ประวัติความเป็นมา

ประวัติสาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ เวชบำบัดฉุกเฉินและเวชบำบัดวิกฤต
     ประวัติความเป็นมา ศาสตราจารย์นายแพทย์เปรม บุรี หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ และนายแพทย์จินดา สุวรรณรักษ์ รองหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ ได้วางแผนพัฒนาภาควิชาฯ ในทุกด้าน ด้านการเรียนการสอน ในระยะแรกๆ ได้จัดให้นักศึกษาขึ้นวอร์ดทั้งเช้า บ่าย ค่ำ มี แพทย์ประจำบ้านนำดูผู้ป่วยและสอนกรรมวิธีการฉีดยา ทำแผล ให้น้ำเกลือ สวนปัสสาวะ ฯลฯ มีการสอนเสริมทางวิชาการ การดูฟิล์มเอกซเรย์ การอ่านและแปลผลการทดสอบต่างๆ อาจารย์แพทย์ก็พลัดเวรกันมาสอนนักศึกษาที่หอผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ และแม้แต่วันหยุดราชการ ในวันเสาร์ก็มีอาจารย์นัดนักศึกษามาเรียนในบางวิชานักศึกษาแพทย์แบ่งกันเป็นกลุ่มย่อยๆ กลุ่มละ 5 คน เมื่อนักศึกษาแพทย์จะแยกไปเรียนในแต่ละสาขาวิชา จะต้องผ่านการเรียนแบบผสมผสานของภาควิชาฯ ทุกเช้า เวลา 08.00 - 09.00 น. วันจันทร์ พุธ ศุกร์ ซึ่งเป็นการอภิปราย และถกเถียงกันในด้านวิชาการของอาจารย์ แพทย์ประจำบ้าน และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ จึงทำให้บรรยากาศทางวิชาการในภาควิชาฯ เป็นไปด้วยความเข้มข้น ดังนั้นความขยันขันแข็งของนักศึกษา จึงเป็นพลังดังดูดให้แพทย์ประจำบ้านและอาจารย์มีความกระตือรือร้นที่จะสอนให้โดยไม่เลือกเวลาและสถานที่ ภาพนักศึกษาปฏิบัติงานที่หอผู้ป่วยในเวลาค่ำจะพบเห็นอยู่เสมอจนชินตา และถึงแม้นักศึกษาเหล่านี้จะใช้เวลาทำงานที่หอผู้ป่วยมาก ผลการเรียนเมื่อวัดผลโดยการสอบก็ไม่ด้อยเลย สาขาวิชาศัลยศาสตร์ทั่วไปนี้ให้ปรับปรุงเทคนิคการวินิจฉัยโรค และผ่าตัดโรคที่พบบ่อย และเป็นปัญหาทางสาธารณสุข ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดี หายเร็ว โรคแทรกซ้อนน้อย และสูญเสียทรัพยากรน้อย อาทิเช่น การทำ Bypass Surgery ในโรคระบบทางเดินอาหาร การผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้ การผ่าตัดลำไส้ใหญ่ การใช้ศัลยกรรมร่วมกับยาเคมีบำบัดในโรคมะเร็ง แทนรังสีรักษาซึ่งเคยใช้มาแต่เดิมและมีอาการแทรกซ้อนมาก ผลดีของการบำบัดโดยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้ปรากฏว่าเป็นที่กล่าวขวัญและอ้างอิงในวงการแพทย์ไทยอย่างสม่ำเสมอ