พัฒนาการทางจิตใจ

 
พัฒนาการทางจิตใจเป็นขบวนการที่สำคัญยิ่งในชีวิตมนุษย์ ที่ควบคู่มากับการพัฒนาการทางร่างกาย มนุษย์แต่ละคนที่เกิดขึ้นมาควรมีโอกาสได้พัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจ ให้เต็มศักยภาพที่ได้รับมาตามธรรมชาติ อะไรที่เป็นธรรมชาติเรายังมีความสามารถไปแก้ไขได้น้อยมากในขณะนี้ เช่น พันธุกรรมด้านต่างๆที่ติดตัวมาเนื่องจากได้ถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ของตน เช่น สีผม รูปร่าง ความฉลาด โรคบางชนิด แต่ส่วนที่เราสามารถทำได้ดีคือ ส่วนที่เป็นพัฒนาการตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาและหลังจากเด็กคลอดออกมาแล้วโดยจัดสิ่งแวดล้อม ให้เหมาะสมที่สุดที่เด็กจะพัฒนาไปอย่างเต็มที่เพื่อให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพต่อตนเอง และสังคมส่วนรวมต่อไป
 
พัฒนาการที่เหมาะสมจะเป็นการป้องกัน จิตพยาธิสภาพ (psychopathology) ต่างๆ ได้มากมาย 1เช่น บุคลิกภาพปรวนแปรต่างๆที่มีความร้ายแรงไม่แพ้โรคร้ายๆทางกาย คล้ายโรคมะเร็ง เบาหวานและโรคอื่นๆ ตัวอย่าง เช่น ผู้ที่มีบุคลิกภาพอ่อนแอต้องพึ่งพิงผู้อื่นเสมอ ช่วยตัวเองไม่ได้ ตัดสินใจไม่ได้เอง อารมณ์ปรวนแปรเสมอ ก็มีสภาพไม่ต่าง
 
กับผู้ที่มีโรคร้ายที่ทำให้เป็นอัมพาตจนเดินไม่ได้ ทำงานไม่ได้ ป่วยทางใจแบบนี้ก็เปรียบเสมือนมีอาการ “อัมพาต” ทางจิตคือ ร่างกายสมบูรณ์ทุกอย่าง แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามวัย แต่กลับต้องเป็นภาระของผู้อื่นอีก ฉะนั้น พัฒนาการทางจิตใจที่ดีจึงจะช่วยให้คนๆ นั้นเติบโต มาแล้วมีความปกติสุขต่อไป

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางจิตใจ

เมื่อแรกเกิดมนุษย์มีสภาพที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย2,3 ต่างจากสัตว์โลก อื่นหลายชนิด เช่น เต่าออกจากไข่จะสามารถคลานลงทะเลไปหากินเองได้เลยโดยไม่ต้อง พึ่งพ่อแม่ สภาพช่วยตัวเองไม่ได้ของทารกนี่เองที่ทำให้พัฒนาการของมนุษย์เราขึ้นกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมมาก สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมจึงจะสามารถทำให้ทารกมีพัฒนาการที่ดีที่เหมาะสม
 
ถึงอย่างไรก็ตามปัจจัยทางชีวภาพก็มีความสำคัญเช่นกัน แต่ก็ยังเป็นรองกว่าปัจจัยจาก สิ่งแวดล้อม เนื่องจากพัฒนาการทางจิตใจมีปัจจัยหลายอย่างมาก แต่พอจัดเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ
 
1. ปัจจัยทางชีวภาพ (Biological factors) คือสิ่งที่ติดตัวเด็กมาแต่ แรกเกิด
 
2. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม (Environmental factors) สิ่งแวดล้อมคือ สภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กที่เด็กมาปรับตัวเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดและพัฒนาตนเอง จนกระทั่งมี ลักษณะเฉพาะของตัวเอง
 
ทั้ง 2 ปัจจัยนี้มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างมากตามแผนภูมิข้างล่างนี้
 
ปัจจัยทางชีวภาพ  <–>  สิ่งแวดล้อม  <–>  บุคลิกภาพเฉพาะตน
 

ปัจจัยทางชีวภาพ ประกอบด้วย

  1. พันธุกรรม
  2. ฮอร์โมน
  3. เพศ
  4. ลักษณะรูปร่าง
  5. พื้นฐานของอารมณ์
  6. สภาพร่างกาย

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย

  1. สภาพแวดล้อมขณะอยู่ในครรภ์มารดา
  2. การอบรมเลี้ยงดู
  3. เจตคติของพ่อแม่
  4. บุคลิกภาพของพ่อแม่
  5. ค่านิยมของพ่อแม่
  6. สภาพครอบครัว
  7. สภาพเพื่อนบ้าน
  8. สภาพสังคม
  9. วัฒนธรรม
  10. ศาสนา

พันธุกรรม

เด็กจะได้รับพันธุกรรมจากพ่อแม่มาแล้วตั้งแต่เด็กเกิดจะเห็นได้ชัดในสภาพร่างกาย เช่น สีผิว สีผม ระดับเชาวน์ปัญญา ถ้าเด็กมีลักษณะเป็นที่ถูกใจของพ่อแม่ก็ทำให้เกิดเป็นที่ยอมรับและต้องการมากขึ้น ถ้าเด็กมีลักษณะไม่ตรงตามความต้องการก็อาจทำให้เด็กไม่เป็นที่รักและต้องการเท่าที่ควร ก็อาจทำให้ได้รับการเลี้ยงดูที่ต่างกันก็จะพัฒนาไปต่างกัน ลักษณะทางพันธุกรรมนี้จึงมีอิทธิพลทำให้เด็กได้รับการตอบสนองจากสิ่งแวดล้อมผิดแผกกันได้

ฮอร์โมน

พบว่าระดับฮอร์โมนที่แตกต่างกันมีอิทธิพลทำให้เด็กพัฒนาไปต่างกัน เช่นในเด็กที่มีระดับฮอร์โมน androgen มาก จะจากที่แม่ได้รับ progestin หรือจาก androgenic syndrome ก็ตาม จะมีพละกำลังมาก ชอบเล่นกลางแจ้ง ชอบเล่นกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง ไม่ชอบของเล่นของเด็กหญิง เช่น ตุ๊กตา และมีพฤติกรรมแบบเด็กชาย (tomboy behavior) บางการศึกษาพบว่านักโทษที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวและกระทำความผิดทางเพศมีระดับ testosterone สูงกว่าคนทั่วไป

เพศ

บทบาทของเพศหญิงและเพศชายที่แตกต่างกันจนเป็นที่ยอมรับกันมานาน ก็จะถูกถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปสู่เด็ก และผู้ใหญ่เองก็จะมีพฤติกรรมต่อเด็กหญิงและเด็กชายต่างกันเช่น แม่มักจะให้ความสนใจลูกชายมากกว่าลูกสาว และพ่อซึ่งมักจะเป็นคนแข็งกร้าวกว่าแม่นั้นก็มักจะปฏิบัติต่อลูกสาวอย่างอ่อนโยนกว่าปฏิบัติต่อลูกชาย

ลักษณะรูปร่าง

Kretschmer พบว่ารูปร่างคน บางแบบมีความสัมพันธ์กับบุคลิกภาพบางลักษณะ และโรคทางจิตเวชบางชนิด เช่น
  • คนอ้วนเตี้ย (Pyknic type) สัมพันธ์กับลักษณะชอบแสดงออก
  • อารมณ์ปรวนแปรขึ้นลง(Cyclothymic) และโรค Manic-depressive illness
  • คนผอมสูง (Asthenic type) สัมพันธ์กับลักษณะไม่ชอบแสดงออก schizoid และโรคจิตเภท

พื้นฐานของอารมณ์

เด็กมักมีพื้นฐานของอารมณ์แตกต่างกันตั้งแต่แรกเกิดและมักจะคงลักษณะทั่วไปจนโต เช่น เด็กบางคนปรับตัวง่าย เด็กบางคนปรับตัวยาก บางคนอารมณ์ดี บางคนอารมณ์ ไม่ดี บางคนชอบอยู่เฉยๆเป็นส่วนใหญ่แต่บางคนไม่ชอบอยู่เฉย ชอบเล่นมีชีวิตชีวา พื้นฐานของอารมณ์นี้อาจกระตุ้นให้ได้รับการตอบสนองจากสิ่งแวดล้อมต่างกัน เช่น แม่บางคนชอบ ลูกที่เฉยๆหรือเลี้ยงง่ายแต่ลูกกลับมีระดับพลังงานสูง ชอบเล่นไม่อยู่เฉย ก็อาจทำให้แม่ไม่ชอบ เหนื่อยและบ่นว่าเด็กทำให้มีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก ซึ่งก็อาจส่งผลกระทบถึงการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็ก

สภาพร่างกาย

ความบกพร่องของสภาพร่างกายของเด็กมีผลอย่างมากต่อพัฒนาการ เช่น เด็ก ที่หูหนวกโดยกำเนิดก็ทำให้พัฒนาการทางภาษาเสียไปด้วย หรือเด็กที่มีสมองพิการก็จะ หงุดหงิด ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ไม่อยู่นิ่ง ซนมากและก้าวร้าวทำให้เลี้ยงยาก นอกจากนั้นแล้วพ่อแม่เองก็จะมีปฏิกิริยาต่อความพิการของลูก เช่น เด็กตาบอดโดยกำเนิดพ่อแม่อาจรังเกียจเด็กทำให้เด็กเติบโตมาอย่างเงียบเหงาขาดการกระตุ้นมักจะมีอาการเคลื่อนไหวซ้ำๆ เพื่อกระตุ้นตัวเอง เช่น โยกหัว โยกตัว และก็พูดช้า ไม่สามารถสร้างความผูกพันกับคนอื่นได้

สภาพแวดล้อมในครรภ์มารดา

มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ส่งผลกระทบถึงทารกขณะอยู่ในครรภ์มารดา ตัวอย่างเช่น ภาวะขาดเลือดเลี้ยงจากรก โรคหัดเยอรมันในแม่อาจทำให้ทารกคลอดมาพิการหลายอย่าง นอกจากนั้นสภาพอารมณ์และจิตใจของแม่ขณะท้องอาจส่งผลกระทบถึงเด็กได้ เช่น แม่ที่ดื่มเหล้าจัดก็อาจทำให้เด็กพิการ แม่ขาดสารอาหารขณะท้องก็อาจทำให้เด็กเกิดมามีระดับสติปัญญาต่ำกว่าที่ควรจะเป็นตามพันธุกรรมจากพ่อและแม่

