การตรวจหัวใจและหลอดเลือด

      โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นภัยเงียบ ที่ไม่ส่งสัญญาณเตือนภัย รู้ต่อเมื่อเกิดอาการเจ็บ แน่นหน้าอก ร้าวไปไหล่ กราม แล้วต้องเข้ารับการสวนหัวใจจากภายนอกสู่หัวใจ เพื่อตรวจหาหลอดเลือดที่ตีบ จากนั้นแพทย์จะทำการถ่างขยายหลอดเลือด และ/หรือ ใส่ขดลวดเพื่อถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจ หรือต้องทำการผ่าตัด

     ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ได้แก่ อายุมาก อ้วน ไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน สูบบุหรี่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ทำการวิจัยและพัฒนาแบบประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เรียกว่า Thai Cardiovascular Risk Score สามารถประเมินได้เองแบบออนไลน์ได้ที่ med.mahidol.ac.th/cardio_vascular_risk
     ไอแมคได้นำการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CTA Coronary) มาใช้ตรวจผู้ป่วย เป็นการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาสร้างภาพหลอดเลือดหัวใจสามมิติ ร่วมกับการฉีดสารทึบรังสีทางหลอดเลือดดำ ซึ่งช่วยการวินิจฉัยภาวะหลอดเลือดหัวใจเริ่มตีบ นำไปสู่การรักษาก่อนเกิดอาการของโรคได้อย่างรวดเร็ว

     สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ เช่น คลินิกหรือโอพีดี โรคหัวใจ อายุรศาสตร์ พรีเมี่ยม หรือ เวชศาสตร์ครอบครัว ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ถ้ามีความเสี่ยงแพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจ CTA Coronary ซึ่งสามารถส่งตรวจได้ในระบบสั่งตรวจเอกซเรย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี หรือดาวน์โหลดใบส่งตรวจได้ที่ AIMC.mahidol.ac.th

ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวกิจกรรม
ข่าวทั้งหมด