5มะเร็งกระเพาะอาหาร
หน้าแรก
มะเร็งกระเพาะอาหาร รักษาให้หายขาดได้หรือไม่?
มะเร็งกระเพาะอาหาร รักษาให้หายขาดได้หรือไม่?

โรคมะเร็งเป็นโรคร้ายอันดับต้น ๆ ที่อันตรายถึงชีวิต บางตำแหน่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่บางตำแหน่งก็ไม่สามารถรักษาได้ ซึ่งต้องทำความเข้าใจเป็นกรณีไป อย่างเช่นครั้งนี้ข้อมูลที่ทางเรานำมาเสนอก็เป็นเรื่องของมะเร็งกระเพาะอาหาร เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันว่าสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่อย่างไร

ตำแหน่งของกระเพาะอาหารในร่างกายคนเราอยู่บริเวณใกล้กับลิ้นปี่ มีลักษณะเป็นถุงทำหน้าที่คอยรับอาหารที่ถูกกลืนลงมาจากปาก และมีหน้าที่เก็บอาหาร รวมถึงย่อยอาหารให้เล็กลง ก่อนจะส่งผ่านลงไปดูดซึมในลำไส้เล็ก

มะเร็งกระเพาะอาหาร

คือการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร ทำให้มีการเจริญเติบโตอย่างไม่มีการควบคุม และในที่สุดเกิดการลุกลามไปตามอวัยวะข้างเคียง กระทั่งเกิดการกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด ตับ เป็นต้น สามารถเกิดได้ทุกตำแหน่งในกระเพาะอาหาร แต่ที่พบบ่อยคือส่วนปลายของกระเพาะอาหาร แต่ปัจจุบันตำแหน่งที่พบอยู่สูงขึ้นเรื่อย ๆ

สาเหตุของโรค

คือส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารหมักดอง อาหารปิ้งย่าง ส่วนอาการของโรคขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็งในกระเพาะอาหาร หากอยู่สูงใกล้กับหลอดอาหาร จะทำให้มีอาการกลืนลำบาก หรือถ้าหากอยู่ส่วนปลายของกระเพาะอาหารที่ต่อกับลำไส้เล็ก จะทำให้เกิดอาการกระเพาะอาหารอุดตัน ทานอาหารเข้าไปแล้วรู้สึกท้องอืด แน่นท้อง แม้จะทานเข้าไปในปริมาณไม่มาก ทำให้ทานอาหารได้น้อยลง บางครั้งส่งผลให้เกิดการอาเจียนได้หลังทานอาหารเข้าไป

การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะแรก คนไข้จะไม่มีอาการ แต่จะพบแพทย์ด้วยอาการท้องอืด แน่นท้อง ทานอาหารเข้าไปแล้วปวดท้อง คล้ายกับโรคกระเพาะอาหาร ระยะนี้รักษาโดยการผ่าตัด หากมะเร็งยังอยู่ที่เยื่อบุกระเพาะอาหารและคนไข้ไม่มีอาการ ตรวจพบจากการส่องกล้อง จะรักษาโดยการใช้กล้องส่องทางเดินอาหารแล้วเข้าไปตัดเฉพาะเยื่อบุกระเพาะอาหารออก
  • ระยะสอง มะเร็งเริ่มมีขนาดโตขึ้นแต่ยังไม่ไปติดอวัยวะข้างเคียง รักษาโดยการตัดกระเพาะอาหารออก
  • ระยะที่สาม มะเร็งมีการกระจายไปติดอวัยวะข้างเคียง ทำให้เลาะกระเพาะอาหารออกได้ไม่หมด หรือมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะทำการผ่าตัดออกทั้งหมด รวมถึงเลาะต่อมน้ำเหลืองออกด้วย
  • ระยะสุดท้าย มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะไกล ๆ เช่น ปอด ตับ ต่อมน้ำเหลืองไกล ๆ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แพทย์จะรักษาโดยการให้เคมีบำบัด

สำหรับการทำคีโมเพื่อรักษาคือการให้ยาในการรักษามะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งจะให้คีโมเพื่อควบคุมตัวโรคไม่ให้เพิ่มจำนวนขึ้น หรือในคนไข้ที่มีโรคอยู่เยอะไม่สามารถตัดออกได้ การทำคีโมจะมีจุดประสงค์เพื่อพยายามควบคุมไม่ให้มะเร็งโตขึ้น หรือควบคุมให้มีจำนวนเท่าเดิมหรือลดลง เพื่อลดอาการของผู้ป่วย

การพิจารณาเพื่อให้คีโม

แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ คนไข้ที่เป็นไม่มาก (ระยะที่ 1, 2, 3) ซึ่งสามารถผ่าตัดได้ กลุ่มนี้จะรักษาโดยการผ่าตัดซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่มีความเสี่ยงที่โรคจะกำเริบ หลังผ่าตัดควรได้รับเคมีบำบัด และอาจได้รับรังสีรักษาร่วมด้วย เพื่อลดอาการกำเริบ แต่ในกรณีที่คนไข้มีอาการอยู่ในระยะที่ 4 จะไม่สามารถผ่าตัดได้ มีโรคในร่างกายค่อนข้างมาก จึงต้องให้เคมีบำบัดเพื่อควบคุมโรคและลดอาการของโรค