วัฒนธรรม

ทันทีที่เด็กเกิดมาก็จะได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมของชนชาติตนที่ได้สะสมมาหลายชั่วคนแล้ว วัฒนธรรมเหล่านี้เปรียบเสมือนเบ้าที่จะหล่อหลอมให้บุคลิกภาพของเด็กจะเป็นอย่างไรตามวัฒนธรรมนั้นๆ เช่นพบว่าชาวบาหลีจะตามใจเด็กของตนอย่างมากแล้วพอหย่านมเด็กก็จะเริ่มขัดใจเด็ก และล้อเลียนเด็กที่ยังติดแม่ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เด็กมีลักษณะแยกตัวและอิจฉาน้องได้ง่าย

สภาพครอบครัวและวิธีเลี้ยงดูเด็ก

ลักษณะครอบครัว การเลี้ยงดูและท่าทีของพ่อแม่ที่มีต่อเด็กจะมีอิทธิพลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพมากกว่าคุณสมบัติทางชีวภาพของเด็ก เพราะเด็กจะพยายามปรับตัวและมองตัวเองตามที่ผู้ใหญ่มองตน เด็กจะเรียนรู้จากผู้ใหญ่ที่ตนรักโดยการเอาอย่าง เด็กจะคอยสังเกตและซึมซับสิ่งรอบๆ ตัวไว้ เป็นคุณสมบัติของตนด้วย สรุปคือเด็กจะดูจากพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูว่าการจะเป็นคนนั้นเขาเป็นกันอย่างไรนั่นเอง สภาพครอบครัวและการเลี้ยงดูมีความ สำคัญมากกว่าปัจจัยอื่นถ้าเด็กเติบโตในครอบครัวที่สุขภาพจิตดี อบอุ่น เด็กก็จะพัฒนาอย่างมีจิตใจที่แข็งแรงสามารถปรับตัวได้ในสถานะการณ์ต่างๆ หรือคล้ายมีภูมิคุ้มกันต่อปัญหาทาง อารมณ์และพฤติกรรมเบี่ยงเบนได้

สภาพสังคม

ลักษณะสังคมที่เด็กอยู่ก็มีผลมากต่อพัฒนาการของเด็ก เด็กที่เติบโตในสังคมที่ สงบสุข ยุติธรรมก็จะรู้สึกมั่นคง เชื่อมั่น มองโลกในแง่ดี ส่วนเด็กที่เติบโตในสังคมที่ว้าวุ่นยุ่งเหยิง เช่น ภาวะสงครามก็ยอมรับได้ผลเสียนอกจากนั้นระดับความเป็นอยู่ของครอบครัวที่ต่างกันในสังคมก็มักจะปฏิบัติต่างกันต่อเด็ก เช่นครอบครัวคนขั้นกรรมกร (working class) มักจะสอนให้ลูกเชื่อฟังกฎเกณฑ์จากภายนอกและจะทำโทษลูกเมื่อลูกทำผิดโดยดูจากการกระทำเป็นหลัก ส่วนครอบครัวชนชั้นกลางจะสอนให้ลูกมีความเชื่อในการกระทำของตนเอง (self direction) และการรับผิดชอบต่อตนเอง การทำโทษของชนชั้นกลางที่จะดูเจตนาของการกระทำผิดเป็นหลัก และมักใช้วิธีให้กำลังใจและชมเชยมากกว่าคนชั้นกรรมกร

ระยะของการพัฒนาบุคลิกภาพ (Stages of Personality Development)

พัฒนาการทางจิตใจหรือพัฒนาการบุคลิกภาพของมนุษย์นั้นค่อยเป็นค่อยไปเราจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กวัยต่างๆ เพื่อจะได้ช่วยให้เขาพัฒนาได้เต็มที่และเหมาะสม4,5 สิ่งจำเป็นและธรรมชาติของพัฒนาการของเด็กอาจแบ่งได้เป็นระยะๆ ตามอายุ เพื่อความเข้าใจง่ายดังนี้6,7,8,9

วัยทารก (Infant stage, อายุ 0-9 ปี)

การกระตุ้น การที่เด็กจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมที่สลับซับซ้อนนั้นเป็นความสามารถที่ต้องพัฒนาขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตอนแรกเกิดเด็กจะอยู่ในสภาพต้องพึ่งพาคนอื่นโดยสิ้นเชิงที่จะดูแลเด็ก เด็กไม่สามารถช่วยตัวเองได้เลยความสามารถติดตัวมามีเพียงก้านสมองควบคุมการทำงานของร่างกายบางอย่างเช่น การหายใจ อุณหภูมิ การดูด การกลืน การไหลเวียนของเลือด การพัฒนาของระบบประสาทและสรีระก็ต้องการการกระตุ้นอย่างเหมาะสม ไม่ใช่จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติแต่จะต้องได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม
 
จากการทดลองพบว่าลิงชิมเพนซีที่เลี้ยงไว้ในที่มืด 5 – 7 เดือนไม่ได้รับการกระตุ้นจากแสงเลยจะทำให้มีการเสื่อม (atrophy) ของ retinal cellมีความผิดปกติของการมองเห็น นอกจากนั้นการได้แสงอย่างเดียวนั้นก็ไม่พอต้องมี active exploration ด้วยจึงจะสามารถพัฒนาให้ระบบการมองเห็นและระบบกล้ามเนื้อทำงานได้อย่างประสานกัน (visual motor coordination) เด็กต้องได้รับการกระตุ้นโดยการอุ้มสัมผัส พูดด้วย เล่นด้วย มีของที่เด็กสนใจให้เล่นบ้าง สีสวยมีเสียง สรุปคือ ต้องมีการเลี้ยงดูที่ใกล้ชิดให้ความรักความอบอุ่นและตอบสนองต่อความต้องการของเด็กอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นพัฒนาการ
 
