บทบาทของอาหารเค็มต่อการเกิดโรคไต

บทบาทของอาหารเค็มต่อการเกิดโรคไต
Volume: 
ฉบับที่ 7 เดือน มีนาคม 2556
Column: 
Healthy Eating
Writer Name: 
ผศ.ดร.พญ.อติพร อิงค์สาธิต พญ.กชรัตน์ วิภาสธวัช ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

บทบาทของอาหารเค็มต่อการเกิดโรคไต

บทบาทของอาหารเค็มต่อการเกิดโรคไต

โรคความดันโลหิตสูงและโรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สําคัญของคนไทย จากการศึกษาความชุกของโรค พบว่ามีประชากรไทยที่เป็นความดันโลหิตสูงได้ถึง 1 ใน 4 ของผู้ใหญ่ หรือกว่า 10 ล้านคน และพบว่ามีประชากรไทยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 7 ล้านคน โดยส่วนมากเป็นโรคไตระยะเริ่มต้น ซึ่งถ้าความดันโลหิตสูงไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทําให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น หัวใจวายอัมพาต และความเสื่อมจากการทํางานของไตนําไปสู่ภาวะไตวาย หลักสําคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเหล่านี้คือ ควบคุมความดันโลหิต รักษาเบาหวาน รวมทั้งป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือด

อุปสรรคที่สําคัญที่ทําให้การควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ตามเป้าหมายคือ การบริโภคเกลือปริมาณมากมีการเติมเกลือหรือน้ำปลาในการปรุงรสชาติอาหารให้มีรสเค็ม โดยเฉพาะคนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคเกลือสูงถึง 2 เท่าของปริมาณที่ร่างกายต้องการ และผลเสียที่ติดตามมากับอาหารเค็มก็คือ “โซเดียมสูง” ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ส่งผลเสียทั้งทําให้ความดันโลหิตสูง เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังส่งผลเสียต่อไตโดยตรง

จากการศึกษาพบว่าคนที่รับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงเป็นประจํา มีโอกาสเป็นโรคหัวใจและเสียชีวิตสูงกว่าคนที่รับประทานอาหารที่มีโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสม ดังนั้นเราจึงควรมาทําความรู้จักสิ่งที่เรียกว่าโซเดียม เพื่อให้ทราบถึงบทบาทต่อร่างกายและวิธีการลดปริมาณโซเดียมในอาหารได้อย่างถูกต้อง

บทบาทของอาหารเค็มต่อการเกิดโรคไต

โซเดียมคืออะไร

โซเดียมเป็นหนึ่งในเกลือแร่ที่สําคัญในร่างกาย ทําหน้าที่ควบคุมสมดุลของเกลือแร่ การกระจายตัวของน้ำในส่วนต่างๆของร่างกาย ควบคุมสมดุลของกรด-ด่าง ควบคุมการเต้นของหัวใจและชีพจร มีผลต่อความดันโลหิตและการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ร่างกายของเราได้รับโซเดียมจากอาหาร ซึ่งมักอยู่ในรูปของเกลือโซเดียมคลอไรด์ ทําให้มีรสชาติเค็ม มักใช้เพื่อปรุงรสหรือถนอมอาหาร เช่น น้ำปลา กะปิ นอกจากนี้โซเดียมยังแอบแฝงอยู่ในอาหารรูปแบบอื่นแต่ไม่มีรสชาติเค็ม เช่น ผงชูรส ผงฟู เป็นต้น

ผลของการรับประทานโซเดียมสูงต่อร่างกาย

การรับประทานโซเดียมในปริมาณที่มากหรือน้อยเกินไป ล้วนส่งผลเสียต่อร่างกาย จากการสํารวจของกรมอนามัยร่วมกับสถาบันโภชนศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าคนไทยส่วนใหญ่รับประทานโซเดียมมากถึงสองเท่าของปริมาณที่แนะนํา ซึ่งผลเสียของการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง มีดังนี้

1) เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่างๆ

แม้ว่าโซเดียมมีความจําาเป็นต่อร่างกาย แต่หากมีโซเดียมมากเกินไปทําให้เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในร่างกาย ในผู้ที่สุขภาพแข็งแรงไตยังสามารถกําจัดเกลือและน้ำส่วนเกินได้ทัน แต่ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ซึ่งมักจะไม่สามารถกําจัดเกลือและน้ำส่วนเกินในร่างกายได้ ทําให้เกิดภาวะคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่างๆ เช่น แขน ขา หัวใจ และปอด ผลที่เกิดขึ้นทําให้แขนขาบวม เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้ ในผู้ป่วยโรคหัวใจ น้ำที่คั่งในร่างกายจะทําให้เกิดภาวะหัวใจวายมากขึ้น

