การแพทย์แผนไทยประยุกต์ (Applied Thai Traditional Medicine)

การแพทย์แผนไทยประยุกต์ (Applied Thai Traditional Medicine)

การแพทย์แผนไทย เป็นภูมิปัญญาซึ่งบรรพบุรุษของไทยได้สั่งสมสืบทอดกันมายาวนาน มีความพยายามในการธำรงรักษาภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของชาติมาตั้งแต่อดีต มีการรวบรวมตำรายาที่ดีและจารึกไว้ในแผ่นหิน ประดับตามผนังศาลาวัดสำคัญต่างๆ เมื่อเริ่มมีการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามาในประเทศไทย การแพทย์แผนไทยยังคงมีบทบาทในการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยมีการพัฒนาการแพทย์แผนไทยยุคใหม่ เรียกว่า “การแพทย์แผนไทยประยุกต์” คือการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้ามาประยุกต์เพื่ออธิบายและพัฒนาการแพทย์แผนไทย 

ศาสตร์การแพทย์แผนไทยประกอบด้วย

  • เวชกรรมแผนไทย เป็นการตรวจและรักษาโรคด้วยทฤษฎีการแพทย์แผนไทย 
  • ภสัชกรรมแผนไทย เป็นการปรุงยาและผลิตยาสมุนไพรสำหรับรักษาโรค 
  • หัตถเวชกรรมแผนไทย เป็นการบำบัดรักษาด้วยหัตถการ 
  • ผดุงครรภ์ เป็นศาสตร์การดูแลหญิงตั้งครรภ์ การทำคลอด การดูแลหญิงหลังคลอด รวมทั้งการดูแลทารกแรกเกิด

การแพทย์แผนไทยประยุกต์ (Applied Thai Traditional Medicine)

การรักษาด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ จะรวบรวมและประมวลข้อมูลตามแนวคิดและทฤษฎีการแพทย์แผนไทยว่าด้วยเรื่องธาตุ เช่น คัมภีร์โรคนิทาน คัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย คัมภีร์ธาตุวิภังค์ คัมภีร์ธาตุวิวรณ์ คัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งกล่าวไว้ว่าร่างกายมนุษย์ประกอบขึ้นจากกองธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลมและธาตุไฟ โดยมนุษย์แต่ละคนจะมีส่วนประกอบธาตุต่างๆที่ไม่เหมือนกัน แต่จะมีธาตุใดธาตุหนึ่งเป็นใหญ่ เรียกว่าธาตุเจ้าเรือน ของคนๆนั้น  แต่ธาตุเจ้าเรือนซึ่งมีมาแต่เกิดจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา ปัจจัยที่มีอิทธิพลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ อายุ ฤดูกาล กาลเวลา ถิ่นที่อยู่และมูลเหตุการเกิด โรคที่เกิดจากพฤติกรรม หากเกิดความไม่สมดุลของธาตุที่เป็นองค์ประกอบขึ้นเมื่อใด ก็จะเกิดโรคหรือความเจ็บป่วยขึ้น เมื่อแพทย์แผนไทยประยุกต์ให้การวินิจฉัยโรคแล้ว จะวางแผนการบำบัดรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยให้ผู้ป่วย ซึ่งประกอบด้วยวิธีการดังนี้

  1. การใช้ยาสมุนไพร อาจเป็นการปรุงยาสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ยาต้มหรือจ่ายยาสำเร็จรูปที่ผลิตไว้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ยาลูกกลอน ยาเม็ด ยาแคปซูล เป็นต้น
  2. การใช้หัตถการ/วิถีทางการแพทย์แผนไทย เช่น การนวด การประคบสมุนไพร การอบไอน้ำสมุนไพร การทับหม้อเกลือ การนั่งถ่าน การพอกผิว เป็นต้น
  3. การให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยและการส่งสริมสุขภาพ เช่น การปฏิบัติตัว การบริหารร่างกาย การรับประทานอาหาร การปรับพฤติกรรม เป็นต้น

กลุ่มอาการที่สามารถรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ได้แก่

  • กลุ่มการปวดบริเวณต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ คอแข็งตึง ปวดต้นคอ,คอตกหมอน ปวดสะบัก/บ่า,ปวดไหล่,หัวไหล่ติด ปวดแขน,ข้อศอก,ข้อมือ,ข้อนิ้วมือ,ปวดหลัง,ปวดสะโพก,ปวดขา,ปวดเข่า,เข่าบวม,เหน็บชา,ตะคริวน่อง,ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจาการเล่นกีฬา,กล้ามเนื้ออ่อนแรง,กล้ามเนื้อเกร็ง,ปวดข้อเท้า/ส้นเท้า,ข้อเท้าแพลง
  • ท้องผูก,นอนไม่หลับ,ไข้หวัด,คัดจมูก, หอบหืด,ภูมิแพ้ 
  • อัมพฤกษ์ ,อัมพาต
  • สตรีหลังคลอดน้ำคาวปลาไม่เดิน, คัดตึงเต้านม,น้ำนมไหลน้อย เป็นต้น