พื้นฐานอารมณ์เด็ก (Temperament) เด็กจะมีความแตกต่างกันในพื้นฐานของอารมณ์ตั้งแต่เกิดมา ความแตกต่างนี้มีหลายด้าน คือ
  1. activity – passivity
  2. regularity – irregularity
  3. intensity
  4. approach – withdrawal
  5. adaptive – nonadaptive
  6. high – low threshold to stimuli
  7. positive – negative mood
  8. high – low selectivity
  9. high – low distractibility
ถ้าเด็กและแม่เข้ากันได้ในพื้นฐานของอารมณ์ก็จะช่วยให้ความสัมพันธ์ราบรื่นขึ้น ถ้าเด็กเฉยๆ แต่แม่เป็นคนกระตือรือร้นก็อาจไม่ชอบเด็ก หรือในทางกลับกันถ้าเด็กกระตือรือร้นมาก (active มาก) แม่ที่ไม่กระตือรือร้นก็อาจหาว่าเด็กซุกซนมากไปพาลไม่ชอบเด็กด้วย
 
ความผูกพัน (Attachnment, bonding, object relationship) เด็กพอเข้าเดือนที่ 5 – 6 จะเริ่มจำหน้าแม่ได้และแสดงอาการติดแม่ เป็นการแสดงว่ามีขบวนการผูกพันเกิดขึ้น แต่ความผูกพันจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อผู้เลี้ยงดูหรือแม่ต้องเลึ้ยงดูใกล้ชิดสม่ำเสมอ โดยการให้เวลาและมีปฏิสัมพันธ์กันซ้ำๆ ความผูกพันอาจไม่พัฒนาเลย ถ้าเลยระยะวิกฤต (critical period) ในช่วง 5 – 12 เดือน แม้การศึกษาบางอันคิดว่าอาจจะยังเกิดขึ้นได้หลังอายุ 1 ปี แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ใจว่าจะเป็นไปได้เสมอ คุณสมบัตินี้มีความสำคัญต่อมนุษย์ที่จะทำให้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ปกติในตอนโตและเป็นพื้นฐานที่จะเกิดคุณธรรมต่อไปด้วย เด็กที่มีความผูกพันแล้วอาจจะมีอาการกลัวคนแปลกหน้า สรุปแล้วเมื่อเด็กอายุครบ 1 ปี ควรจะมีความสัมพันธ์กับแม่อย่างใกล้ชิดและมั่นคง ถ้าคุณสมบัตินี้บกพร่องไปจากเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมอาจนำไปสู่ปัญหาใหญ่ของสังคมเราคือ เด็กมีบุคลิกภาพแบบอันธพาล (antisocial personality) ได้ ซึ่งสร้างปัญหาทำผิดกฎหมายร้ายแรง แม้แต่การฆาตกรรมผู้อื่นได้โดยไม่รู้สึกผิดเลยเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่(ภาพที่ 1)
 
การพลัดพรากในช่วงอายุที่พัฒนาการผูกพันยังไม่ถาวรหรือสมบูรณ์ (อายุ 5 เดือนถึง 4 – 5 ปี) ถ้ามีการพลัดพรากจากแม่หรือมีอาการขาดแม่ (maternal deprivation) คือถึงแม่จะอยู่แต่หยุดเลี้ยงดูเด็กด้วยเหตุอันใดก็ตามจะทำให้เด็กมีอาการของเด็กขาดแม่ หรือทำให้มีความบกพร่องของความผูกพันและกระทบกระเทือนถึงการพัฒนาบุคลิกภาพและการพัฒนาสติปัญญาของเด็กด้วย Spitz ในปี พ.ศ. 2495 ได้พบว่าเด็กที่พลัดพรากจากแม่มาอยู่สถานเลี้ยงเด็ก จะมีอัตราการตายสูงถึง 37% แม้จะให้การเลี้ยงดูอย่างดีในเรื่องอาหารการกินและสุขภาพอนามัย การพลัดพรากถ้ายาวนานพอจะทำให้ความผูกพันที่ยังพัฒนาไม่ถาวรขาดลง (break of bonding) เด็กก็จะมีปัญหาความบกพร่องของความผูกพันและอาจนำไปสู่บุคลิกภาพแบบอันธพาลได้เช่นกัน

วัยเตาะแตะ (Toddler stage, อายุ 1 – 3 ปี)

วัยนี้เด็กเริ่มเดินได้ พูดได้ก็เริ่มจะอยากรู้อยากเห็นและอยากสำรวจสิ่งต่างๆ มากขึ้น สิ่งแวดล้อมก็เรียกร้องจากเด็กมากขึ้น เช่น การควบคุมการขับถ่าย
 
การต่อต้าน (Negativism) วัยเด็กนี้เริ่มอยากเป็นตัวของตัวเองบ้าง ฉะนั้นจะต่อต้านคำสั่งคำบอกของผู้ใหญ่จะปฏิเสธว่า “ไม่” เกือบตลอด ซึ่งเป็นวิธีที่เด็กใช้เพื่อการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง (autonomy) ผู้ใหญ่ควรเข้าใจและหาวิธีละมุนละม่อมล่อใจเด็กให้ทำตามไม่ใช่บังคับเรื่อยๆไป ซึ่งจะเพิ่มความขัดแย้งได้ (ภาพที่ 2 )
 
ความก้าวร้าว (Aggression) เวลาเด็กถูกห้ามปรามหรือมีข้อจำกัดในการเล่น เช่น การเล่นไฟ วิ่งเล่นไปในถนน หรือการขัดใจจากพี่หรือน้องก็อาจแสดงออกอย่างรุนแรง เช่น ร้องดิ้นอาละวาด หรือทำลายของด้วยความโกรธ หรืออาจรุนแรงกับตัวเอง เช่น โขกหัว ตีตัวเอง พฤติกรรมอาละวาดจะมีไปได้อีกระยะหนึ่ง แล้วค่อยๆน้อยลงและควรจะหายไปเมื่อเข้าวัยเรียน
 
การติดสิ่งของ (Transitional object) เด็กวัยเตาะแตะมักจะติดสิ่งของบางอย่าง เช่น ผ้าห่ม ตุ๊กตา หมอน ข้อศอกแม่ ซึ่งเป็นพฤติกรรมปกติที่มีได้ และจะค่อยๆ หายไปเมื่อโตขึ้น
 
การฝึกการขับถ่าย (Toilet training) ขบวนการฝึกการขับถ่ายให้เด็กมีความสำคัญ เด็กควรรู้สึกภูมิใจในตนเองที่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้โดยการหัดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถ้าบังคับมากบ่นว่ามากหรือทำโทษรุนแรงเด็กอาจรู้สึกจำใจต้องยอมต่อผู้ใหญ่ และรู้สึกสงสัยในคุณค่าของตนเอง หรือไม่ก็จะใช้วิธีดื้อเงียบต่อต้านเรื่อยไป
 
Separation anxiety วัยนี้ถ้ามีการพลัดพรากจะมีปฏิกิริยารุนแรงได้ เช่น การต้องมาอยู่ในโรงพยาบาลตามลำพังโดยขาดแม่ ถ้าขาดนานปฏิกิริยาก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจถึงมีผลเสียต่อบุคลิกภาพได้ ปฏิกิริยามีดังนี้
 
1. Stage of protest เด็กจะร้องไห้มาก ไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอน ไม่ยอมให้ปลอบโยนจะกอดของที่นำติดตัวมาจากบ้านไม่ยอมปล่อย เรียกหาแต่แม่เป็นวันๆ ระยะนี้อาจมีอยู่นาน 2-3 ชั่วโมง หรือนานถึงหนึ่งสับดาห์
2. Stage of despair เด็กจะร้องเสียงอ่อนลง หยุดร้องเป็นระยะๆ แยกตัว ซึมเศร้า
3. Stage of detachment ถ้ายังไม่ได้พบแม่เป็นเวลานานต่อไปอีกจะทำให้มีการสูญเสียความผูกพันระหว่างแม่และเด็กที่ได้สร้างมาแล้ว (break of normal bonding) ซึ่งเป็นผลเสียอย่างมากต่อเด็ก แม่มาอีกก็ไม่สนใจ จำไม่ได้ และเด็กอาจไม่สามารถรู้สึกผูกพันกับใครได้อีกซึ่งเป็นผลให้เด็กเติบโตไปไม่สามารถมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีได้

วัยก่อนเรียน (Preschool age, 3 – 6 ปี)

จะมีการพัฒนาทางภาษาและสติปัญญามากขึ้นตามลำดับทำให้เด็กยิ่งสนใจและอยากรู้อยากเห็นในสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นทำให้เด็กชอบถามคำถามอยู่เรื่อยๆ ว่าอะไร ทำไม เพราะอะไร ในสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น ทำไมถึงมีต้นไม้ ทำไมพระจันทร์ถึงเดินตามเรา ดวงดาวคืออะไร กลางคืนทำไมมืด คนคนแรกมาจากไหน ฯลฯ ผู้ใหญ่ควรตอบง่ายๆ พอที่เด็กจะเข้าใจไม่ควรแสดงความรำคาญหรือดุว่าเด็กเป็นอันขาด
 
การเล่น เด็กวัยนี้จะเล่นมากและการเล่นมีความสำคัญต่อการพัฒนาทางจิตใจอย่างมาก การเล่นมีผลดีหลายอย่างต่อเด็ก (ภาพที่ 4 )
  • สนุกเพลิดเพลิน
  • ได้ฝึกความสามารถที่ได้มาใหม่ เช่น การวิ่ง การใช้มือ
  • คลายเครียด ระบายอารมณ์ที่เก็บกดไว้
  • ใช้กำลังงานไปในทางสร้างสรรค์
  • ทดลองบทบาทต่างๆ ที่เด็กจะต้องเป็นต่อไป เช่น การเล่นพ่อแม่ลูก
พัฒนาความเป็นหญิงหรือชาย (Sexual identity) เด็กเริ่มรู้ว่ามนุษย์นั้นแยกเป็นเพศหญิงและเพศชาย โดยอาจดูจากความแตกต่างของเสื้อผ้า วิธีพูดจา กิริยาท่าทางและเห็นความแตกต่างของอวัยวะเพศ การพัฒนาเกิดได้โดยเด็กมักจะดูจากพ่อแม่และผู้ใหญ่รอบข้างเป็นตัวอย่างแล้วเริ่มบทบาทที่เหมาะสมสำหรับเพศของตน
 
ความอยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศ จะมีคำถามเกี่ยวกับเพศ การท้อง การคลอด และจะมีการเล่นอวัยวะเพศได้ในวัยนี้ซึ่งพบได้บ่อยมาก ขณะเดียวกันก็อาจมีความกลัวในการที่อาจสูญเสียอวัยวะเพศในใจ หรือความกังวลใจในเด็กหญิงที่ตนเองไม่มีอวัยวะเพศแบบชายให้เห็น (Castration anxiety)
 
