เมื่อลูกไม่ยอมไปโรงเรียน

          ปัญหาไม่ยอมไปโรงเรียนในเด็ก เป็นสิ่งที่พบได้ไม่น้อยเลยทีเดียว อาการมีได้หลายรูปแบบตั้งแต่สามารถไปโรงเรียนได้แต่มีอาการไม่อยากไปในช่วงเช้า เช่น ไม่ยอมลุกจากเตียง ไม่ยอมแต่งตัวชุดนักเรียน ร้องไห้บ่นว่าไม่อยากไปโรงเรียน บางรายไปโรงเรียนได้แต่อยู่ไม่ครบทั้งวัน มักจะโทรศัพท์บอกให้ผู้ปกครองมารับกลับบ้าน จนกระทั้งถึงในกรณีที่ไม่ยอมไปโรงเรียนเลย มีอาการอาละวาดโวยวาย ด่าทอหรือทำร้ายร่างกาย ผู้ปกครองที่พยายามจะพาเด็กไปโรงเรียน นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่มีภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนอาจแสดงออกเป็นอาการทางกายหลายอย่างที่ไม่สามารถตรวจหาสาเหตุได้ เช่น ปวดท้อง ปวดหัว วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย โดยอาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงเช้าก่อนจะไปโรงเรียนและหายไปเมื่อได้หยุดอยู่ที่บ้านหรือในวันหยุดสุดสัปดาห์

          ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน (school refusal) ถือว่าเป็นภาวะเร่งด่วนทางจิตเวชเด็ก เนื่องจากการนำเด็กกลับสู่โรงเรียนจะยิ่งยากมากขึ้นเรื่อยๆตามระยะเวลาที่หยุดเรียน ซึ่งในบางรายการหยุดเรียนอาจยาวนานเป็นปี ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อเด็กและครอบครัวเป็นอย่างมาก ทั้งด้านการศึกษาและความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับเพื่อนๆที่โรงเรียน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก

สาเหตุของภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน 

เกิดได้จากหลายอย่าง เช่น

  1. ในเด็กวัยอนุบาลอาจมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการพลัดพรากจากคนที่รัก เมื่อไปโรงเรียนวันแรกๆก็จะมีภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนเกิดขึ้นได้ เด็กบางคนมีพื้นฐานบุคลิกภาพแบบวิตกกังวลง่ายหรือได้รับการเลี้ยงดูแบบปกป้องมากเกินไป ก็จะมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน
  2. ในเด็กวัยเรียนที่มีปัญหาการเรียน เข้ากับเพื่อนไม่ได้ หรือถูกทำโทษรุนแรงที่โรงเรียน ก็สามารถเกิดอาการไม่อยากไปโรงเรียนได้เช่นเดียวกัน
  3. ในวันรุ่นที่มีอาการซึมเศร้าหรือมีอาการของโรคทางจิตเวช เช่น โรคจิตเภท ก็จะมีอาการเก็บตัวและไม่ยอมไปโรงเรียนได้เช่นเดียวกัน

การดูแลและช่วยเหลือเด็กที่มีภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน

มีแนวทางดังต่อไปนี้

  1. ในกรณีที่เป็นเด็กเล็ก(อนุบาลหรือประถมต้น) มีอาการมาไม่นานและไม่รุนแรง การพาเด็กกลับสู่โรงเรียนโดยเร็วที่สุดถือเป็นหัวใจของการช่วยเหลือ เพราะยิ่งปล่อยให้มีการไม่ไปโรงเรียนนานเท่าไรก็จะยิ่งรักษาได้ยากเท่านั้น เพราะการขาดเรียนจะทำให้เด็กมีงานค้าง มีบทเรียนที่ไม่ได้เรียน เมื่อกลับไปเรียนก็จะตามไม่ทัน ยิ่งทำให้เด็กไม่อยากไปเรียน นอกจากนั้นเมื่อขาดเรียนหลายวันเด็กก็จะกลายเป็นจุดสนใจของเพื่อนและครู ทำให้ปรับตัวทำได้ยากขึ้นอีก สาเหตุของภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนในเด็กกลุ่มนี้มักมาจากความวิตกกังวลต่อการพลัดพรากจากคนที่รัก ท่าทีของผู้ปกครองที่หนักแน่นในการยืนยันว่าจะต้องไปโรงเรียน ประกอบกับความร่วมมือจากคุณครูในการดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดตั้งแต่วันแรกที่กลับไปเรียน เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการพาเด็กกลับสู่โรงเรียน
  2. ในกรณีที่เป็นเด็กโต(ประถมปลายหรือวัยรุ่น) มีอาการเรื้อรังและรุนแรง การมาพบแพทย์เพื่อประเมินอย่างละเอียดจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อหาสาเหตุของภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน รวมถึงเพื่อประเมินว่ามีโรคทางจิตเวชหรือไม่ วางแผนการรักษาและพาเด็กกลับสู่โรงเรียนในที่สุด

บทความโดย: พญ. นิดา ลิ้มสุวรรณ