หนูมีความสุขที่ได้เป็นกระเป๋ารถเมล์

หนูมีความสุขที่ได้เป็นกระเป๋ารถเมล์
บทความโดย อ.พญ. พลิศรา ธรรมโชติ
เครดิตภาพเพจ https://www.facebook.com/NGarageAutoMania/?rc=p

ขนุนเป็นหญิงวัยรุ่น อายุ 13 ปี ยายพามาพบหมอเพราะหงุดหงิดโวยวาย
เข้ากับเพื่อนไม่ได้ เรียนไม่ทันเพื่อน ยายเล่าให้หมอฟังว่า
อยากจะทิ้งแต่ทิ้งไม่ลงเพราะไม่มีใครเอาเขา หมอยังจำขนุนวันแรกที่เจอได้
ขนุนนั่งก้มหน้า ร้องไห้ บ่นไม่มีความสุข เรียนไม่รู้เรื่อง และยายชอบด่าหรือไล่อยู่เป็นประจำ

ขนุนคิดว่าตัวเองไม่มีค่า ผลการตรวจพบว่าขนุนมีสติปัญญาต่ำกว่าปกติ มีภาวะซึมเศร้า
เครียดจากทั้งการเรียน เพื่อน และครอบครัว
หมอให้การช่วยเหลือโดยการให้ขนุนกินยาช่วยด้านอารมณ์ซึมเศร้า ทำจิตบำบัด เสริมการเรียนที่เหมาะสมกับเด็ก ช่วยเหลือด้านจิตใจ เสริมพลังให้ยาย และแนะนำเรื่องการปรับพฤติกรรม

นอกจากนั้นสิ่งที่หมอเห็นว่าจำเป็นต้องให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนด้วยคือ ...

การกอบกู้ความภาคภูมิใจในตัวขนุนให้กลับคืนมา

ทั้งจากสายตาของยายและตัวขนุนเอง 
จากตอนแรกที่ยายหาข้อดีของขนุนไม่ได้ ก็เริ่มเห็นสิ่งที่ดี เริ่มมีสิ่งที่ยายสามารถชื่นชมขนุนได้
ยายเริ่มยอมรับและลดความคาดหวังลงได้ว่าเด็กไม่จำเป็นต้องเรียนเก่ง
หรือแข่งขันกับคนอื่นได้ แต่หวังว่าเด็กจะอยู่ในสังคมได้ ดูแลตนเองได้
ไม่ทำให้ตนเองและคนอื่นเดือดร้อน

หลังจากที่ไม่ได้เจอกันพักใหญ่ …
คราวนี้ยายและขนุนกลับมาด้วยแววตาที่เปลี่ยนไปจากเดิม ยายเล่าให้ฟังว่า
ขนุนไปเป็นกระเป๋ารถเมล์ ขนุนชอบอาชีพนี้มาก อดทน
ทำหน้าที่ได้อย่างขยันขันแข็งและมีความสุข
ขนุนมีความสุขมากเมื่อเล่าให้หมอฟังว่ากระเป๋ารถเมล์ทำงานอย่างไร

ความภาคภูมิใจในตัวเองของขนุนแผ่ขยายจากจุดหนึ่งไปยังอีกหลายๆ จุด
นี่คือความสุขของขนุน ความสุขที่ได้ทำสิ่งที่ตนเองรัก รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า

ยายยอมรับ ไม่ต้องทะเลาะกันเหมือนแต่ก่อน
หมอไม่อยากจะนึกว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราเคี่ยวเข็ญให้ขนุนเรียนเก่ง
แข่งกับเพื่อนๆ ต่อไป