การอิจฉากันระหว่างพี่น้อง (Sibling rivalry) ในวัยนี้เด็กอยากจะได้ความรักของแม่และพ่อไว้แต่เพียงผู้เดียว การมีน้องอาจทำให้มีการอิจฉากัน พ่อแม่จะต้องให้ความรักเท่าๆกันให้ความสนใจพี่เท่ากับน้องและส่งเสริมบทบาทของพี่ต่อน้องจะช่วยให้เด็กเรียนรู้การอยู่ร่วมกันแบ่งปันกัน จะได้ไม่มีปัญหาที่จะมีนิสัยขี้อิจฉา แข่งขันมากกับเพื่อนและคนรักต่อไป
 
จินตนาการ (Fantasy) ช่วงอายุนี้เด็กมีความคิดและจินตนาการมากจะมีการเล่นสมมุติต่างๆนาๆ พูดเล่าอะไรเป็นความคิดฝันของตนมากจนผู้ใหญ่อาจเข้าใจผิดว่าเป็นการพูดปดหรือเป็นการปั้นน้ำเป็นตัว อาจกลัวเด็กจะมีนิสัยไม่ดี และอื่นๆ เด็กที่ไม่มีพี่น้องหรือเพื่อนเล่นคนอื่นอาจถึงกับสมมุติเพื่อนขึ้นแล้วพูดด้วยก็ได้ (imaginary friend) บางทีการสมมุติของเด็กก็เพื่อชดเชยกับความเป็นจริงที่เด็กอยากให้เป็นแต่เป็นไปไม่ได้ หรืออยากได้แล้วไม่ได้
 
ความกลัว (Phobic organization) วัยนี้อาจรู้สึกกลัวสิ่งต่างๆ เช่น ความมืด กลัวการบาดเจ็บของร่างกายและ รวมทั้ง Castration anxiety

วัยเรียน (School age, 6 – 12 ปี)

เด็กมีความสามารถในการคิด การจำ การพูด และการรับรู้ดีขึ้นมากทำให้เด็กเริ่มรู้ความเป็นจริงในชีวิตหลายๆ อย่าง การเกิด การตาย ความแตกต่างของเพศหญิงและชายชัดขึ้น ความคิดก็มีเหตุผลมากขึ้น
 
การควบคุมอารมณ์ (Impulse control) ระยะแรกเกิดจนถึงอายุ 5 – 6 ปี เด็กจะควบคุมอารมณ์ไม่ได้ดี อยากได้อะไรต้องเอาให้ได้ทันที รู้สึกอย่างไรแสดงทันที จึงสามารถเห็นว่าบางครั้งเด็กเล็กจะมีพฤติกรรมสลับไปมาในการแสดงออกของความรัก ความโกรธ ความเกลียด อาละวาดเสมอๆ พอถึงวัยนี้เด็กสามารถมีความคิดได้มากขึ้น จึงสามารถที่จะลองคิดดู ลองเอาอย่างคนอื่นดูบ้าง ไม่ต้องแสดงออกเป็นพฤติกรรมทันที ภาวะสงบของอารมณ์ได้ ทำให้เด็กพร้อมที่จะเรียนหนังสือได้
 
การพัฒนาจริยธรรม (Superego development) การสร้างนั้นอาศัยพ่อแม่เป็นตัวอย่าง ก่อนหน้าวัยนี้เด็กไม่ได้รู้จริงว่าอะไรถูกอะไรผิดแต่ก็ทำตามพ่อแม่ไป พอถึงวัยเรียนเด็กจะรู้สึกจริงๆว่าอะไรถูกต้องอะไรไม่ถูกต้อง คือเด็กเริ่มการยอมรับเรื่องความถูกผิดให้เป็นคุณธรรมของตัวเด็กเอง (internalised) ฉะนั้นในวัยนี้เด็กจะไม่ทำผิดเพียงเพื่อเอาใจพ่อแม่แต่เพราะเด็กเองเห็นว่าผิดจึงไม่ทำ
 
การเล่นและการทำงาน เมื่อรู้ว่ามีความแตกต่างระหว่างการเล่น การทำงานควรให้เด็กรู้สึกสนุกที่จะทำงาน รู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถทำได้ การเล่นก็เปลี่ยนไป วัยนี้ชอบเล่นเป็นหมู่เป็นกลุ่ม ชอบเล่นอย่างมีกฎมีกติกา
 
ความสัมพันธ์กับพ่อแม่และเพื่อน เด็กชอบที่จะเล่นกับเพื่อน และคนนอกบ้านมากขึ้น จะเอาอย่างเพื่อนบางทีเด็กอาจรู้สึกผิดหวังในพ่อแม่ของตนว่าไม่เก่งเท่าที่ตนเคยคิด (disillusioned) บางทีมีความเพ้อฝันเกี่ยวกับชาติกำเนิดของตนไปต่างๆ (family romance) สนใจผู้ใหญ่นอกบ้านมากกว่าพ่อแม่ เช่น ครู ซึ่งเป็นวิธีที่เด็กจะทำให้ตัวเองแยกจากพ่อแม่เป็นอิสระมากขึ้นตามลำดับ
 
ความพร้อมที่จะเรียน ความคิดของเด็กพร้อมเมื่ออายุ 6 ปี เพราะสามารถคิดย้อนกลับไปมาได้ เช่นรู้ว่า 6 + 4 = 10 และก็รู้ว่า 10 – 4 = 6 รู้ความคงที่ของปริมาตร แยกแยะน้ำหนัก ส่วนสูงต่างๆได้
 
การพัฒนาของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ การทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อมีความสมบูรณ์มากขึ้น เช่น การเห็น การได้ยิน การทำงานประสานกันของประสาทรับรู้ส่วนต่างๆ เช่น eye-hand coordination เป็นต้น

วัยรุ่น (Adolescence, 12 – 18 ปี)

เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงมากวัยรุ่นจึงต้องมีการปรับตัวมากกับสิ่งเร้าภายในตัวและสิ่งเร้าจากภายนอก จึงอาจทำให้วัยรุ่นมีปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอารมณ์ต่างๆ บางครั้งปฏิกิริยาเหล่านี้อาจมองเผินๆเหมือนความผิดปกติที่ต้องการความช่วยเหลือได้แต่โดยทั่วไปแล้วปฏิกิริยาบางอย่างจะเป็นอยู่ชั่วคราวแล้วหายไปเองได้
 
การเปลี่ยนแปลงทางกาย ร่างกายส่วนต่างๆ จะมีการเจริญเติบโตในเกือบทุกๆระบบทั้งหญิงและชาย เช่น ความสูงและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเร็ว แขนขายาวขึ้น ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อกระตุ้นการเติบโตของอวัยวะระบบสืบพันธุ์ทั้งภายในและภายนอกมีการเจริญของร่างกายในส่วนที่เป็นลักษณะประจำเพศ (secondary sex characteristics) เช่น เด็กชายมีเสียงห้าวขึ้น มีหนวดขึ้น ในเด็กหญิงมีการเจริญเติบโตของเต้านมเกิดขึ้น ในเด็กหญิงก็จะมีประจำเดือนเกิดขึ้นการเปลี่ยนแปลงสองอย่างหลังนี้จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง (gender identity) การเปลี่ยนแปลงมากๆ แบบนี้อาจเป็นสาเหตุของความกังวล หรือความลำบากใจในการปรับตัวของวัยรุ่นได้
 
การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและความคิด ความเปลี่ยนแปลงต่อไปนี้ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดควรทราบไว้จะได้ไม่รู้สึกว่าบุตรหลานของตนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เป็นคนที่ดื้อรั้นไม่เชื่อฟังหรือเกิดความวิตกกังวลว่าอาจมีปัญหาร้ายแรงตามมาจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ถ้าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ก็อาจพยายามขัดขวางไม่ผ่อนปรนหรือกลับเพิ่มการควบคุมมากขึ้นก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ใหญ่และวัยรุ่นได้ และอาจทำให้วัยรุ่นยิ่งมีปฏิกิริยาตอบโต้ที่รุนแรงได้
 
ความสนใจในตัวเอง (Narcissism) วัยรุ่นจะสนใจตัวเองมาก รักสวย รักงาม การแต่งกายก็ต้องพิถีพิถันหรือให้เป็นที่ยอมรับของเพื่อนฝูง หรือสะดุดตาโดยเฉพาะให้เพศตรงข้ามสนใจ
 
ความนับถือผู้ใหญ่ (Authority figure) วัยรุ่นจะให้ความสำคัญผู้ใหญ่น้อยลง มักมีความคิดว่าผู้ใหญ่มีความคิดที่ล้าหลังไม่ทันสมัย และอื่นๆ และเห็นว่าความคิดของตนดีกว่าถูกต้องกว่า ถ้าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจถึงธรรมชาตินี้ของวัยรุ่นก็อาจโกรธ เช่น หาว่าดูถูกพ่อแม่ ครูอาจารย์ อาจดุว่ารุนแรง แล้วเกิดปัญหาความขัดแย้งตามมาที่รุนแรงได้
 
ความเป็นตัวของตัวเอง (Independence) วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการเป็นตัวของตัวเองมาก และมีความต้องการรับผิดชอบตัวเอง ผู้ใหญ่ควรค่อยๆปล่อยให้วัยรุ่นมีอิสระมากขึ้นอย่างเหมาะสม ไม่บังคับหรือมีกฏระเบียบมากเกินไป ควรให้วัยรุ่นสามารถหัดตัดสินใจในขอบเขตที่เหมาะสม วัยรุ่นต้องการความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองอย่างมาก บางครั้งจะแยกตัวไปจากบิดามารดาเพื่อไปสู่ความเป็นตัวของตัวเองจนบางครั้งมีการต่อต้านความคิดและการกระทำของผู้ใหญ่
 
แสวงหาเอกลักษณ์ของตน (Identity) เนื่องจากต้องเตรียมตัวเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า วัยรุ่นจะมองหาว่าตัวเองต้องการเป็นคนอย่างไรในอนาคต จะมีอาชีพอะไร บทบาทของตัวเองในฐานะผู้ใหญ่จะเป็นอย่างไร ความรู้สึกมั่นใจในตนเองจะเกิดขึ้นได้เมื่อวัยรุ่นรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถในงานที่ได้รับมอบหมายหรือรับผิดชอบ (experiencing success) ฉะนั้น วัยรุ่นไม่ควรได้รับมอบหมายงานที่ยากเกินความสามารถ เพราะเมื่อทำไม่สำเร็จแล้วจะเกิดความรู้สึกว่าตนเป็นคนไร้ความสามารถได้ซึ่งอาจเป็นปมด้อยติดตัวไปถ้าประสบความล้มเหลวบ่อยๆ
 
การคบเพื่อน ในวัยรุ่นเพื่อนมีอิทธิพลมากเพราะวัยรุ่นต้องการเป็นที่ยอมรับของเพื่อน จึงมักเอาอย่างและค่านิยมของเพื่อน ถ้าคบเพื่อนดีมีกิจกรรมที่เหมาะสมก็จะเป็นผลดีต่อตัววัยรุ่นและสังคม ถ้าคบเพื่อนที่เกเรมีความประพฤติไม่เหมาะสมก็อาจพาไปให้เสียได้
 
ความประพฤติของวัยรุ่น วัยรุ่นมักมีความประพฤติ ที่เปลี่ยนแปลงเร็วเป็นผลจากความพยายามที่จะแสดงถึงความสามารถพึ่งตนเองและไม่ต้องการพึ่งผู้อื่น บางครั้งอาจดูเป็นผู้ใหญ่มากแต่อาจกลับเป็นเด็กในเวลาไม่นานนัก ความประพฤติที่ก้าวร้าวอาจเป็นผลจากความเครียดทางอารมณ์ เช่น ความรู้สึกในความไม่แน่ใจตนเอง ความกดดันทางเพศ ความรู้สึกต่อเพศตรงข้าม ความกังวลเกี่ยวกับชีวิตอนาคต และอื่นๆ
 
ชอบเพ้อฝัน (Fantasy) วัยรุ่นมักมีความเพ้อฝันค่อนข้างมาก เด็กหญิงมักเขียนบันทึกประจำวัน เด็กชายมักพูดโทรศัพท์บ่อยๆ นานๆ
 
สนใจในสังคม วัยรุ่นจะมีความคิดเกี่ยวกับส่วนรวมและสังคม ชอบการเสียสละและเห็นประโยชน์ของคนอื่นเป็นที่ตั้ง และมักเกิดความรู้สึกไม่พอใจในสังคมที่ไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่ควรจะเป็น (idealism)
 
ความสนใจในเรื่องเพศ การเปลี่ยนแปลงทางกายของระบบสืบพันธุ์ ทำให้เกิดความสนใจทางเพศและสนใจเพศตรงข้าม ความประพฤติทางเพศของวัยรุ่นได้รับอิทธิพลจากครอบครัวที่วัยรุ่นนั้นเติบโตมาว่าครอบครัวเป็นแบบอย่างที่ดีและเหมาะสมเพียงไร วัยรุ่นควรจะมีความรู้สึกว่าตนเองมีความปกติมีความสามารถรู้สึกอิสระเรื่องทางเพศ และควรมีความรู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องความสุขตามธรรมชาติ รวมทั้งสามารถพูดคุยหาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติทางเพศเมื่อต้องการอีกทั้งเข้าใจว่าความสัมพันธ์ทางเพศนั้น เป็นความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดพิเศษระหว่างมนุษย์ที่มีความรักต่อกัน เป็นการแสดงออกของความรักระหว่างชายหญิง จะช่วยป้องกันพฤติกรรมส่ำส่อนทางเพศได้

บทสรุป

พัฒนาการทางจิตใจเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้คนเราเป็นคนที่มีคุณภาพดี มีจิตใจปกติ สามารถมีความสุข มีความรับผิดชอบ ปรับตัวได้ในสถานการณ์ต่างๆ สามารถทำหน้าที่ของตนได้ในครอบครัวและสังคมที่ตนอยู่ อีกทั้งไม่สร้างความเดือดร้อน เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น พัฒนาการที่ดีต้องอาศัยปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางชีวภาพของเด็กกับประสบการณ์จากสิ่งแวดล้อมที่เด็กเติบโตมา
 
ผู้เกี่ยวข้องในการเลี้ยงดูเด็กจึงมีความจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจบทบาทของตนที่จะช่วยพัฒนาเด็ก และป้องกันปัญหาทางจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ หรือเมื่อพบว่ามีความเบี่ยงเบนของพัฒนาการก็ควรรีบแก้ไข ทำเองหรือขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์เด็ก หรือบุคลากรทางสุขภาพจิตอื่นๆ แต่ถึงอย่างไรการป้องกันย่อมดีกว่ารอให้ปัญหาเกิดขึ้นเสียก่อนเสมอ
 
เอกสารอ้างอิง
 
1. Michels R, Cavenar JO, Jr. Psychiatry. New York : Basic Books, 1987; 2:chapter 2 – 3.
 
2. Barker P. Basic child psychiatry. London : Blackwell. 1988; 1 – 18.
 
3. Lidz T. The person. New York : Basic Books, 1975 ; 1-305.
 
4. นงพงา ลิ้มสุวรรณ. จิตวิทยาการเลี้ยงดูเด็ก ใน : วัณเพ็ญ บุญประกอบ, อัมพล สูอำพัน,บรรณาธิการ. จิตเวชเด็กสำหรับกุมารแพทย์. กรุงเทพมหานคร : ชวนพิมพ์, 2530 : 55 – 61.
 
5. Brooks JB. The process of parenting. 2 nd ed. Palo Alto : Mayfield Publishing. 1987 ; 120 – 352.
 
6. Lewis M. Clinical aspects of child development. Philadelphia: Lea & Febiger, 1982.
 
7. Kaplan H, Sadock B. Comprehensive textbook of psychiatry. 5th ed. Baltimore : Williams & Wilkins. 1989 ; 1685 – 715.
 
8. Noshpitz JD. Basic handbook of child psychiatry. New York : Basic Books,1979 ; 1 – 236.
 
9. Rutter M, Herson L. Child and adolescent psychiatry. London: Blackwell.1985 ; 1 – 176.
 
บทความโดย: ศาสตราจารย์แพทย์หญิงนงพงา ลิ้มสุวรรณ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี