ประวัติความเป็นมา

ประวัติสาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่งและแม็กซิโลเฟเชียล
     ประวัติความเป็นมา สาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่งและแม็กซิโลเฟเชียล ได้มีการเปิดบริการคนไข้พร้อมกับภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 โดยมีอาจารย์แพทย์ที่ปฏิบัติงานในช่วงแรกตั้งแต่เปิดโรงพยาบาล คือ นายแพทย์วิจิตร บุณยะโหตระ, นายแพทย์เติมศักดิ์ นาวีการ, นายแพทย์วิวัฒน์ วิสุทธิโกศล และนายแพทย์ประกอบ ทองผิว ต่อมาให้เริ่มมีการเปิดฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อสอบวุฒิบัตรสาขาศัลยศาสตร์ตกแต่ง โดยในระยะแรกฝึกอบรมปีละ 1 ท่าน ต่อมาได้เพิ่มมาเป็นปีละ 2 ท่าน และในปัจจุบันสามารถเปิดการฝึกอบรมปีละ 3 ท่าน ซึ่งแทพย์ประจำบ้านที่จบการศึกษาไปแล้วนั้น ส่วนใหญ่ก็ได้ไปทำงานรับใช้สังคมเป็นอย่างดี ปัจจุบันนี้สาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่งฯ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ให้บริการแก่คนไข้ในทุกด้านของวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่ง คือ การผ่าตัดเสริมสร้างและแก้ไขความพิการของอวัยวะต่างๆ ที่มีอยู่ภายนอกทั้งจากอุบัติเหตุ มีมาแต่กำเนิด เนื้องอก ฯลฯ การผ่าตัดเสริมสวย โดยมีการผ่าตัดแบ่งเป็นระบบต่างๆ คือ

1) ผ่าตัดรักษาโรคพิการทางกระโหลกศีรษะและปากแหว่ง เพดานโหว่ (Craniofacial and Cleft Lip and Palate Surgery)
2) ผ่าตัดเนื้องอกบริเวณศีรษะและคอ (Head and Neck Tumor)
3) ผ่าตัดรักษาโรคและอุบัติเหตุบริเวณมือ (Hand Surgery)
4) ผ่าตัดรักษาโรคความผิดปกติของหลอดเลือด และระบบทางเดินน้ำเหลือง (Vascular and Lymphatic Malformation)
5) ผ่าตัดเสริมสวย (Cosmetic Surgery)
6) รักษาโรคจากบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกและไฟฟ้าช๊อต และบาดแผลจากสารเคมี (Burns)
7) ผ่าตัดทางจุลศัลยกรรม (Microsurgery)
8) ผ่าตัดยึดกระดูก (Bone distraction)
9) ผ่าตัดบริเวณกระดูกใบหน้า (Maxillofacial Surgery)
10) ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม (Breast Reconstruction Surgery)
11) ผ่าตัดรักษาใบหน้าเบี้ยว (Facial palsy)

วิวัฒนาการการผ่าตัดที่ทางสาขาวิชาฯ ได้นำมาใช้ในปัจจุบัน คือ
1) การผ่าตัดทางจุลศัลยกรรม (Microsurgery) เพื่อต่อเส้นเลือดและเส้นประสาทขนาดเล็ก ในการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ เช่น รักษาผ่าตัดต่อนิ้ว, ผ่าตัดปลูกหนังศีรษะที่หลุดออกมา โดยที่มีชิ้นส่วนที่หลุดออกไปนำมาด้วย, รักษาการบาดเจ็บของเส้นประสาท, รักษาใบหน้าเบี้ยว (Facial palsy) โดยการปลูกถ่ายกล้ามเนื้อใหม่ของคนไข้เองมาทดแทนกล้ามเนื้อที่ไม่ทำงาน
2) การใช้เครื่องยึดผิวหนัง (Tissue expansion) เพื่อรักษาเนื้อเยื่อ, แผลเป็นที่หายไปมาก
3) การใช้วิธีผ่าตัดยึดกระดูกบริเวณใบหน้า และนิ้วเท้า (Bone distraction)
4) การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม หลังจากจำเป็นต้องตัดเต้านมออก (Breast Reconstruction)
5) มีคลินิกรักษาโรคปากแหว่ง เพดานโหว่ (Cleft Clinic) โดยบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชา ช่วยในการดูแลรักษาคนไข้แบบครบวงจร ตั้งแต่เรื่องฟัน, การฝึกพูด, ตรวจและรักษาโรคทางหู และผ่าตัดแก้ไขความพิการ
6) มี Burn Unit ในการดูแลรักษาคนไข้ที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก และยังจะมีการให้บริการแก่คนไข้ในทุกด้านเพิ่มไปเรื่อยๆ
7) ผ่าตัดเสริมสร้างหู, จมูก, หนังตา โดยใช้เนื้อเยื่อของคนไข้เอง

ด้านการบริการตรวจคนไข้นอก ทางสาขาวิชาฯ ได้จัดให้มีแพทย์ออกปฏิบัติงานที่แผนกตรวจคนไข้นอกทางศัลยกรรมทุกวัน และมีการให้บริการคนไข้ฉุกเฉินตลอดเวลา