การฝังเข็ม (Acupuncture)

การฝังเข็ม (Acupuncture)

การฝังเข็ม คือศาสตร์หนึ่งในแพทย์แผนจีน ซึ่งชาวจีนใช้กันมานานกว่า 4,000 ปี โดยมีหลักการคือ การใช้เข็มขนาดเล็กมาก ฝังตามจุดฝังเข็มบนร่างกาย ซึ่งเป็นจุดที่มีพลังงานมากกว่าจุดอื่นๆ เพื่อทำให้พลังงาน และอวัยวะต่างๆของร่างกายที่เสียสมดุลไป กลับมาอยู่ในภาวะสมดุล

การใช้เข็มปักลงไปบนจุดฝังเข็มตามร่างกาย  เป็นการฝังเข็มเผยแพร่ไปทั่วโลก เป็นเวลาหลายร้อยปี ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การรับรองและระบุโรคที่สามารถรักษาได้ด้วยการฝังเข็ม รวมทั้งล่าสุดยังมีหลายงานวิจัยพบว่า โรคบางโรค เช่น กรดไหลย้อน ปวดหัว ปวดศีรษะไมเกรน การรักษาด้วยการฝังเข็มให้ผลการรักษาดีเทียบเท่า หรือ มากกว่าการใช้ยา โดยปลอดภัย และ ไม่ต้องเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยาอีกด้วย โดยกลุ่มโรคและอาการที่พบบ่อยมีดังนี้

  1. กลุ่มอาการปวดและโรคทางระบบกล้ามเนื้อ เช่น Office syndrome ปวดหลัง ปวดต้นคอ  ปวดไหล่ ปวดเข่า ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน
  2. กลุ่มโรคระบบประสาท เช่น ชาปลายมือ ปลายเท้า อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคอัมพาตใบหน้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง 
  3. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้ หวัดเรื้อรังและหอบหืด
  4. กลุ่มโรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น เบาหวาน  ความดันโลหิตสูง ความดันต่ำ
  5. กลุ่มโรคระบบทางเดินอาหารและลำไส้ เช่น กรดไหลย้อน ท้องผูก อาหารไม่ย่อย
  6. กลุ่มโรคทางนรีเวช เช่น ปรับสมดุล ปรับฮอร์โมน ประจำเดือนมาไม่ปกติ เข้าสู่วัยทอง ทั้งบุรุษและสตรี และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  7. กลุ่มโรคอื่นๆ เช่น การฝังเข็มเพื่อเสริมสุขภาพ เช่น เครียด กังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ

แพทย์แผนปัจจุบันศึกษาพบว่าการฝังเข็มมีผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติ  ซึ่งควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ และมีผลต่อการหลั่งสารหลายชนิดในร่างกาย  ซึ่งช่วยระงับอาการปวดและลดอาการอักเสบได้ดี  โดยในปัจจุบันมีการใช้เครื่องอบความร้อนและเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพในการฝังเข็ม  

การฝังเข็มมีฤทธิ์ในการรักษาโรค 4 ประการ คือ

  • แก้ไขการไหลเวียนของเลือดลมปราณที่ติดขัด
  • ปรับสภาพความสมดุลการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายให้อยู่ในสมดุล
  • กระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย เพื่อกำจัดเหตุปัจจัยที่เป็นอันตรายออกไปจากร่างกาย
  • ช่วยบรรเทาความเจ็บปวด และช่วยในการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ

การฝังเข็ม เป็นการรักษาอาการปวด โดยไม่ต้องใช้ยาเพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสในการแพ้ยา ผลข้างเคียงจากยาและปัญหาการติดยาแก้ปวด รวมทั้งเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่เคยรักษาอาการปวดด้วยวิธีอื่นๆแล้วไม่ได้ผล

ข้อห้ามในการฝังเข็ม

  1. สตรีที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์
  2. ผู้ป่วยโรคมะเร็ง (ที่ยังไม่ได้รับการรักษา)
  3. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดที่มีความผิดปกติของระบบแข็งตัวของเลือด
  4. ผู้ป่วยโรคที่ต้องการรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างแน่นอน
  5. ผู้ป่วยที่มีโรคที่ยังไม่ทราบการวินิจฉัยแน่นอน
  6. ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ใส่เครื่องกระตุ้นการเต้นหัวใจ (Pacemaker)

การเตรียมตัวก่อนการฝังเข็ม

  • รับประทานอาหารตามปกติให้อิ่มก่อนเข้ารับการฝังเข็ม 1-2 ชั่วโมง ไม่มากจนเกินไป เพราะถ้าฝังเข็มในช่วงผู้ป่วยอ่อนเพลียหิวหรือแน่นท้องมากจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นลมได้ง่าย
  • นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ 6 - 8 ชั่วโมง ในคืนก่อนมาเข้ารับการฝังเข็ม
  • สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมไม่ควรรัดแน่นจนเกินไป
  • รับทราบข้อปฏิบัติตัวและข้อห้ามในการฝังเข็ม
  • ปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด
  • วัดสัญญาณชีพก่อนเข้ารับการฝังเข็มทุกราย

ข้อแนะนำในการฝังเข็ม

  1. ขณะฝังเข็ม ควรอยู่ในท่าที่แพทย์กำหนด โดยไม่ขยับร่างกาย ไม่เครียดจนเกินไป หรือตามคำแนะนำของแพทย์
  2. ขณะรับการฝังเข็ม อาจมีอาการผิดปกติ เช่น มีอาการปวดมากขึ้น หน้ามืดใจสั่นเป็นลม ต้องรีบแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบทันที
  3. หลังจากที่ฝังเข็มและปักเข็มไว้แล้ว ควรนั่งพักหรืออยู่ในท่านั้นๆ เป็นระยะเวลาประมาณ 25-30 นาที หรือตามที่แพทย์กำหนด ไม่ควรขยับเขยื้อนแขนขา หรือบริเวณที่ฝังเข็มไว้ จนครบเวลา

เข็มที่ใช้ฝัง เป็นเหล็กสแตนเลส ไม่เป็นสนิม มีขนาดเล็กและบางมาก ปลายเข็มไม่ตัด ไม่กลวงไม่มีรู ได้รับการทำความสะอาดจนปลอดเชื้อ และบรรจุแผงจากโรงงาน ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งเลยไม่นำกลับมาใช้อีก ปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบและโรคเอดส์