รายวิชาเลือก ๑ รมวส ๕๓๑ (RAAS 531) การให้ยาระงับความรู้สึกในภาวะซับซ้อน (Complicated Anesthesia)

 
 
วิสัญญีวิทยาประยุกต์ ๑
 
 
๑. ชื่อหลักสูตร     แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  
 
๒. รหัสรายวิชา   รมวส ๕๓๑  (RAAS 531)
ชื่อรายวิชา   วิสัญญีวิทยาประยุกต์ ๑ (การให้ยาระงับความรู้สึกในภาวะซับซ้อน) 
Applied Anesthesiology 1 (Complicated Anesthesia) 
 
๓. จำนวนหน่วยกิต ภาคปฏิบัติ ๒ หน่วยกิต  
 
๔. เงื่อนไขของรายวิชา
รายวิชาที่ต้องผ่านก่อน รมวส ๕๐๕  วิสัญญีวิทยาพื้นฐาน
จำนวนนักศึกษาที่เปิดสอน ครั้งละไม่เกิน ๖ คน 
 
๕. ประเภทวิชา วิชาเลือกทางคลินิก 
 
๖. ภาคการศึกษาที่เปิดสอน และปีการศึกษาที่เริ่มเปิดสอน  
เริ่มสอนในปีการศึกษา ๒๕๔๗  โดย
เปิดสอนสำหรับนักศึกษาปี ๕ ภาคปลาย ครั้งละ ๒ สัปดาห์ จำนวน ๓ ครั้ง (สัปดาห์ที่ ๔๓-๔๘)
เปิดสอนสำหรับนักศึกษาปี ๖ ครั้งละ ๒ สัปดาห์ จำนวน ๒๑ ครั้ง (สัปดาห์ที่ ๑-๔๒) 
 
๗. คำอธิบายรายวิชา 
การประเมินและเตรียมผู้ป่วยก่อนการให้ยาระงับความรู้สึก การให้ยาระงับความรู้สึกในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว  การแก้ปัญหาเปิดทางเดินหายใจลำบาก  ข้อผิดพลาดของการเฝ้าระวังที่ใช้บ่อยทางคลินิก  การให้ยาระงับความรู้สึกโดยวิธีฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังและโดยสกัดกั้นเส้นประสาทส่วนปลาย  การสอดสายสวนหลอดเลือดดำส่วนกลาง  การสอดสายสวนหลอดเลือดแดงและการวัดความดันเลือดแดงโดยตรง  การให้ยาระงับความรู้สึกเพื่อการผ่าตัดคลอด การให้ยาระงับความรู้สึกในเด็ก การให้ยาระงับความรู้สึกเพื่อการผ่าตัดฉุกเฉิน ภาวะแทรกซ้อนของการระงับความรู้สึก การบำบัดความปวดสำหรับแพทย์ทั่วไป 
 
๘. วัตถุประสงค์ของวิชา 
 
เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนรายวิชานี้แล้ว นักศึกษาแพทย์สามารถ
๘.๑ อธิบายขั้นตอน วิธีการ การป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อน  พร้อมทั้งผ่านประสบการณ์การให้ยาระงับความรู้สึกในภาวะซับซ้อนต่อไปนี้ คือ การผ่าตัดคลอด ผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวาน โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบหายใจ ผู้ป่วยเด็ก และการระงับความรู้สึกเพื่อการผ่าตัดฉุกเฉิน 
๘.๒ ให้ยาระงับความรู้สึกโดยวิธีฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังสำเร็จด้วยตนเอง
๘.๓ อธิบายการป้องกัน การวินิจฉัย และการแก้ปัญหาเปิดทางเดินหายใจลำบากได้ถูกต้อง 
๘.๔ เลือกใช้ แสดงวิธีใช้ แปลผล และตอบสนองต่อผลการเฝ้าระวังในทางคลินิกได้ถูกต้อง 
๘.๕ สอดสายสวนหลอดเลือดดำส่วนกลางได้ด้วยตนเอง 
๘.๖ อธิบายข้อบ่งชี้ วิธีการทำ การป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนของการสอดสายสวนหลอดเลือดแดงและวัดความดันหลอดเลือดแดงโดยตรงได้ถูกต้อง  
๘.๗ อธิบายบทบาทของแพทย์ทั่วไปในการบำบัดความปวดชนิดต่างๆ ได้ถูกต้อง
๘.๘ วินิจฉัย และรักษา ภาวะแทรกซ้อนของการระงับความรู้สึกได้ถูกต้อง