บทความ ธ.ค._๑๗๑๒๐๖_0006
หน้าแรก
โอกาสหายขาดจากการติดเชื้อเอชไอวี
โอกาสหายขาดจากการติดเชื้อเอชไอวี

ในอดีตผู้ติดเชื้อเอชไอวีโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเอดส์มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมาก หรือแทบจะไม่เหลือความหวังในการใช้ชีวิตให้เหมือนกับคนปกติได้เลย ทำให้ทางการแพทย์มุ่งเน้นในเรื่องของการรักษาโรคนี้อย่างต่อเนื่องมาหลายสิบปี กระทั่งปัจจุบันมีวิวัฒนาการเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีช่วยให้ผู้ป่วยมีความหวังอีกครั้ง

ย้อนกลับไปเมื่อสมัย 20 ปีก่อนการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีนั้นผู้ป่วยต้องกินยาต้านเอชไอวีจำนวนมาก อาจจะสูงถึงประมาณ 15-20 เม็ดต่อวัน กระทั่งมีการพัฒนาเรื่อยมาโดยมีการรวมยา 3 ชนิดเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ผู้ป่วยกินยาน้อยลงเพียงแค่วันละ 1 เม็ด และพัฒนายาให้มีผลข้างเคียงน้อยลงด้วย เพราะในอดีตยาที่ใช้รักษามักมีผลข้างเคียงหลายอย่าง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และผื่นแพ้ยา เป็นต้น

โดยการกินยารักษาการติดเชื้อเอชไอวีนั้นจะต้องกินให้ครบและตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน เป็นข้อปฏิบัติที่เคร่งครัด เพื่อประสิทธิภาพในการรักษา และจะต้องกินไปตลอดชีวิต จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน

แต่ในปัจจุบันยังมีการพัฒนายารักษาการติดเชื้อเอชไอวีอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ได้มีการพัฒนายาชนิดฉีดและได้มีการศึกษาวิจัยในผู้ติดเชื้อแล้วโดยเป็นยาต้านเอชไอวี 2 ชนิดฉีดพร้อมกัน เพื่อช่วยให้ไม่ต้องกินยาทุกวัน โดยการฉีด 1 ครั้ง จะอยู่ได้นาน 1-2 เดือน คาดว่าเมื่อผลการศึกษาเสร็จสิ้นเรียบร้อย จะได้มีการรับรองให้ใช้ในผู้ติดเชื้อเอชไอวีต่อไป

สำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบัน

ยังคงเป็นหลักการที่ยายับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวีเท่านั้น แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนปกติ และมีอายุขัยใกล้เคียงคนปกติ แต่การรักษาที่ทำให้หายขาดยังคงอยู่ในระหว่างการพัฒนา ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่หายขาดเพียงคนเดียวเท่านั้นในโลกนี้ที่ผ่านการยืนยันว่าหายจากการติดเชื้อเอชไอวีจริง เป็นชาวต่างชาติที่ติดเชื้อเอชไอวีมานาน และป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวร่วมด้วย โดยผู้ป่วยคนดังกล่าวได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกเพื่อรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งเซลล์ที่ปลูกถ่ายเป็นเซลล์ชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติในการต้านทานการติดเชื้อเอชไอวี ทำให้เชื้อเอชไอวีไม่กลับมาอีก หลังจากติดตามผลการรักษาเกือบ 10 ปียังพบว่าผู้ป่วยรายนี้ไม่ต้องกินยาต้านเอชไอวีอีก ก็สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ และตรวจแทบไม่พบเชื้อเอชไอวีในตัว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการปลูกถ่ายไขกระดูกยังมีข้อจำกัดเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้าน แต่ต้องหาไขกระดูกที่เข้ากันได้ อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ เซลล์ใหม่ที่ใส่เข้าไปในร่างกายต้านกับเซลล์เก่า หรือผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีบำบัดรวมถึงการฉายแสงทั่วร่างกาย ซึ่งมีความเสี่ยงมาก แต่ผู้ติดเชื้อรายนี้ก็สามารถรอดพ้นจากภาวะแทรกซ้อนและหายขาดจากการติดเชื้อเอชไอวีได้นับว่าโชคดีมาก

สำหรับการวิจัยในเรื่องการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาดในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 3 วิธี

  • วิธีแรกคือ การปลูกถ่ายไขกระดูกดังเช่นผู้ป่วยที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
  • วิธีที่ 2 คือ การเริ่มยาต้านเอชไอวีอย่างเร็วภายใน 2 สัปดาห์แรกก่อนที่ผลการตรวจ anti-HIV จะเป็นบวก ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่อยู่ในการศึกษานี้ ยังมีผล anti-HIV ที่เป็นลบหลังการรักษา
  • วิธีที่ 3 คือ การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แต่การศึกษาวิธีอื่น ๆ นี้ยังได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร

ทั้งนี้การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวียังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดและการที่ให้ได้รับการวินิจฉัยเร็ว เพื่อเข้าสู่การรักษา หากพบว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ควรตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี หากพบว่ามีการติดเชื้อจะได้รับการรักษาได้ทันท่วงที เพราะปัญหาในปัจจุบันที่พบคือ การที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองว่าติดเชื้อ และเมื่อมาพบแพทย์มักมีอาการหนักมากแล้วหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายและรักษายาก

ทั้งนี้สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับการรักษาอยู่แล้ว ควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเพราะปัญหาที่พบบ่อยคือ การรักษาที่ไม่ต่อเนื่อง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ทำให้รักษาได้ยาก

กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงที่แนะนำให้ควรตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี

ได้แก่ ชายรักชาย ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน มีคู่นอนหลายคน และใช้ยาเสพติดชนิดฉีดร่วมกัน ส่วนอีกกลุ่มที่แนะนำคือหญิงตั้งครรภ์ที่ควรได้รับการฝากครรภ์และตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีทุกรายเพื่อรับยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกในกรณีที่มีการติดเชื้อเอชไอวี

โดยสรุป การรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาดในปัจจุบันทางการแพทย์ยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยและคิดค้นอย่างต่อเนื่อง และการหายขาดจากการติดเชื้อเอชไอวียังคงมีผู้ป่วยเพียงรายเดียวเท่านั้นที่สามารถหายได้จริง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การทราบว่าตนเองมีความเสี่ยง และเข้ารับการตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวี เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุด

 

ข้อมูลจาก
ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “วิวัฒนาการรักษาโรคเอดส์ : พบหมอรามา ช่วง Meet The Experts” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง โรคคางทูม เกิดจาก การใช้ หลอดดูดน้ำ เดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อได้
โรคคางทูม เกิดจากการใช้หลอดดูดน้ำเดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
บทความสุขภาพ
17-04-2024

1

บทความเรื่อง ยาระบาย แก้ท้องผูก ได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้นยาระบายช่วยให้อาการ ท้องผูก หายได้เบื้องต้น
ยาระบาย แก้ท้องผูกได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้น ยาระบายช่วยให้อาการท้องผูกหายได้เบื้องต้นเท่านั้น
บทความสุขภาพ
11-04-2024

1

บทความเรื่อง โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรค ผิวหนังอักเสบ เรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรค สะเก็ดเงิน รักษา อย่างไรได้บ้าง ?
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรคสะเก็ดเงินรักษาอย่างไรได้บ้าง ?
บทความสุขภาพ
10-04-2024

8

บทความเรื่อง ปวดขมับ หรือท้ายทอย คือสัญญาณเตือน โรคไต ! จริงหรือไม่ ? ปวดศีรษะ บริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้มาสังเกตอาการกันว่าแบบนี้จะเข้าข่ายหรือไม่แล้วเมื่อเป็น โรคไต อาการ จะเป็นอย่างไร ?
อาการปวดศีรษะที่ต้องเฝ้าระวัง หากมีอาการปวดบริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้ มาสังเกตอาการกันว่าเมื่อปวดขมับหรือท้ายทอยแบบนี้จะเข้าข่ายเป็นโรคไตหรือไม่ !
บทความสุขภาพ
05-04-2024

5