2) ทําให้ความดันโลหิตสูง

การรับประทานโซเดียมมากเกินไปทําให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง คนอ้วน และผู้ป่วยโรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูงทําให้เกิดผลเสียต่อหลอดเลือดในอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ และสมอง เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ตามมา นอกจากนี้ยังพบว่าในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว หากรับประทานโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสมควบคู่กับยาลดความดันโลหิตสามารถลดความดันโลหิตได้ดีกว่าผู้ที่รับประทานยาลดความดันโลหิต แต่ได้รับโซเดียมเกินกําหนด

3) เกิดผลเสียต่อไต

จากการที่มีการคั่งของน้ำและความดันโลหิตสูง ทําให้ไตทํางานหนักขึ้น เพื่อเพิ่มการกรองโซเดียมและน้ำส่วนเกินของร่างกาย ผลที่ตามมาคือเกิดความดันในหน่วยไตสูงขึ้นและเกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะมากขึ้นนอกจากนี้ยังกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารบางอย่างเหล่านี้ ซึ่งทําให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น

บทบาทของอาหารเค็มต่อการเกิดโรคไต

โซเดียมอยู่ในอาหารประเภทใดบ้าง

อาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง ส่วนใหญ่มักมีรสชาติเค็ม ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารทุกชนิดที่มีรสชาติเค็ม นอกจากนี้ยังมีอาหารที่มีโซเดียมสูงแต่ไม่เค็ม ซึ่งเรียกว่ามีโซเดียมแฝง ทําให้เรารับโซเดียมโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงควรทําาความรู้จักอาหารประเภทนี้ไว้ด้วย จากการสํารวจพบว่าปริมาณโซเดียมที่ได้รับส่วนใหญ่มาจากขั้นตอนการปรุงอาหารมากกว่าการเติมน้ำปลาหรือเกลือเมื่ออาหารถูกปรุงเสร็จแล้ว เราสามารถแบ่งอาหารที่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบได้ดังนี้

1) อาหารแปรรูปหรือการถนอมอาหาร ได้แก่ อาหารกระป๋องทุกชนิด อาหารหมักดอง อาหารเค็ม อาหารตากแห้ง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักดอง และผลไม้ดอง เป็นต้น

2) เครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ ได้แก่ เกลือ (ทั้งเกลือเม็ดและเกลือป่น) น้ำปลา มีปริมาณโซเดียมสูง คนที่ต้องจํากัดโซเดียมไม่ควรทานซอสปรุงรสต่างๆ เช่น ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว น้ำบูดู กะปิ ปลาร้า ปลาเจ่า เต้าหู้ยี้ ซอสหอยนางรม ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้มต่างๆ ที่มีรสเปรี้ยวๆ หวานๆ ซอสเหล่านี้แม้จะมีปริมาณโซเดียมไม่มากเท่ากับน้ำปลา แต่คนที่ต้องจํากัดโซเดียมก็ต้องระวังไม่ให้กินมากเกินไปด้วย

3) ผงชูรส แม้เป็นสารปรุงรสที่ไม่มีรสเค็ม แต่ก็มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยประมาณร้อยละ15 ของส่วนประกอบ

4) อาหารกระป๋องต่างๆ เช่น ผลไม้กระป๋อง ปลากระป๋อง และอาหารสําเร็จรูปต่างๆ ขนมกรุบกรอบ เป็นต้น อาหารเหล่านี้มีการเติมเกลือหรือสารกันบูด มีโซเดียมในปริมาณที่สูงมาก

5) อาหารกึ่งสําเร็จรูป เช่น บะหมี่ โจ๊ก ข้าวต้ม ซุปต่างๆ ทั้งชนิดก้อนและชนิดซอง

6) ขนมต่างๆ ที่มีการเติมผงฟู (Baking Powder หรือ Baking Soda) เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง ซึ่งผงฟูที่ใช้ในการทําขนมเหล่านี้มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ (โซเดียมไบคาร์บอเนต) รวมถึงแป้งสําเร็จรูป ที่ใช้ทําขนมเองก็มีโซเดียมอยู่ด้วยเพราะได้ผสมผงฟูไว้แล้ว

