักศึกษา

          เป็นที่ทราบกันอยู่ดีแล้วว่า  มหาวิทยาลัยมหิดลนั้นมีหลักยึดเป็นที่สำคัญแห่งพลังคือ สมเด็จพระบรมราชชนกผู้เป็นบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้พระราชประวัติของท่านมิได้มีจุดเสียหายด่างพร้อยด้วยประการใดทั้งสิ้น ไม่มีจุดใดที่จะมีผู้มาโจมตีท่านได้ เพราะท่านเป็นผู้สร้าง ผู้ให้ และเป็นแม่แบบที่ดีสำหรับชาวมหาวิทยาลัยมหิดล สภาอาจารย์ได้ยึดพระบารมีเป็นที่ตั้งโดยจัดงานขึ้นในวันที่  23 กันยายน ก่อนวันมหิดลเพียงวันเดียว

          กิจกรรมสำคัญที่นักศึกษารามาธิบดีและอาจารย์ได้กระทำร่วมกันคือ จัดงานสมเด็จพระบรมราชชนกรำลึก ขึ้นในวันที่ 23 กันยายน  25219 มีนิทรรศการแสดงภาพถ่ายโปรสเตอร์พระราชประวัติและพระกรณียกิจ มีนักศึกษาแพทย์ พยาบาล  รังสีเทคนิค และเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์จากภาควิชาพยาธิวิทยา มาช่วยจัดนิทรรศการมากมาย มีการประกวดเรียงความพระราชประวัติซึ่งปรากฏว่า น.ศ.พ.สุขุมา ธรรมชัยปราการ ได้รับรางวัลชนะเลิศ และศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ซึ่งเป็นผู้ทราบพระราชประวัติโดยละเอียด ถึงกับกล่าวชมเชยในความดีของบทความฉบับนั้น ผลประโยชน์จากการจัดงานนี้ นอกจากอาจารย์กับศิษย์จะได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นแล้ว นักศึกษายังได้มีโอกาสแสดงความสามารถได้เรียนรู้ในคุณงามความดีของสมเด็จพระบรมราชชนก มีรายได้จำนวนหนึ่งสมทบทุนการกุศล สมทบทุนอานันทมหิดล สาขางานวิจัย สิ่งของที่ใช้ในการจัดนิทรรศการยังได้มีผู้มายืมไปแสดงต่อที่โรงพยาบาลในส่วนภูมิภาพอีกด้วย

          แม้ว่าสภาอาจารย์ชุดนี้  จะได้พยายามเป็นอย่างยิ่งในการประสานรอยช่องว่างระหว่างอาจารย์กับศิษย์แล้วก็ตามเหตุการณ์ภายนอกรามาธิบดีเกี่ยวกับนักศึกษาและการเมืองก็ยังดำเนินต่อไปอย่างเคร่งเครียด สภาอาจารย์มีความเห็นว่าปัญหาเรื่องการบริหารคณะฯ  ในส่วนที่เกี่ยวกับนักศึกษาเป็นปัญหาละเอียดอ่อนที่ผู้บริหารทุกคนในคณะจะต้องให้ความสนใจ และหากจะตัดสินใจทำการอย่างหนึ่ง อย่างใดลงไปเกี่ยวกับนักศึกษา อาจารย์ทั้งหลายก็ควรจะได้ทราบถึงนโยบายและเห็นด้วยกับนโยบายนั้นตามสมควร สภาอาจารย์จึงสมควรที่จะได้รับทราบผลการประชุม หรือร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารของคณะฯ เพราะมีส่วนสำคัญเป็นสายใยเชื่อมระหว่างกลุ่มอาจารย์และ นักศึกษาอยู่แล้ว ในเรื่องนี้ถึงกับมีบางท่านกล่าวหาว่าสภาอาจารย์ทำหน้าที่มากเกินไปก็มีเหตุการณ์สำคัญและรุนแรงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อมีการ "ปราบปราม" นักศึกษาที่ไปชุมนุมกันในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกจำนวนหนึ่งทั้งแพทย์และพยาบาลถูกจับกุมไปกักกันไว้ที่ นครปฐมบ้าง ชลบุรีบ้าง เหตุการณ์ครั้งนั้น ประธานสภาอาจารย์สมัยนั้นได้บันทึกไว้ว่า

          "มีนักศึกษาแพทย์ที่เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นถูกจับไปทั้งหมด 12 คน อาจารย์รามาธิบดี นั้นไม่ต้องกล่าวก็ได้รู้สึกอย่างไร ไม่ใช้ลูกก็เหมือนลูก สายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นระหว่างครูกับศิษย์นั้นยังเหนียวแน่นไม่คลาย แม้ว่านักศึกษาเหล่านั้น บางคนจะเคยมีความขุ่นข้องหมองใจกับอาจารย์มาบ้าง ในฐานะอาจารย์เราก็ไม่ได้ลืมว่าเขาเป็นศิษย์ เราห่วงใยเอื้ออาทรและเศร้าใจ สภาอาจารย์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการติดตามศิษย์เหล่านั้น แม้ว่าจะมีบางคนที่ไม่สนใจเรา เมื่อเราเข้าไปตามหาเขาถึงสถานที่ถูกกักขังไว้ รวมทั้งปฏิเสธที่จะกลับบ้างพร้อมกับเรา เราก็ได้แต่ห่วงได้มอบของกินของใช้ไว้ให้ตามสมควร หลังจากเหตุการณ์รุ่นแรงผ่านไปแล้ว เราก็ได้จัดงานทำบุญ เลี้ยงพระ และสู่ขวัญให้ตามสมควรที่หอพักแพทย์ เราได้ทำหน้าที่แล้ว

          ในปัจจุบันนักศึกษา รุ่นที่ 7,8 และรุ่นที่ 9 ของรามาธิบดี ซึ่งกรรมการสภาอาจารย์ในสมัยนั้นได้มีโอกาสคลุกคลีร่วมทุกข์ร่วมสุขอยู่ด้วยในระยะเวลาเกือบ 2 ปีนั้น ได้จบการศึกษาจากรามาธิบดีไปเรียบร้อยแล้ว หลายคนได้มีโอกาสต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศและได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์แพทย์รามาธิบดีอยู่ในปัจจุบัน หลายคนได้แยกย้ายไปปฏิบัติงานนอกรามาธิบดี ทั้งในกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยแพทย์แห่งอื่น หรือแม้แต่แระทรวงกลาโหม ได้มีโอกาสพบเห็น ได้เติมโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่น่าชื่นชม เพราะได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถ ได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตพอสมควร จนทำให้สามารถพิจารณาปัญหาและความขัดแย้งได้ด้วยเหตุผล ทำให้เกิดความออมชอมในการตัดสินใจในทางที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวม สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความชื่นใจในอนาคตของศิษย์ซึ่งตนเองเคยห่วงใย ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในโอกาสที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อันเป็นประโยชน์ และไม่เสียใจในความยากลำบากที่ต้องได้รับในขณะนั้น เพราะเห็นว่าเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งระยะหนึ่งในรามาธิบดี"

          ในด้านกิจกรรมของสภาอาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับอาจารย์ด้วยกันนั้น นอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากท่านคณบดีในสมัยนั้น คืออาจารย์อารี วัลยะเสวี โดยได้จัดหาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้สำนักงานให้แก่สำนักงานของสภาอาจารย์แล้ว ยังได้สถานที่ทำงานอาคารศูนย์วิจัยชั้น 3 ซึ่งเป็นสำนักงานแห่งแรก สภาอาจารย์ได้จัดงาน "วันอาจารย์รวมใจ" ขึ้น เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2519 เป็นการพบปะสังสรรค์ของอาจารย์ทุกหน่วยงาน ในคณะได้จัดรายการแสดงบนเวทีที่หอประชุมคณะ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2520 ให้ชื่อรายการนี้ว่า "ดนตรีวิวัฒน์" ซึ่งเป็นการแสดงวิวัฒนาการ เปรียบเทียบดนตรีไทยกับต่างประเทศตามยุคสมัยตั้งแต่สุโขทัยจนถึงปัจจุบัน ผลจากการจัดงานคราวนี้ มีรายได้กว่า 21,000.00 บาท จึงได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมทบทุนสายใจไทย โดยเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

          สภาอาจารย์รามาธิบดีชุดนี้ ได้จัดการพิมพ์ทำเนียบอาจารย์รามาธิบดีขึ้น ซึ่งใช้เวลาในการจำทำนานถึงปีเศษ มาแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2520 นับเป็นการจัดทำทำเนียบอาจารย์รามาธิบดีอย่างเรียบร้อยครั้งแรก ทั้งนี้โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากอาจารย์ทองดี ชัยพานิช ทั้งที่ท่านได้ผ่านวาระไปแล้ว ก็ยังได้มาช่วยทำจนแล้วเสร็จ อีกประการหนึ่งที่สมควรจะบันทึกไว้ก็คือ ได้ริเริ่มให้มีการจัดพิมพ์วารสารทางวิชาการขึ้น โดยสภาอาจารย์รับหน้าที่เป็นผู้บริหาร "วารสารรามาธิบดี" ซึ่งถือกำเนิดในวันที่ 20 มกราคม 2520 มีอาจารย์ชวลิต ปรียาสมบัติ เป็นบรรณาธิการคนแรก อาจารย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา เป็นบรรณาธิการคนต่อมา ทั้งนี้โดยที่มูลนิธิรามาธิบดี เป็นเจ้าของและคณะเป็นผู้สนับสนุน นับเป็นวารสารทางวิชาการที่ให้คุณประโยชน์แก่สถาบันรามาธิบดีมาจนทุกวันนี้

