มารู้จักกับ 2 เชื้อร้าย 3 โรคอันตราย

มารู้จักกับ 2 เชื้อร้าย 3 โรคอันตราย
Volume: 
ฉบับที่ 11 เดือน พฤศจิกายน 2556
Column: 
Health Station
Writer Name: 
ผศ.นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

มารู้จักกับ 2 เชื้อร้าย 3 โรคอันตราย

มารู้จักกับ 2 เชื้อร้าย 3 โรคอันตราย

ในปัจจุบันหลายครอบครัวคงจะเคยได้ยินชื่อของ “เชื้อนิวโมคอคคัส  (Pneumococcus) และเชื้อเอ็นทีเอชไอ  (NTHi)” สองเชื้อแบคทีเรียตัวร้ายที่แผลงฤทธิ์ จนก่อให้เกิด 3 โรคอันตรายอย่าง โรคไอพีดี โรคปอดบวม และโรคหูชั้นกลางอักเสบ

เชื้อนิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอ (ฮีโมฟีลุส อินฟลูเอ็นซา ชนิดไม่มีเปลือกหุ้ม) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ในโพรงจมูกและลําาคอของคนเรา ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ก่อโรค แต่เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอ เชื้อโรค 2 ชนิดนี้จะก่อให้เกิดอันตรายได้ โดยเชื้อนิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอ จะเป็นสาเหตุหลักในการก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดบวม เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของการติดเชื้อรุนแรงที่เยื่อหุ้มสมองและในกระแสเลือดอีกด้วย

ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปีมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโรค 2 ชนิดนี้ โดยเชื้อโรคจะติดต่อจากคนสู่คน ผ่านทางเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย เช่น ในขณะไอ จาม มีอาการคล้ายไข้หวัด เป็นเชื้อโรคที่อยู่ในอากาศได้นานกว่าปกติ ซึ่งเชื้อโรคนิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอ เป็นตัวการก่อให้เกิด โรคหูชั้นกลางอักเสบ (โรคหูน้ำหนวก) ปอดบวม (ปอดอักเสบ) โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด

รู้จักกับ 3 โรค และวิธีป้องกัน

1. โรคไอพีดี (IPD: Invasive Pneumococcal Disease)

โรคไอพีดี (IPD: Invasive Pneumococcal Disease) คือ โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง การติดเชื้อในกระแสเลือด โรคปอดบวมจากการติดเชื้อในกระแสเลือด และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเด็กที่ติดเชื้ออาจเสียชีวิต หรือพิการทางสมอง โดยอาการและระดับความรุนแรงของโรคติดเชื้อไอพีดี จะขึ้นอยู่กับระบบอวัยวะที่ติดเชื้อ

อาการของโรคติดเชื้อในระบบประสาท เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งในเด็กทารกอาจมีการงอแง ซึม ไม่กินนม และชักได้
อาการของโรคติดเชื้อในกระแสเลือด หากเกิดในเด็กเล็กมักจะมีไข้สูง ร้องกวน งอแง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ช็อก หรืออาจเสียชีวิตได้

2. โรคปอดบวม (ปอดอักเสบ)

โรคปอดบวม (โรคปอดอักเสบ) คือ ปอด รวมถึงหลอดลมและถุงลม มีการติดเชื้อและอักเสบ ทําให้ความสามารถในการทํางานของอวัยวะต่างๆ เหล่านี้ลดลง โรคปอดบวมเป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็ก เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส โดยเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสและเชื้อเอ็นทีเอชไอเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปอดบวมในเด็ก

อาการของโรคปอดบวม เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย หายใจเร็ว และหายใจลําบาก โดยโรคปอดบวม อาจทําให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะน้ำหรือหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่รุนแรง และภาวะช็อก

จากข้อมูลการประเมินขององค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ พบว่า ปอดบวมเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีเด็กเสียชีวิตสูงถึง 2 ล้านคนต่อปี เนื่องจากโรคปอดบวมทําให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายจากปอดอักเสบ

3. โรคหูชั้นกลางอักเสบ

โรคหูชั้นกลางอักเสบ คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อที่บริเวณหูชั้นกลาง พบบ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ส่วนใหญ่เกิดร่วมหรือเกิดหลังจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เชื้อโรคจากโพรงหลังช่องจมูกจึงแพร่กระจายมายังหูชั้นกลาง ซึ่งสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเกิดจากโรคภูมิแพ้ โดยเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสําคัญได้แก่ เชื้อนิวโมคอคคัสและเชื้อเอ็นทีเอชไอ เป็นต้น

การอักเสบเฉียบพลันของหูชั้นกลางพบได้บ่อยในเด็ก มีรายงานว่า 80% ของเด็กอายุตําากว่า 3 ปี มีโอกาสเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบอย่างน้อย 1 ครั้ง เหตุผลที่พบบ่อยในเด็ก เชื่อว่าเนื่องจากมีการติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อย เชื้อจึงมีโอกาสแพร่มาทางท่อยูสเตเชียน ซึ่งสั้นและวางตัวในแนวนอนมากกว่าในผู้ใหญ่ โดยท่อยูสเตเชียนเป็นท่อเล็กๆ ที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางกับโพรงหลังจมูก หากมีการอักเสบที่หูชั้นกลาง เชื้ออาจกระจายไปที่อวัยวะต่างๆ เช่น ไปสู่สมอง ทําให้เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือฝีในสมองได้

ซึ่งหากเด็กไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจเกิดความพิการทางการได้ยิน ทําให้เด็กมีปัญหาความล่าช้าในการเรียนรู้ ส่งผลต่อเนื่องต่อพัฒนาการทางภาษา พัฒนาการด้านต่างๆ และคุณภาพชีวิตตามมา

ทั้ง 3 โรคนี้รักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะร่วมกับวิธีการรักษาอื่นๆ สิ่งสําคัญคือต้องได้รับการวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างทันท่วงที ปัจจุบันพบว่าเชื้อนิวโมคอคคัสและเชื้อเอ็นทีเอชไอ  มีการดื้อยาปฏิชีวนะทําาให้การรักษายากขึ้น

วิธีป้องกันลูกให้ห่างไกลจาก 2 เชื้ออันตราย

  1. เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  2. รักษาความสะอาด ดูแลข้าวของเครื่องใช้ ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนให้นม ก่อนสัมผัสอาหารและสัมผัสตัวเด็ก
  3. ล้างมือบ่อยๆ ปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ไอ หรือจาม
  4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีอาการ ไอ จาม รวมถึงหลีกเลี่ยงการพาลูกไปในสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันมากๆ
  5. ปรึกษากุมารแพทย์เรื่องการเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันโรคจากเชื้อ 2 ชนิดนี้
Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 11