การพูดปดและลักขโมย

 
การพูดปดและลักขโมยเป็นพฤติกรรมที่ค้านกับศีลธรรมและความรู้สึกของผู้ใหญ่ทุกคนเป็นอย่างมาก จนมักทำให้เกิดการประณามหรือลงโทษตามมาเมื่อทราบ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว เมื่อเด็กกระทำพฤติกรรมดังกล่าวแต่ละครั้งนั้น อาจต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า เป็นผลมาจากอะไร เพื่อจะได้ช่วยแก้ไขได้อย่างเหมาะสมตามกรณี
 
กล่าวได้ว่า พฤติกรรมทั้งสองมีโอกาสเกิดร่วมกันได้สูง เช่น เมื่อลักขโมย เด็กก็มักต้องปดเพื่อปิดบัง

การพูดปด

สำหรับการตัดสินว่า เด็กพูดปดหรือไม่นั้น ผู้ใหญ่มักใช้ความเข้าใจของตนเองเป็นหลัก ว่าเด็กต้องการผลประโยชน์ หรือหลบเลี่ยงสิ่งที่เด็กเองไม่ชอบ แต่หากพบในเด็กวัย 3 ถึง 5 ขวบ แล้ว อาจไม่เรียกว่า เป็นการพูดปดก็ได้เนื่องจาก
  • เด็กยังไม่มีพัฒนาการการเข้าใจ และใช้ภาษาอย่างสมบูรณ์พอ ความหมายของคำที่เด็กพูด อาจไม่ตรงกับที่ผู้ใหญ่เข้าใจ ในทางตรงข้าม เด็กก็อาจตีความคำที่ผู้ใหญ่พูดด้วยผิดไป ทำให้ตอบเหมือนพูดปด
  • เด็กยังแยกไม่ได้ว่า สิ่งที่พูดเป็นสิ่งที่ตนเองคิดขึ้นเองหรือเป็นความจริง เช่น เล่าว่า ไปเห็นไดโนเสาร์ ทั้งที่ไปเห็นกิ้งก่ามา หรือไปเที่ยวขั้วโลกมา เป็นต้น
แต่หากเด็กจงใจปดนั้น มักมีสาเหตุมาจาก
  • ปดเนื่องจากต้องการปกป้องตนเองจากการถูกลงโทษต่างๆ โดยเฉพาะในรายที่ครอบครัวชอบลงโทษรุนแรง เคยบอกเด็กว่า พูดมาตรงๆจะไม่ว่า แต่แล้วก็ลงโทษภายหลัง
  • ปดเลียนแบบที่เคยเห็นตัวอย่าง โดยเฉพาะจากคนในบ้าน ครู เพื่อน และตัวละครในสื่อต่างๆ
  • ปดเพื่อให้คนอื่นหันมาสนใจหรือชมเชยตนบ้าง มักพบในเด็กที่รู้สึกว่า ถูกครอบครัวหรือสังคมทอดทิ้ง ไม่มีความภูมิใจในตนเอง การปดอาจสร้างความตื่นเต้นให้ตนเอง ทำให้ผู้ใหญ่หันมาสนใจตนบ้าง หรือมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น เช่น บอกว่า สอบได้คะแนนดี ในกรณีนี้ ถือว่า เด็กกำลังส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ

การแก้ไข

ทั่วไปคือ กำจัดสาเหตุทั้งสามข้อออกไป แต่ไม่ควรให้รางวัลเมื่อเด็กรับความจริง ตัดสินสิ่งที่เขากระทำอย่างยุติธรรมสม่ำเสมอ

การขโมย

เช่นเดียวกับการพูดปด เนื่องจากต้องพิจารณาตามพัฒนาการของเด็ก โดยในเด็กวัยอนุบาล เราอาจใช้คำว่า “หยิบของคนอื่นโดยไม่ได้ขอ” ซึ่งให้ความรู้สึกนุ่มนวลกว่า การว่าเด็กขโมย เนื่องจาก เด็กยังไม่เข้าใจเรื่องของความเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะหากโตมาในบ้านที่ทุกคนในบ้านต่างหยิบของของกันและกันใช้ได้เป็นเรื่องธรรมดา
 
แต่หากเป็นการขโมยเพื่อหวังประโยชน์นั้น อาจมีสาเหตุจาก
  • ขโมยเพื่อฐานะทางสังคม เช่น เพื่อให้มีไม่ถูกล้อ ไปติดสินบนเพื่อนที่ข่มขู่จะแกล้ง หรือ เพื่อจะได้เข้ากลุ่มเพื่อนที่เขาทำกัน
  • อยากได้ของชิ้นนั้นมาเป็นของตนจริงๆ ทั้งที่อาจไม่ใช่ของมีค่า
  • ทำเพราะต้องการให้เจ้าของเดือดร้อน เป็นการกลั่นแกล้งหรือล้างแค้น ซึ่งอาจมีจุดประสงค์ถึงให้ผู้ปกครองของตนเดือดร้อน และหันมาสนใจตนบ้างด้วยก็มี
  • กระทำเพื่อหวังมูลค่าสินทรัพย์ เหมือนอาชญากรรม

การแก้ไข 

ควรสอนการเก็บดูแลรักษาของทั้งของตนและของคนอื่นตั้งแต่เด็ก ในเด็กเล็ก ควรให้เด็กเอาของไปคืนเจ้าของ แต่หากเป็นการกระทำเพื่อหวังประโยชน์ ก็ควรไต่ถาม แก้ไข ตามสาเหตุ เช่น สร้างสัมพันธภาพกับเด็กให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรให้เด็กมีส่วนรับผิดชอบชดใช้กับการขโมยของตนด้วยตามเหมาะสม
 
บทความโดย: ผศ.นพ.ปราโมทย์ สุคนิชย์