         สิ่งหนึ่งที่สภาอาจารย์รามาธิบดี สมัยนี้ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเป็นอย่างมาก แต่ไม่สามารถดำเนินการให้ลุล่วงไปได้ก็คือ ได้พยายามทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิของอาจารย์อันพึงจะได้จากการเป็นอาจารย์คนหนึ่งของคณะฯ แต่กลับไม่ได้รับสิทธินั้น เรื่องนี้เป็นกรณีพิพาททางวิชาการ และกฎระเบียบราชการ ระหว่างอาจารย์หัวหน้าภาควิชา และลูกภาค นับเป็นกรณีความขัดแย้งระหว่างอาจารย์ครั้งแรกที่เรื่องมาถึงสภาอาจารย์  จึงมีความจำเป็นต้องประนีประนอม และหาหนทางคลี่คลาย เมื่อไม่ประสบความสำเร็จการก็ปรากฏว่า อาจารย์ท่านนั้นได้ยื่นใบลาออกจากคณะในที่สุด เป็นการยุติข้อพิพาทที่ผู้น้อยเป็นผู้ตัดสินใจเอง

          งานชิ้นสุดท้ายที่สภาอาจารย์รามาธิบดี ได้กระทำเพื่อรักษาสิทธิและหน้าที่ของอาจารย์รามาธิบดี คือ การร่วมพิจารณาแนวทางในการเลือกคณบดี ซึ่งจะครบวาระในระหว่างเดือนมีนาคม 2521 โดยกรรมการสภาอาจารย์ได้เสนอแนะขอให้คณะกรรมการบริหารคณะฯ  ให้โอกาสอาจารย์รามาธิบดีได้มีสิทธิในการเลือกคณบดี จากผู้สมัครรับเลือกตั้งในขณะนั้น โดยกระทำผ่านทางภาควิชาเพื่อให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาและเสนอชื่อของผู้เห็นสมควรได้รับเลือกเป็นคณบดีไปยังสภามหาวิทยาลัยให้ทำการคัดเลือกขั้นสุดท้าย เรื่องได้เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2520 และได้ดำเนินเรื่อยมาจนสรุปตกลงดำเนินงานตามที่กรรมการสภาอาจารย์ได้เสนอแนะไป  โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารเมื่อประมาณเดือนมกราคม 2521

         อย่างไรก็ตาม ในวาระสุดท้ายอันเป็นวาระสำคัญเพราะเป็นการประชุมของคณะกรรมการบริหารโดยท่านอธิการบดีเป็นประธาน เพื่อพิจารณาคะแนนเสียงของอาจารย์รามาธิบดีจากภาควิชาต่าง ๆ ก่อนจะนำเสนอชื่อต่อไปยังสภามหาวิทยาลัย ปรากฏว่าผู้แทนสภาอาจารย์ มิได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมในวาระที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในครั้งนี้ด้วย ผลจากการกระทำดังกล่าวทำให้กรรมการสภาอาจารย์ ทั้งชุดลงมติเป็นเอกฉันท์ ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการสภาอาจารย์ เพราะได้พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญ ดังกล่าวสำหรับอาจารย์รามาธิบดีต่อไปได้ คณะกรรมการสภาอาจารย์ได้ขอลาออกในที่ประชุมใหญ่ของสภาอาจารย์ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2521  รวมเวลาที่ได้ปฏิบัติในหน้าที่คือ 1 ปี 11 เดือนพอดี

          สมัยที่  3  (พ.ศ.  2521 - 2523)

          สมัยที่ 3 ซึ่งบริหารงานระหว่างปี พ.ศ. 2521 – 2523 มีอาจารย์ธนิต เธียรธนู เป็นประธานสภาอาจารย์ มีคณะกรรมการประกอบด้วย อาจารย์โสภณ กัมพลพันธ์ เป็นรองประธานสภาอาจารย์ อาจารย์สมจิต หนุเจริญกุล, อาจารย์วีระ วิเศษสินธ์, อาจารย์วิบูลย์  โชติสกุลรัตน์, อาจารย์นงนุช ศิริเดช, อาจารย์สมศรี เผ่าสวัสดิ์, อาจารย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ และอาจารย์วิทยา เมฆานันท์ เป็นเลขาธิการ

          งานชิ้นแรกของสภาอาจารย์คราวนี้ไม่ใช่เรื่องนักศึกษากับอาจารย์ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการคัดเลือกคณบดีคนใหม่ โดยที่ระหว่างนั้น  อาจารย์เปรม บุรี ทำหน้าที่รักษาการแทนคณบดีเป็นการชั่วคราว สภาอาจารย์ได้ทำหน้าที่ร่วมกับ รักษาการคณบดี ร่างกฎเกณฑ์การสรรหา และคัดเลือกคณบดี ตลอดจนดำเนินการคัดเลือกจนสำเร็จเรียนร้อยได้คณบดีคนใหม่คือ อาจารย์รจิต บุรี เป็นคณบดีคนที่ 2

          เป็นที่น่าสังเกตว่า ระยะสมัยที่ 3 นี้ เหตุการณ์ทางการเมืองได้คลี่คลายไปในทางสงบมากขึ้น แม้ว่านักศึกษาขอเราจำนวนหนึ่งจะหายไปไม่กลับมาเรียนหนังสือ ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับศิษย์จะดีขึ้นแล้วก็ตาม สภาอาจารย์ก็มิได้นิ่งนอนใจ เนื่องจากกรรมการชุดใหม่นี้เป็นนักกีฬาหลายท่าน จึงได้หันมาสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับศิษย์ โดยใช้การกีฬาเป็นสื่อกลาง ก็ปรากฏว่าได้ผลดีเป็นที่พอใจยิ่ง นอกจากจะได้จัดงานสังสรรค์แข่งขันกีฬาระหว่างอาจารย์กับอาจารย์ และอาจารย์ และอาจารย์กับศิษย์แล้ว ยังส่งเสริมกิจการกีฬาภายนอกคณะและเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาพญาไทด้วยตลอดสมัยนั้น

          งานอีกชิ้นหนึ่งของสภาอาจารย์รามาธิบดีชุดที่ 3 นี้ ก็คือ เรื่องการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ โดยหาทางแก้ไขข้อบกพร่องทั้งในส่วนของงานที่คณะทำเอง และส่วนที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการ ได้เข้าพบอธิการบดีสมัยนั้น คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์กษาณ  จาติกวณิช การก็สำเร็จเรียบร้อย ทำให้การขอตำแหน่งทางวิชาการรวดเร็วยิ่งขึ้น

          ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยของสภาอาจารย์ชุดนี้ และเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่นานก็คือ ปัญหาข้อพิพาททางวิชาการระหว่างอาจารย์สองภาควิชา ในเรื่องการผ่าตัดต่อไทรอยด์ รายละเอียดในเรื่องนี้จะปรากฏอยู่ในบทของภาควิชาโสต ศอ นาสิกฯ ของหนังสือเล่มนี้ จึงจะไม่ขอกล่าว แต่ขอบันทึกไว้ว่า สภาอาจารย์ชุดนี้ได้พยายามประนีประนอมอย่างที่สุดก็ไม่บังเกิดผลที่จะออกมชอมกันได้ ในที่สุดอาจารย์ภาควิชาโสตฯ จำนวน 4 คน ได้ประท้วงด้วยการลาออกอีก 3 คน ได้ขอย้ายตัวเองออกไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยราชการอื่นทำให้งานการเรียนการสอนและบริการประชาชนในภาควิชาโสต ศอ นาสิกฯ ต้องชะงักไประยะหนึ่ง คือ ประมาณ 1 ปี การศึกษา เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์  สำหรับงานบริหารวิชาการ และเป็นผลเสียต่อหมู่คณะ รวมทั้งชื่อเสียงของสถาบันการศึกษารามาธิบดี เพราะบุคคลภายนอกจะไม่มีทางเข้าใจได้ว่า เหตุใดผู้ที่เล่าเรียนมาสูง ถึงระดับเป็นแพทย์จึงไม่สามารถตกลงกันได้ เพื่อทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แท้จริงปัญหาที่เกิดเป็นเรื่องที่เกิดจากงานทางวิชาการ ที่มีลักษณะงานและการให้บริการเหลื่อมทับกัน ซึ่งเป็นธรรมดาของโรคภัยไข้เจ็บที่มักจะเหลื่อมทับกันบ้าง ผลจากการที่ไม่สามารถออมชอมได้นี้ นอกจากจะเสียหายในหน่วยงานโสต ศอ นาสิกฯ แล้ว สภาอาจารย์ยังต้องเสียกรรมการอีกหนึ่งท่าน ซึ่งมาจากภาควิชาโสต ศอ นาสิกฯ ต้องลาออกจากกรรมการสภาอาจารย์ไปด้วย

          สมัยที่  4  (พ.ศ.  2523  -  2525)

