หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย

ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต  สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย เป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในประเทศไทย ดำเนินการโดยภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งอยู่ ณ อาคารปัจจุบันพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ได้เริ่มเปิดสอนนักศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 เพื่อผลิตบุคลากรที่ชำนาญด้านทดสอบการได้ยินและแก้ไขการพูดแก่ผู้ป่วย โดยทำงานร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโสต ศอ นาสิก วิทยา ในสถาบันแพทย์และโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน

ความมุ่งมั่นของหลักสูตร

  • ผลิตนักแก้ไขการพูดและนักการแก้ไขการได้ยิน ที่มีความเชี่ยวชาญและมีคุณธรรม จริยธรรม
  • ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย ก้าวขึ้นเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านความผิดปกติของการสื่อความหมาย

จำนวนนักศึกษาที่เปิดรับ
เปิดรับสมัครนักศึกษาปีละประมาณ 30 คน (จำนวนนักศึกษาที่รับเข้าอาจมีการเปลี่ยนแปลง) ในระบบแอดมิชชั่น ผ่านสกอ. โดยแบ่งเป็นวิชาเอก โสตสัมผัสวิทยา 15 คน  และวิชาเอกการแก้ไขการพูด 15 คน
 

เนื้อหาของหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต  สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย มี 2 วิชาเอก คือ วิชาเอกโสตสัมผัสวิทยา และวิชาเอกการแก้ไขการพูด จัดกิจกรรมให้มีการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในคลินิก และชุมชน โดยคำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรม การตัดสินใจทางคลินิก และส่งเสริมการทำงานเป็นทีม มีเนื้อหาหลักดังนี้

  • การเรียนความรู้พื้นฐานเรื่องวิทยาศาสตร์การได้ยินและการพูด
  • การตรวจการได้ยินแบบคัดกรอง และตรวจความผิดปกติการได้ยินขั้นพื้นฐาน
  • การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินและการพูด ในเด็กพูดไม่ชัดที่ไม่มีพยาธิสภาพหรือโครงสร้างผิดปกติ
  • การติดต่อสื่อความหมายขั้นพื้นฐานกับผู้ป่วยหูพิการได้เหมาะสม
  • การกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาและการพูด ในเด็กพูดช้าที่มีสาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม

นอกจากนั้นบัณฑิตวิชาเอกโสตสัมผัสวิทยา ยังสามารถประเมินการใช้เครื่องช่วยฟัง  ให้แก่ผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีปัญหาไม่ซับซ้อนและสามารถปฏิบัติงานตรวจวัดการได้ยินในชุมชนได้

ส่วนบัณฑิตวิชาเอกการแก้ไขการพูด  สามารถกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาของเด็ก ที่มีปัญหาการพูดล่าช้า จากสาเหตุต่างๆ เช่น ประสาทการได้ยินผิดปกติ เชาว์ปัญญาต่ำ สมองพิการ กลุ่มเด็กออทิสติก และปัญหาด้านอารมณ์

สถานที่ศึกษาและแหล่งฝึกปฏิบัติ

  • ชั้นปีที่ 1-2 เรียนที่ คณะวิทยาศาสตร์ และวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา จ.นครปฐม
  • ชั้นปีที่ 3-4 เรียนที่งานแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

กิจกรรมเสริมหลักสูตร
คณะฯ สนับสนุนกิจกรรมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ของนักศึกษา  โดยมีสโมสรนักศึกษารามาธิบดี (สนร.) เป็นแกนนำในการจัดกิจกรรม เช่น

  • กิจกรรมไหว้ครู
  • โครงการสืบสานอนุรักษ์มรดกไทย

คณะฯ จัดให้มีศูนย์กีฬา อาคารสวัสดิการ ซึ่งนักศึกษาและบุคลากรสามารถใช้บริการได้

ค่าใช้จ่ายและสวัสดิการนักศึกษา

  • ค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทะเบียนเรียนตลอดหลักสูตร 4 ปี ประมาณ 60,000 บาท
  • สำหรับนักศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลือด้านการเงิน สามารถสมัครกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาของรัฐบาลได้ที่งานกิจการนักศึกษา

ลักษณะงานที่ทำและความก้าวหน้า
เมื่อสำเร็จการศึกษา สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพเป็นนักแก้ไขการพูดและนักแก้ไขการได้ยิน  โดยปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน โดยบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนี้มีสิทธิ์ขอสอบขึ้นทะเบียนรับใบประกอบโรคศิลปะเป็นวิชาชีพอิสระ ได้ที่กองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนงานบริการกระทรวงสาธารณสุข

ในด้านความก้าวหน้าของวิชาชีพสามารถศึกษาต่อ ในระดับปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย เป็นอาจารย์ นักวิชาการ และนักวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาการสื่อความหมาย หรือศึกษาต่อต่างประเทศในระดับสูง

 


สอบถามรายละเอียด ได้ที่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย
ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โทร. 0-2201-2425, 0-2201-2208 Fax 0-2201-2208
ดาวน์โหลดเอกสารแผ่นพับ