โรคย้ำคิดย้ำทำในเด็กและวัยรุ่น

เด็กเป็นโรคนี้ได้ด้วยหรือ?

ได้ .... โดยสถิติผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้จะบอกว่าตนเองมีอาการมาบ้างตั้งแต่เด็กเกือบร้อยละ 60 จะมากน้อยต่างกันไป หลายคนก็ค่อยๆ เก็บซ่อนอาการไว้หลายปี จนถึงจุดที่ทนไม่ได้ถึงมาตรวจรักษากับแพทย์

อาการของโรคนี้คืออะไร? คิดมากคิดซ้ำๆ แบบจู้จี้ใช่ไหม?

ใช่และไม่ใช่ครับ .... คิดมาก จู้จี้ พบได้ในคนที่เป็นโรคนี้แต่ไม่ใช่อาการหลักที่ถือเป็น  signature เพราะคิดมาก จู้จี้ อาจเป็นในคนที่กลัวผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ตามจริง เช่น เคยลืมเอากระเป๋าเงินมาติดตัว ก็ต้องล้วงตรวจดูว่าเอามารึเปล่า หรือพูดเตือนคนอื่นให้ไม่ลืมเรื่อยๆ

แต่ถ้าเป็นโรคจริงๆ อาการคือ...

·        ย้ำคิด การมีความคิดกังวลสงสัยที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ทำให้ไม่สบายใจ อย่างกลัวว่าตัวเองหรือพ่อแม่จะไม่สบายหรือเป็นอันตราย ทั้งที่เจ้าตัวก็พอรู้ได้ว่า โอกาสจะเกิดแบบนั้นมันไม่มาก เรื่องบางอย่างก็แสนจะเหลวไหล เช่น เชื่อถือโชคลางมากเกินไป เด็กมักจะเอาความคิดแนวนี้ไปผูกกับเหตุการณ์ เรื่องราว หรือ พฤติกรรมบางอย่าง เช่น คิดว่า “เมื่อเช้าลืมไหว้พระ วันนี้พ่อแม่จะไม่ปลอดภัย”

·        ย้ำทำ ส่วนต่อมาก็คือการย้ำทำเพื่อล้างความโชคร้ายนั้น เช่น การเดินไปไหว้พระบ่อยๆ ไหว้หลายๆ ทีให้แน่ใจว่าทำอย่างสมบูรณ์แบบ บางคนก็ไปตั้งเกณฑ์กับตัวเองว่า ต้องไหว้ยกละ 7 หน ถ้าไม่ครบถูกขัดจังหวะจะกลัวและหงุดหงิดมากแล้วก็ต้องเริ่มนับ 1 ใหม่หมด

การรักษาทำอย่างไร?

ทำคู่กันทั้งการกินยาและการฝึกปรับความคิดและพฤติกรรม ซึ่งโดยหลักการคือ ขั้นต้นทำให้เด็กอยู่กับความไม่สบายใจกับความคิดนั้นได้ และ ไม่รีบไปทำอะไรเพื่อลบล้างความคิดนั้น ประกอบกับการฝึกเด็กให้ไปพิสูจน์ว่าความคิดนั้นมีความเป็นไปได้ มีค่าควรแก่การคิดถึงบ่อยๆ จริงหรือไม่

 

ทีมจิตเวชเด็ก รามา