          สภาอาจารย์รามาธิบดีสมัยที่ 4 เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2523 ถึง 2525 ชุดนี้มีอาจารย์ศุภชัย โชติบุตร เป็นประธานสภาอาจารย์ มีคณะกรรมการประกอบด้วย อาจารย์โสภณ พานิชพันธ์ เป็นรองปรานสภาอาจารย์, อาจารย์เพลินจิตต์ ศิริวันสาณฑ์,  อาจารย์บุญปรีดี ศิริวงศ์, อาจารย์ประพิตร สุทัศน์ ณ อยุธยา, อาจารย์วิเศษ สุพรรณชาติ, อาจารย์อมรชัย หาญผดุงธรรมะ, อาจารย์มาลี เลิศมาลีวงศ์ และอาจารย์สมพล พงศ์ไทย เป็นเลขาธิการ เมื่อเริ่มงานได้มีการเปลี่ยนแปลกรรมการ 1 คน คือ อาจารย์สมพล  พงศ์ไทย ได้ขอลาออกจากกรรมการ และตำแหน่งเลขาธิการว่างลง อาจารย์วิวัฒน์วงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา สมัครเป็นกรรมการและเลขาธิการ โดยไม่มีการเลือกตั้งซ่อมเพราะไม่มีผู้อื่นสมัคร ยุคนี้แทบจะเรียกได้ว่า เป็นยุคของความสงบสุขโดยแม้ไม่มีปัญหาหนักหนาอันใด สภาอาจารย์จึงได้ปฏิบัติหน้าที่ในด้านการให้บริการกว่าการแก้ไขปัญหา ซึ่งสรุปได้ดังนี้
          1. สวัสดิการสภาอาจารย์ ได้ทำการรวบรวมระเบียบราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสวัสดิการของอาจารย์ เช่น สิทธิการลา สิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาล ทั้งของตนเองและญาติสายตรง และได้พิมพ์รายละเอียดที่สำคัญในด้านสวัสดิการแจกแก่คณาจารย์ในคณะฯ
          2. สภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล จากการที่กิจการสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลได้ถูกละเลยไปตั้งแต่เหตุการณ์วันมหาวิปโยค สภาอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ได้มาติดต่อขอให้ร่วมในการรื้อฟื้นกิจการด้านนี้ขึ้นในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง สภาอาจารย์รามาธิบดีได้มีส่วนร่วมในการนี้อย่างใกล้ชิดตั้งแต่การร่วมประชุมปรึกษาระหว่างผู้แทนของอาจารย์จากคณะฯ และสถาบันทุกแห่งในมหาวิทยาลัย ร่วมกันร่างระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ จนกระทั้งได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการ โดยอาจารย์กิจเกษม จินดา  ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภาคณาจารย์คนแรกในยุครื้อฟื้นนี้ ในการนี้อาจารย์โสภณและอาจารย์มาลี ได้ร่วมอยู่ในกรรมการชุดแรกด้วย และกิจการสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยก็ได้ดำเนินมาด้วยดีจนปัจจุบัน
          3. ทำเนียบอาจารย์รามาธิบดี 2526 เนื่องจากสภาอาจารย์รามาธิบดีเคยจัดพิมพ์ทำเนียบอาจารย์เป็นครั้งแรกในสมัยที่อาจารย์ถนอมศรี ศรีชัยกุล เป็นปรานสภาฯ และไม่ได้มีการจัดพิมพ์อีกเป็นเวลา 5 ปี คณะกรรมการสภาอาจารย์ชุดนี้จึงดำริให้จัดพิมพ์ทำเนียบอาจารย์ พ.ศ. 2526 นั้น โดยมอบหมายให้เลขาธิการทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการและคณะกรรมการทางอื่นช่วยกันรวบรวมข้อมูล ประวัติของคณาจารย์ในคณะฯ รวมทั้งช่วยกันหาเงินอุดหนุนสำหรับค่าพิมพ์ เนื่องจากมีอุปสรรค์ทางเทคนิคบางประการ ทำเนียบเล่มนี้ จึงพิมพ์ออกมาล่าช้ากว่ากำหนดขึ้นพิมพ์เสร็จและแจกจ่างให้คณาจารย์ในคณะฯ ได้ในสมัยของสภาอาจารย์ชุดที่ 5 ซึ่งมีอาจารย์โสภณ เป็นประธาน
          4. งานเลี้ยงสังสรรค์ อาจารย์รามาธิบดีในช่วงสุดท้ายของการทำงานของสภาอาจารย์ชุดนี้ คณะกรรมการได้มีมติร่วมกันว่าควรจะจัดงานสังสรรค์ภายในของคณาจารย์ในคณะฯ ซึ่งก่อนหน้ามีนโยบายไม่สนับสนุนในการจัดงานปีใหม่ กิจกรรมทางสังคมของคณาจารย์ในคณะฯ   ซึ่งดูซบเซาไปงานเลี้ยงสังสรรค์ครั้งนี้ ได้รับความ ร่วมมือจาก อาจารย์พูนพิศ อมาตยกุล กรุณาจัดวงดนตรีไทยมาให้ความบันเทิงในตอนเริ่มงานแล้วดึกต่อด้วยวงดนตรีของนักศึกษาแพทย์ โดยคณาจารย์ได้ร่วมลีลาศรำวงกันครึกครื้นสมดังความมุ่งหมายของคณะกรรมการจัดงาน ค่าใช้จ่ายในการจัดงานครั้งนี้ใช้เงินที่เหลือจากเงินอุดหนุนการพิมพ์ ทำเนียบอาจารย์ จึงไม่ได้รบกวนคณาจารย์ที่มาร่วมงานแต่อย่างใด
          5. งานแข่งขันกีฬาภายในหมู่อาจารย์ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2524 มีการแข่งขันเทนนิส ปิงปอง และแบดมินตัน โดยให้ภาควิชาต่าง ๆ   ส่งผู้ร่วมแข่งขันประเภทละ 4 คน ทำการแข่งขันเป็นคู่ ๆ จนหมดทุกคู่ในแต่ละประเภท แล้วตัดสินโดยดูจากคะแนนรวมทุกคู่ของแต่ละทีมและตอนเย็นเป็นงานเลี้ยงสังสรรค์

          สมัยที่  5  (พ.ศ.  2525  -  2527)

          สมัยที่ 5 เป็นระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2525 ถึง 2527 จัดเป็นระยะเวลาแห่งความสงบสขุของรามาธิบดี อีกระยะหนึ่ง อาจารย์โสภณ พานิชพันธ์ ทำหน้าที่เป็นประธานสภาอาจารย์ มีคณะกรรมการประกอบด้วย อาจารย์อรพินธ์ เจริญผล เป็นรองประธานสภาอาจารย์,  อาจารย์อมรา ปานทับทิม, อาจารย์สุรีรัตน์ ศรีสวัสดิ์, อาจารย์สมชัย ปรีชาสุข, อาจารย์เนตรนภา ขุมทอง, อาจารย์อรสา  พันธ์ภักดี,  อาจารย์อมรชัย หาญผดุงธรรมะ และอาจารย์ประวิทย์ เลิศวีระศิริกุล เป็นเลขาธิการ