7) น้ำและเครื่องดื่ม น้ำฝนเป็นน้ำที่ปราศจากโซเดียม แต่น้ำบาดาลและน้ำประปามีโซเดียมปนอยู่บ้างในจํานวนไม่มากนัก ส่วนเครื่องดื่มเกลือแร่ยี่ห้อต่างๆ มีการเติมสารประกอบของโซเดียมลงไปด้วย เพราะมีจุดประสงค์ให้เป็นเครื่องดื่มสําหรับนักกีฬาหรือผู้ที่สูญเสียเหงื่อมาก ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป ส่วนน้ำผลไม้บรรจุกล่อง ขวด หรือกระป๋อง ก็มักมีการเติมสารกันบูด (โซเดียมเบนโซเอต) ลงไปด้วยทําให้น้ำผลไม้เหล่านี้มีโซเดียมสูง ดังนั้นหากต้องการดื่มน้ำผลไม้ ควรดื่มน้ำผลไม้สดจะดีกว่า

เราจะลดปริมาณโซเดียมในอาหารลงได้อย่างไร

ในด้านของการรักษาฝ้า ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการรักษาฝ้าให้หายขาดเป็นเรื่องยาก และฝ้าเมื่อเป็นแล้วมักจะเป็นๆ หายๆ ยาที่รักษาฝ้าเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีที่ได้ผล 100% หรือทําให้ฝ้าหายขาด และมักจะต้องใช้ยาหลายๆ ชนิดร่วมกัน

ปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมในการบริโภค ไม่ควรเกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบเป็นปริมาณเกลือโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแกงได้ 1 ช้อนชาหรือเทียบเป็นปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงอื่นๆ ได้ดังตัวอย่าง ในตารางที่ 1 แสดงปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงต่างๆ

ตารางที่ 1 ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงต่างๆ

เครื่องปรุงรส ปริมาณ โซเดียม (มิลลิกรัม)
ผงปรุงรส 1 ช้อนชา 950
ผงชูรส 1 ช้อนชา 600
ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ 420-490
น้ำปลา / ซีอิ๊ว / ซอสปรุงรส 1 ช้อนชา 400
ผงฟู  1 ช้อนชา 340
ซอสพริก / น้ำจิ้มไก่ 1 ช้อนโต๊ะ 220

 

บทบาทของอาหารเค็มต่อการเกิดโรคไต

หากรับประทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียมเหล่านี้ 3 มื้อต่อวัน จะทําให้ได้รับโซเดียมมากเกินความต้องการของร่างกาย นอกจากนี้หากเราเติมน้ำปลาเพิ่มเข้าไปอีก ก็จะเป็นการเพิ่มปริมาณโซเดียมอีกถึงช้อนชาละ 500 มิลลิกรัม ส่งผลให้ร่างกายได้รับโซเดียมปริมาณสูงขึ้นไปอีก ดังนั้นหลักการที่สําคัญในการลดปริมาณโซเดียมที่รับประทานได้แก่

  1. หลีกเลี่ยงการใช้เกลือในการปรุงอาหาร และเลือกเติมเครื่องปรุงให้โซเดียมไม่เกินปริมาณที่กําหนดการเลือกรับประทานอาหารที่มีหลายรสชาติ เช่น แกงส้ม ต้มยํา ให้รสหวาน เปรี้ยว หรือเผ็ด เพื่อช่วยเพิ่มรสชาติ
  2. หลีกเลี่ยงอาหารประเภทดองเค็ม เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาแดดเดียว อาหารหมักดอง ปลาส้ม แหนม และอาหารแปรรูปจําพวกไส้กรอก กุนเชียง หมูหยอง
  3. ไม่เติมผงชูรส
  4. น้ำซุปต่างๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยว มักมีปริมาณโซเดียมสูง ควรรับประทานแต่น้อยหรือเทน้ำซุปออกบางส่วนแล้วเติมน้ำเพื่อเจือจางลง
  5. ตรวจดูปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคบนฉลากของอาหารสําเร็จรูปและขนมถุง เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงได้ถูกต้อง

อาหารเค็มและอาหารที่มีโซเดียมสูงถือเป็นมหันตภัยเงียบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความเคยชินในการรับประทานอาหารรสเค็มจัดของคนไทยนั้นปรับเปลี่ยนได้ยาก แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อเกิดความเคยชินแล้ว ลิ้นของเราก็จะไม่โหยหารสเค็มอีกต่อไป  เราจึงควรมาสร้างนิสัยกินจืดอย่างถูกวิธีกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อลดการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ และเพื่อสุขภาพที่ดีตามมาด้วย

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 7