โรคของเส้นผมและหนังศีรษะ

โรคของเส้นผมและหนังศีรษะ
Volume: 
ฉบับที่ 17 เดือน พฤศจิกายน 2557
Column: 
Beauty Full
Writer Name: 
ผศ.นพ.วาสนภ วชิรมน แผนกผิวหนังและเลเซอร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

โรคของเส้นผมและหนังศีรษะ

เมื่อเอ่ยถึงปัญหาเส้นผมและหนังศีรษะ คงจะมีผู้อ่านหลายท่านเคยหรือกําลังประสบปัญหาดังกล่าวเป็นจํานวนไม่น้อย โรคนี้แม้จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ก็ทํา ให้เกิดความไม่มั่นใจแก่ผู้ที่เป็นและทําให้เสียบุคลิกภาพได้

โรคของเส้นผมและหนังศีรษะที่จะกล่าวถึงในฉบับนี้ ได้แก่ โรคผมบางทางพันธุกรรม โรคผมร่วงภายหลังความเครียด โรคผมร่วงหย่อม โรคหนังศีรษะอักเสบและรังแค

เริ่มกันที่ “โรคผมบางทางพันธุกรรม” เป็นโรคผมบางที่พบได้บ่อยทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ในผู้หญิงจะมีผมบางทั่วศีรษะ โดยจะพบมากบริเวณกลางหนังศีรษะและแนวผมด้านหน้า อาการที่เริ่มเป็นจะพบได้ตั้งแต่อายุ 20 ปี  และอาจเริ่มเป็นเมื่ออายุได้ 50-60 ปี  สําหรับผู้ชายมักจะมีผมบางเริ่มต้นที่ขมับสองข้างและกลางหนังศีรษะ ซึ่งอายุที่เริ่มเป็นสามารถพบได้เช่นเดียวกันกับในผู้หญิง ผู้ป่วยส่วนมากจะมีประวัติคนในครอบครัวที่เป็นผมบาง อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยจํานวนหนึ่งที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคผมบาง แต่จะพบว่าเส้นผมของผู้ที่เป็นจะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ตามวงจรของเส้นผม จนในที่สุดจะกลายเป็นหนังศีรษะที่ไม่มีเส้นผมหรือศีรษะล้านสําหรับอัตราและความรุนแรงของผมบางไม่สามารถคาดเดาได้ แต่ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น

การรักษาภาวะผมบางทางพันธุกรรม วิธีการรักษาหลักได้แก่  การใช้ยา  ซึ่งมีทั้งยาชนิดทาและชนิดรับประทาน โดยส่วนมากจะต้องใช้ควบคู่กันเพื่อให้ได้ผลที่ดี หากเริ่มรักษาตั้งแต่ยังเป็นไม่มาก จะได้ผลการรักษาที่ดีกว่าเมื่อผมร่วงไปมากแล้ว ภายหลังเริ่มการรักษาผมจะเริ่มหยุดร่วงประมาณ 3 เดือน และจะเริ่มเห็นผมเส้นใหม่งอกขึ้นเมื่อรักษาไปแล้วหลายเดือน นอกจากนี้ยังมีวิธีการผ่าตัดปลูกผม ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลสําหรับผมบางในบางชนิดเท่านั้น ทางที่ดีจึงควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม

โรคผมบางอีกชนิดที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรคผมร่วงภายหลังความเครียด คําว่า “ความเครียด” ไม่ได้หมายถึงเครียดทางจิตใจอย่างเดียว แต่รวมไปถึงความเครียดทางร่างกายและการเจ็บป่วยด้วย เช่น การเป็นไข้สูง การผ่าตัดการคลอดบุตร การอดอาหารมากๆ เพื่อลดนําหนัก โรคทางร่างกายบางชนิด เช่น โรคโลหิตจาง โรคของต่อมไทรอยด์ และการได้รับยาบางชนิด ปัจจัยเหล่านี้จะทําาให้วงจรเส้นผมเปลี่ยนแปลงไป ทําให้ผมผลัดออกจากหนังศีรษะมากขึ้น ลักษณะผมบางจะเป็นผมบางแบบทั่วศีรษะภาวะนี้สามารถหายได้เองใน 6  เดือนภายหลังจากสาเหตุได้ถูกแก้ไขหรือกําจัดออกไป

โรคผมร่วงอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ได้พบบ่อยนักแต่มีความสําคัญ ได้แก่ โรคผมร่วงหย่อม หรือผมร่วงเป็นกระจุก เป็นโรคที่เกิดจากความแปรปรวนของภูมิคุ้มกันในร่างกาย ร่างกายเกิดมีภูมิคุ้มกันไปทําลายรากผมตัวเอง จึงกดและหยุดการเจริญของผม ทําให้ผมร่วง ลักษณะของหนังศีรษะที่ผมร่วงจะไม่มีการอักเสบเป็นวงๆ เริ่มจากวงขนาดเล็กกว่า 1  เซนติเมตรไปจนถึงขนาดหลายเซนติเมตร หากมีหลายวง และแต่ละวงขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อาจทําให้ศีรษะล้านได้เมื่อเป็นมาก อาจมีขนคิ้ว ขนตา หรือหนวดเคราร่วงด้วยได้ ผมร่วงชนิดนี้พบได้ทุกเพศทุกวัย โรคผมร่วงหย่อมไม่ได้เป็นอาการของโรคร้ายแรงอะไร สามารถพบได้ในผู้ที่มีสุขภาพดีทั่วๆ ไป แต่อาจมีความเสี่ยงของโรคเหล่านี้สูงกว่าคนทั่วไป ได้แก่ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง หอบหืด และโรคที่เกี่ยวกับภาวะภูมิคุ้มกันแปรปรวนอื่นๆ เช่น โรคไทรอยด์ โรคด่างขาว และโรคเอสแอลอี

“โรคผมบางทางพันธุกรรม”
พบได้ตั้งแต่อายุ 20 ปี
และอาจเริ่มเป็นเมื่ออายุได้ 50 - 60 ปี
ในผู้หญิงจะมีผมบางทั่วศีรษะ
จะพบมากบริเวณกลางหนังศีรษะ
และแนวผมด้านหน้า
ในผู้ชายจะมีผมบางเริ่มที่ขมับสองข้าง
และกลางศีรษะ

ประมาณร้อยละ 90 ของผู้ที่มีผมร่วงหย่อมสามารถรักษาให้หายได้ ส่วนที่เหลือพบว่าผมไม่ขึ้นใหม่อีกเลย ในบางรายอาจพบได้ว่าผมที่ขึ้นใหม่กลับร่วงได้อีก ระยะเวลาที่เกิดผมร่วงนี้แตกต่างกันในแต่ละบุคคล ไม่สามารถพยากรณ์ได้อย่างแม่นยําว่าผมจะขึ้นใหม่หรือจะร่วงไปเมื่อใด ในบางคนอาจเป็นครั้งเดียวหรือในบางคนอาจมีอาการผมร่วงและขึ้นใหม่เป็นๆ หายๆ ได้ ผมที่ร่วงสามารถขึ้นใหม่จนเป็นปกติได้ แม้ในผู้ที่มีอาการร่วงทั้งหนังศีรษะ หรือร่วงทั้งผมและขนร่วมกัน ผมที่ขึ้นใหม่บางครั้งอาจมีสีขาวและเปราะบาง แต่จะกลับมีสีและสภาพเดิมได้ในเวลาต่อมา

โรคของเส้นผมและหนังศีรษะ

โรคของหนังศีรษะอีกโรคที่พบได้บ่อยได้แก่ โรคคันหนังศีรษะและรังแค คําว่ารังแคคือสะเก็ดสีขาวบนหนังศีรษะเกิดจากเซลล์ชั้นบนสุดของหนังศีรษะลอกตัวหลุดออก ตามปกติแล้วเซลล์หนังศีรษะของคนเรา ซึ่งเกิดใหม่จะค่อยๆ เลื่อนจากใต้ผิวหนังขึ้นมาจนถึงผิวชั้นบนสุด และหลุดออกไปในเวลาประมาณ 28 วัน โดยเซลล์ที่หลุดออกจะเป็นชิ้นเล็กๆ ที่ตาเปล่ามองไม่เห็นแต่ถ้ามีสาเหตุใดก็ตามที่ทําให้วงจรนี้ถูกเร่งให้เร็วขึ้น เช่น จาก 28 วัน เหลือแค่ 7-21 วัน โดยเซลล์ที่หลุดออกแทนที่จะเป็นชิ้นเล็ก กลับมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นขุยสีขาวหรือเทา และมองเห็นได้ชัด แถมมีอาการคันศีรษะร่วมด้วย แสดงว่ามีรังแคเกิดขึ้น

รังแคเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมาก ถือได้ว่ารังแคเป็นโรคของหนังศีรษะชนิดเรื้อรังที่มีลักษณะเฉพาะตัว บางคนอาจมีรังแคมาก บางคนอาจมีรังแคน้อย หรือไม่มีเลยก็ได้ หนังศีรษะที่มีรังแคจะคันและมีกลิ่นเหม็น รังแคเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย รังแคมีทั้งชนิดผมมันและชนิดผมแห้ง อาจตรวจสอบได้ง่ายๆ ด้วยการก้มศีรษะลง วางกระดาษดําหรือผ้าสีเข้มๆ ไว้ตรงหน้า แล้วหวีเอาฝุ่นผงต่างๆ จากเส้นผมออก ดูว่าฝุ่นผงที่หลุดมาจากเส้นผมมีลักษณะอย่างไร ถ้าเป็นผงเล็กๆเหมือนแป้ง แสดงว่าเป็นปัญหารังแคผมแห้ง แต่ถ้าฝุ่นผงที่หลุดออกมามีลักษณะชิ้นใหญ่ เป็นก้อนและชื้น แสดงว่าเป็นปัญหารังแคผมมัน

รังแคเกิดจากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากโรคของหนังศีรษะบางชนิด เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคเชื้อราบนหนังศีรษะ การสระผมด้วยแชมพูที่กระด้างบ่อยเกินไป ภาวะโภชนาการไม่ดี ความเครียด หรือใช้ผลิตภัณฑ์ตกแต่งทรงผมบางชนิด การแพ้สารเคมีหรือน้ำยาบางอย่าง ภาวะนี้สามารถรักษาได้เองเบื้องต้นโดยการใช้ยาสระผมที่มีฤทธิ์ขจัดรังแค และการหลีกเลี่ยงสาเหตุ หากร่างกายอ่อนเพลีย ไม่สบาย มีความเครียด รังแคอาจกําเริบขึ้นมาอีกได้ หากไม่ได้ผลควรพบแพทย์เฉพาะทางผิวหนังเพื่อตรวจหาสาเหตุรวมทั้งโรคของหนังศีรษะบางชนิดที่อาจพบได้

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 17