           สภาอาจารย์ชุดนี้ทำหน้าที่เสนอข้อแนะนำและให้ คำปรึกษาต่อคณบดี และกรรมการประจำคณะฯ ในเรื่องนโยบายต่าง ๆ และประเมินผลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของคณะฯ เป็นตัวแทนของคณาจารย์ในการติดต่อกับองค์กรอื่น ๆ ดำเนินการใด ๆ ตามที่สภาอาจารย์เห็นควรเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม สภาอาจารย์มีหน้าที่พิทักษ์สิทธิและเสรีภาพอันชอบธรรมของอาจารย์ มีผลงานคือ

          1. เริ่มออกหนังสือสภาอาจารย์รามาธิบดี รายเดือนเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ ทั้งทางด้านข่าวสาร ความคิดเห็น และบทความจากอาจารย์ในคณะฯ ปรากฏว่าหนังสือนี้ได้รับความสนใจและสนับสนุนอย่างดีจากอาจารย์ในคณะ โดยเฉพาะอาจารย์ดิเรก  อิศรากูล ณ อยุธยา สมัครใจที่จะบริจาคเงิน 50 บาททุกเดือนแก่สภาอาจารย์เพื่อการนี้

          2. เป็นกรรมการชุดแรกที่กล้าเสี่ยงต่อคำครหาต่าง ๆ เมื่อเอาหนังสือทำเนียบอาจารย์รามาธิบดี ซึ่งได้ทำขึ้นตั้งแต่คณะกรรมการ สมัยที่ 4 มาเสร็จเอาสมัยที่ 5 นี้ ออกแจกให้กับอาจารย์ทุกท่าน และขอให้อาจารย์บริจาคเงิน 50 บาท ตามความสมัครใจ ปรากฏว่าอาจารย์ส่วนใหญ่ก็ให้การสนับสนุนดี

          3. เสนอโครงการ nursery สำหรับอาจารย์ที่มีเด็กเล็กที่ต้องดูแลขณะทำงานในคณะ กับโครงการจัดตั้งสโมสรอาจารย์ขึ้น เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนใจในเวลานอกราชการ ผู้บริหารในสมัยนั้นไม่สามารถสนองตอบได้ ทั้งสองโครางการจึงต้องเลิกไป
          4. ได้เริ่มบริการการเยี่ยมเยียน โดยมีของขวัญเล็กน้อยจากสภาอาจารย์ ในกรณีที่อาจารย์เกิดเจ็บป่วยต้องนอนพักในโรงพยาบาล   ปรากฏว่าอาจารย์ที่ได้รับการเยี่ยมก็รู้สึกพอใจทุกราย 5. ได้ร่วมประชุมกับคณะกรรมการจอดรถหลายครั้ง ในการพิจารณาระเบียบการจอดรถ ตลอดจนถึงการวางแผนสร้างที่ จอดรถใหม่
          6. ได้จัดให้มีรายการบันเทิง มีทั้งการละเล่น ขับร้อง และเล่นดนตรีโดยอาจารย์ในคณะ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียด จำนวนสองครั้ง ซึ่งได้รับความสนใจจากอาจารย์ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในคณะเป็นอย่างมาก 
          7. ได้เชิญ พลเอกหาญ ลีนานนท์ มาบรรยายเรื่อง  "อิทธิพลมืดกับความมั่นคงของประเทศ" ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2

          สมัยที่  6  (พ.ศ.  2527  - 2529)

          สมัยที่ 6 เป็นสมัยแห่งความเรียบร้อยไม่มีข้อพิพาทอีกสมัยหนึ่งที่สภาอาจารย์รามาธิบดี ดำเนินการไปในทางส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ และสวัสดิการของอาจารย์ชุดนี้ มีอาจารย์วีระสิงห์ เมืองมั่น เป็นประธานสภาอาจารย์ มีคณะกรรมการประกอบด้วย อาจารย์ ศิริเพ็ญ พัววิไล เป็นรองประธานสภาอาจารย์, อาจารย์สุทัศน์ ศรีพจนารถ, อาจารย์กิติมา ศรีวัฒนกุล, อาจารย์สุขสมร  ประพัฒน์ทอง,  อาจารย์วัลลา ตันตโยทัย และอาจารย์ปรีชา โตวรานนท์ เป็นเลขาธิการ ประธานสภาอาจารย์

          ได้ให้บันทึกว่า เมื่อ 10 ปี มาแล้วสภาอาจารย์ได้ถือกำเนิดมาด้วยความร่วมมือร่วมใจของบรรดาอาจารย์ ในขณะนั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ร่วมแรงร่วมใจของอาจารย์ต่อต้านพลังนักศึกษา ซึ่งเล่นการเมือง ในสมัยต่อมาสภาอาจารย์ฯ มีกิจกรรมตามความประสงค์ของอาจารย์ด้วยเหตุที่ว่า สภาอาจารย์ฯ คือตัวแทนอาจารย์ในการเชื่อมโยงความสามัคคีงานด้านวิชาการ บริการและสวัสดิการ มาในสมัยนี้ซึ่งเป็นสมัยที่ 6   สภาอาจารย์ฯ  ได้สนองความต้องการของอาจารย์ไปแล้ว อาทิ เช่น ปัญหาลดค่าเงินบาทได้เชิญตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทยมาบรรยาย  การบรรยายเรื่อง "ทางด่วนพิเศษในอนาคต" โดยผู้ว่าการ ทางพิเศษแห่งประเทศไทย นายจรัญ บุรพรัตน์  ทำให้อาจารย์ได้ทราบผลกระทบของ ทางด่วนพิเศษที่จะผ่านมาหน้าโรงพยาบาลรามาธิบดี การบรรยายของแพทย์ดีเด่นชนบทคือ  นายสำเริง แหยงกระโทรก ซึงบรรยายถึงประวัติและการทำงานของเขา และในเรื่องการจราจรสับสนในโรงพยาบาล สภาอาจารย์ได้หาข้อมูลและเสนอแนวทางการแก้ไขไปยังคณะฯ ซึ่งคณะได้แก้ไขจนบรรดาอาจารย์ได้รับความพอใจพอควร การออกแบบสอบถามเรื่องการใช้ที่ว่างอาคารนารายณ์ให้เป็นประโยชน์โดยทำร้านหนังสือ  หรือร้านอาหาร การจัดการแสดงบนเวทีเพื่อความบันเทิงและเชื่อมความสามัคคี เป็นต้น

          สมัยที่  7  (พ.ศ.  2529  -  2531)

          สมัยที่ 7 ของสภาอาจารย์รามาธิบดี เป็นสมัยที่หนังสือนี้กำลังพิมพ์พอดี ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นกรรมการครั้งนี้ ซึ่งเป็นศิษย์รามาธิบดีเกือบทั้งหมด ได้เข้าเริ่มงานบริหารตั้งแต่เดือนเมษายน 2529 มีอาจารย์บุญชู กุลประดิษฐารมย์ ศิษยเก่ารามาธิบดี รุ่นที่ 1  เป็นประธานสภาอาจารย์ มีคณะกรรมการประกอบด้วย อาจารย์สิริมานะ รัตนปราการ เป็นรองประธานสภาอาจารย์, อาจารย์ชลีรัตน์  ดิเรกวัฒนชัย, อาจารย์ดรุณี ชุณหะวัติ, อาจารย์ประเสริฐ ไตรรัตน์วรกุล, อาจารย์รุจิเรศ ธนูรักษ์, อาจารย์วีระ สินพรชัย, อาจารย์สมมาตร แก้วโรจน์, และอาจารย์ปรีชา โตวรานนท์ เป็นเลขาธิการ

          งานประเดิมเริ่มแรกของสภาอาจารย์สมัยที่ 7 นี้เป็นการจัดงานร่วมกับคณะแสดงความชื่นชมยินดีกับอาจารย์ของเรา 3 ท่าน  ที่มีผลงานดีเด่นจนได้รับรางวัลคือ ศาสตราจารย์อารี วัลยะเสวี รางวัลงานวิจัยดีเด่นจากสภาวิจัยแห่งชาติ, อาจารย์วันดี วราวิทย์  รางวัลดีเด่นสาขาการวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์จิรพรรณ มัธยมจันทร์ อดีตผู้อำนวยการ ผู้ได้รับรางวัลงานบริการดีเด่น  จากมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้สภาอาจารย์ชุดนี้ได้เสนอชื่อและผลงานของอาจารย์ภัทรพร อิศรางกูร ณ อยุธยา ในการสรรหาอาจารย์  ตัวอย่างของสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งอาจารย์ภัทรพร ได้รับเกียรติให้เป็นอาจารย์ตัวอย่างสำหรับ ปีการศึกษา  2529 -2530   และได้รับโล่เกียรติยศ

          ท้ายบท          

          กิจกรรมสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การที่รามาธิบดี ได้มีเพลงประจำคณะเกิดขึ้นโดยฝีมือของอาจารย์ท่านหนึ่งของเราคือ อาจารย์วราวุธ สุมาวงศ์ (วราห์ วรเวช) นับเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ที่รามาธิบดีได้มีเพลงประจำสถาบันของตนเอง แต่งและร้องโดย อาจารย์ของเราเอง และได้บันทึกเทปเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519

          ในนอดีต นับตั้งแต่สภาอาจารย์รามาธิบดีได้ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2517 นั้น มักจะมีผู้กล่าวย้ำเสมอว่า สภาอาจารย์รามาธิบดี เกิดขึ้นมาเพราะความจำเป็นในการรวมพลังเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อครั้งที่เปิดปฏิกิริยาทางการเมืองของนิสิต นักศึกษา แล้ว ปฏิกิริยานั้นพาดพิงมาถึงการดำเนินชีวิต และการทำงานของอาจารย์ บัดนี้ เหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งดีและร้ายก็ได้ผ่านพ้นหมดสิ้นไปแล้ว  เหลืออยู่แต่ว่า เราจะต้องช่วยกันสนับสนุนกิจการของสภาอาจารย์ต่อไป 

