ความเศร้าโศกเสียใจที่เกิดจากการสูญเสียและการตาย ( Grief and Bereavement )

 
ความเศร้าโศกเสียใจที่เกิดจากการสูญเสีย โดยเฉพาะการสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รัก เป็นปฏิกิริยาทางจิตใจที่ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่อาจมีผู้ป่วยบางรายที่ต้องการความช่วยเหลือในการปรับตัวกับการสูญเสียนั้น

ลักษณะทางคลินิก

ผู้ที่สูญเสีย จะมีอาการหลักคล้ายอาการของโรคซึมเศร้า คือมีอารมณ์เศร้า หงุดหงิด เบื่อหน่าย ไม่อยากเข้าสังคม นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร นอกจากนี้อาจมีความรู้สึกผิด รู้สึกโกรธ ยอมรับความเป็นจริงของการสูญเสียไม่ได้

การวินิจฉัยและการวินิจฉัยแยกโรค

การวินิจฉัยแยกโรคที่สำคัญคือการแยกจากโรคซึมเศร้า ตามเกณฑ์การวินิจฉัยใน DSM-4 โดยทั่วไปจะไม่ให้การวินิจฉัยว่ามี major depressive disorder นอกจากจะมีอาการอยู่นานเกิน 2 เดือน หรือมีอาการต่างๆ ที่ไม่ใช่ลักษณะปกติของปฏิกิริยาต่อการสูญเสียโดยทั่วไป

อาการที่แสดงว่าผู้ป่วยอาจมีอาการซึมเศร้าที่รุนแรงกว่าปฏิกิริยาปกติต่อการสูญเสีย

  1. รู้สึกผิดในเรื่องอื่นๆนอกเหนือจากที่เกี่ยวกับสิ่งที่คิดว่าตนควรทำ หรือไม่ควรทำในช่วงที่ผู้ตายเสียชีวิต
  2. คิดหมกมุ่นเกี่ยวกับความตาย นอกเหนือจากความรู้สึกอยากตายแทน หรือตายไปพร้อมกับผู้เสียชีวิต
  3. คิดหมกมุ่นว่าตนไร้ค่า ไม่มีความหมาย
  4. มีการเคลื่อนไหวและความคิดช้าอย่างชัดเจน (marked psychomotor retardation)
  5. มีการบกพร่องของการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆทั้งทางสังคมและการงานอย่างมากเป็นเวลานาน
  6. มีอาการประสาทหลอน นอกเหนือไปจากการคิดว่าได้ยินเสียง หรือเห็นภาพของผู้ตายเป็นช่วงขณะสั้นๆ ซึ่งอาจพบได้ในปฏิกิริยาปกติ

การรักษา

1. การให้การปรึกษา จุดมุ่งหมายของการให้การปรึกษาในผู้ที่มีปฏิกิริยาต่อการสูญเสีย คือการช่วยให้เขาสามารถปรับตัวต่อการสูญเสียได้ตามที่ควรจะเป็น ได้แก่
 
1.1 สามารถยอมรับและเผชิญกับความจริงของการสูญเสียได้
 
1.2 สามารถแสดงความรู้สึกต่อการสูญเสียได้
 
1.3 สามารถปรับตัวกับการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการสูญเสียได้
 
1.4 สามารถตัดใจจากผู้ที่จากไป และสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น
 
เช่น สามารถมีความรักหรือแต่งงานใหม่ได้ หากมีความเหมาะสม
 
โดยจะเริ่มต้นจากการให้ผู้รับการปรึกษาพูดถึงการสูญเสียที่เกิดขึ้นโดยละเอียด และช่วยให้ผู้สูญเสียสามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตนออกมาได้อย่างเต็มที่ แสดงความเห็นใจ เข้าใจ แล้วจึงเริ่มพูดถึงปัญหาต่างๆที่เกิดจากการสูญเสีย และร่วมกันหาแนวทางปรับตัวกับปัญหา
 
2. การรักษาด้วยยา ปกติไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับ หรือมีอาการตึงเครียดมาก อาจให้ยาคลายกังวลกลุ่ม benzodiazepine ในขนาดที่ไม่สูงนัก เช่น diazepam 5 มก. ก่อนนอน ส่วนยาแก้เศร้าไม่นิยมใช้ นอกจากมีอาการรุนแรงถึงขั้นที่ให้การวินิจฉัยเป็นโรคซึมเศร้า
 
บทความโดย: ธนา นิลชัยโกวิทย์
 
บรรณานุกรม
  1. American Psychiatric Association. Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, 4th ed. Washington DC: American Psychiatric Association, 1994: 684-5.
  2. Kaplan HI, Sadock BJ. Pocket handbook of clinical psychiatry. Baltimore: Williams & Wilkins, 1990: 220-2.
  3. Worden JW. Grief counselling and grief therapy. London: Tavistock Publications, 1982.