การเตรียมตัวก่อนทำคีโม

คือ พักผ่อนให้เต็มที่ รับประทานอาหารให้เต็มที่ ไม่ควรงดอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ร่างกายจำเป็นต้องได้รับการบำรุง เพื่อรับยาและฟื้นตัวได้หลังรับยา นอกจากนี้ก่อนทำคีโมไม่ควรใช้ยาอื่น ๆ เช่น ยาไทย ยาจีน ยาสมุนไพร เพราะอาจทำให้การทำงานของตับไตผิดปกติ

อาการข้างเคียงจากการทำคีโม

ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย คนไข้ต้องพักผ่อนให้มาก ๆ รับประทานอาหารที่ย่อยง่ายและสุกสะอาด ระวังเรื่องการติดเชื้อ พยายามอย่าเครียด ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ และติดตามการรักษากับแพทย์ผู้รักษาอย่างต่อเนื่อง

การรักษาด้วยวิธีฉายแสง

เป็นการรักษามะเร็งอย่างหนึ่ง ปกติรังสีที่ฉายเป็นเหมือนเอกซเรย์ธรรมดา เหมือนเอกซเรย์ปอด แต่พลังงานของรังสีสูงกว่ามาก โดยรังสีจะไม่ร้อนและไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ การเตรียมตัวเพื่อรับการฉายแสง คือพยายามทำให้ร่างกายแข็งแรง ได้รับอาหารครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ

ผลข้างเคียงของการฉายแสง

คือผู้ป่วยจะต้องได้รับเคมีบำบัดร่วมด้วย อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีอาการกดไขกระดูกคือมีเม็ดเลือดต่ำ ทำให้คนไข้มีไข้หรือติดเชื้อได้ง่าย

หลังการรักษาโดยการผ่าตัด

คนไข้จะไม่มีกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารเข้าสู่อวัยวะอื่น นั่นก็คือลำไส้เล็กที่ถูกผ่าตัดไปต่อกับหลอดอาหารโดยตรงแทนกระเพาะอาหาร ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง คนไข้จึงต้องปรับพฤติกรรมการทานอาหาร โดยการทานน้อยลงแต่ทานบ่อยขึ้น นอกจากนี้เมื่อไม่มีกระเพาะอาหารจะทำให้การย่อยอาหารลำบากมากขึ้น เพราะไม่มีน้ำย่อย คนไข้จึงจำเป็นต้องเคี้ยวนานขึ้น เพื่อให้อาหารมีโมเลกุลเล็กเพียงพอต่อการดูดซึมที่ลำไส้เล็ก เนื่องจากลำไส้เล็กจะสามารถดูดซึมอาหารได้เมื่อมีโมเลกุลขนาดเล็ก หลังจากปรับพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ร่างกายเกิดการปรับตัวและรับประทานได้มากขึ้น เพราะลำไส้เล็กจะเกิดการขยายตัว และสามารถรับอาหารได้มากขึ้น

แนวทางการปฏิบัติหลังการรักษาอื่น ๆ นอกจากการปรับพฤติกรรมการทานอาหาร คือพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายตามสะดวก และติดตามการรักษาตามแพทย์นัดอย่างต่อเนื่อง

 

ข้อมูลจาก
ร.ท. นพ.สุริยะ จักกะพาก ร.น สาขาวิชาศัลยศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาศัลยศาสตร์
ผศ. ร.อ. นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
ผศ. พญ.ชมพร สีตะธนี สาขาวิชารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ภาควิชารังสีวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “Hope | EP.10 มะเร็งกระเพาะอาหาร ตอนกำลังใจ | ก.ย. 58” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง การ ฉีดอินซูลินด้วยตัวเอง เป็นวิธีการรักษาที่แพทย์แนะนำให้แก่ผู้ป่วย โรคเบาหวาน เพราะจะสามารถช่วยรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดได้
การฉีดอินซูลินด้วยตัวเอง เป็นวิธีการรักษาที่แพทย์แนะนำให้แก่ผู้ป่วยโรคเบาหวานเพราะจะสามารถช่วยรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดได้
บทความสุขภาพ
24-04-2024

1

ภาวะขาดน้ำ ที่ผู้สูงอายุต้องระวัง ยิ่งในช่วงหน้าร้อน อากาศแห้งทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำได้ง่าย จะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ได้อย่างไร มาทำความเข้าใจเพื่อนำไปป้องกันก่อนจะเกิดภาวะนี้กับร่างกาย
บทความสุขภาพ
24-04-2024

6

บทความ เรื่อง ไส้ติ่งอักเสบ อาการเริ่มต้น จะมีอาการ ปวดท้องข้างขวา แบบเฉียบพลันที่ไม่สามารถหายเองได้ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้
ไส้ติ่งอักเสบ จะมีอาการเริ่มต้นคือปวดท้องข้างขวาแบบเฉียบพลันที่ไม่สามารถหายเองได้ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้
บทความสุขภาพ
18-04-2024

2

บทความเรื่อง โรคคางทูม เกิดจาก การใช้ หลอดดูดน้ำ เดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อได้
โรคคางทูม เกิดจากการใช้หลอดดูดน้ำเดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
บทความสุขภาพ
17-04-2024

4