          นับตั้งแต่ต้นเรื่องของบทความฉบับนี้มาจนถึงบรรทัดนี้ เราไม่เคยได้เอ่ยถึงอาจารย์อีกท่านหนึ่งซึ่งมีความสำคัญในประวัติของการก่อตั้งสภาอาจารย์รามาธิบดี และสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลตั้งแต่แรกเริ่ม ท่านผู้นี้คืออาจารย์สิระ บุณยรัตเวช ซึ่งปัจจุบัน  (พ.ศ. 2528)  ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ ของรามาธิบดี อาจารย์สิระ อาจารย์และสภาคณาจารย์ทั้งของรามาธิบดีและของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับการแต่งตั้งจากคณะให้ไปทำหน้าที่สำคัญนี้ในระดับมหาวิทยาลัย

          บรรณาธิการหนังสือฉบับนี้ ได้ตั้งใจจะกล่าวถึงอาจารย์สิระ เป็นรายสุดท้าย ด้วยข้อความสำคัญที่ท่านได้เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่ง  ในการประชุมสภาคณาจารย์ว่า

           "ในภาษาไทยของเรานี้มีคำเด่น ๆ ที่ให้ความหมายของการรวมพลังในการปฏิบัติการงานอยู่ 5 คำ ทุกคำขึ้นด้วยตัว ส.เสือ ทั้งสิ้น  ได้แก่คำว่า สโมสร สมาคม สหกรณ์  สหพันธ์ และคำว่า สภา ขอให้เราสังเกตว่าทุกคำนี้มีความหมายแตกต่างกันมาก สโมสรนั้น  เป็นการรวมตัวกันทำงานเพื่อความบันเทิง เป็นเรื่องของนันทนาการและสวัสดิการ สมาคมนั้นเป็นเรื่องของการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมของกลุ่มคนพวกเดียวกัน เช่น ตระกูลเดียวกัน หรือจังหวัดเดียวกัน ส่วนมากก็เป็นเรื่องของสวัสดิการ และการหารายได้ สหกรณ์นั้นเป็นเรื่องของการลงทุนร่วมกัน และใช้ประโยชน์ในกองทุนนั้นร่วมกัน และใช้ประโยชน์ในกองทุนนั้นร่วมกัน และสหพันธ์นั้นก็หน่วยงานที่รวบรวมพลังเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของกลุ่มและมักจะมีการกระทำกิจกรรมร่วมในลักษณะ กลุ่มดำเนินการทั้งในทางบวกและทางลบ เช่นการเรียกร้องสิทธิ์ต่าง ๆ  แต่คำว่าสภานั้นไม่เหมือนคำเหล่านั้นเลย โปรดสังเกตว่า คำว่า สภานี้ คือที่รวบรวมความคิดเห็นของกลุ่มชนที่เป็นนักวิชาการ ให้เป็นความคิดอันหนึ่งอันเดียวกัน มีหน้าที่แตกต่างไปจากสมาคม สโมสร สหกรณ์ และสหพันธ์มาก ทุกวันนี้ เป็นห่วงแต่ว่าบรรดาอาจารย์หรือแม้แต่ผู้บริหาร ตลอดจนคณะกรรมการสภาอาจารย์จะเข้าใจซึ่งถึงความหมายของคำว่า สภาอาจารย์เพียงใด เราอาจจะเดินเฉไปหาคำทั้ง 4 ดังกล่าว แล้วลืมคำที่เป็นหลัก คือ  คำว่า "สภา" ไปเสีย จึงขอฝากไว้ว่า คำว่า "Senate หรือ สภา" นั้น เป็นคำที่ยิ่งใหญ่และเป็นเสมือนหนึ่งหางเสือของเรือทีเดียว สมาชิกที่เป็นอาจารย์ทั้งหลายนั้นจะต้องฟัง สภาอาจารย์ เพราะความคิดเห็นของ  สภาอาจารย์ฯ  เป็นความคิดเห็นร่วมของอาจารย์ทั้งหลาย ทุกวันนี้  สภาอาจารย์ยังมีความเป็น "สภา" น้อยเกินไป โดยเฉพาะฝ่ายบริหารแล้ว ควรจะต้องยกย่องและฟังเสียงของสภาอาจารย์ด้วย แต่สำหรับบ้านเราก็เห็นกันอยู่แล้ว สภาอาจารย์เป็นอย่างไร บางครั้งเรามอง วัยวุฒิเสียจนชิน กลายเป็นว่า สภาอาจารย์ฯ  อยู่ในความครอบคลุมของฝ่ายบริหาร"

          จึงหวังว่า สภาอาจารย์รามาธิบดี คงจะยืนยงวัฒนาถาวรต่อไปสมดังที่ท่านผู้วางหลักการสภาอาจารย์ได้มอบให้และเตือนไว้  ณ ที่นี้ 

สภาอาจารย์ "Ramathibodi Faculty Senate"

กรรมการ     "Ramathibodi Faculty Senator"