จัดฟันในเด็กอย่างไรดี

จัดฟันในเด็กอย่างไรดี
Volume: 
ฉบับที่ 32 เดือนสิงหาคม 2561
Column: 
Beauty Full
Writer Name: 
เรื่อง: ดนัย อังควัฒนวิทย์ ภาพ: เมธี บัวจู

จัดฟันในเด็กอย่างไรดี

หลายคนที่เคยผ่านการจัดฟันมา ก็คงจะทราบดีถึงความยากง่ายในการดูแลสุขภาพในช่องปากไม่ว่าจะเป็นปัญหาการแปรงฟัน ฟันผุ เหล็กหลุด ใช้ไหมขัดฟันไม่ถูกวิธี    เกิดกลิ่นปาก แล้วถ้าจัดฟันในเด็กแล้วล่ะ? จะมีวิธีในการดูแลอย่างไร และจะจัดฟันในเด็กอย่างไรกันดี

คอลัมน์ Beauty-Full ฉบับนี้ ทพญ. ดร.สีตลา แสงกาญจนวนิช งานทันตกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จะมาให้ข้อมูลกันครับ

การจัดฟันในเด็ก

การจัดฟันในเด็กจะทำได้เมื่อมีฟันแท้ขึ้นบางส่วนในช่องปาก และมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการจัดฟันเพื่อแก้ไขความผิดปกติของการสบฟัน หรือตำแหน่งขากรรไกรที่ผิดปกติ ซึ่งการจัดฟันในเด็กจะต้องได้รับความร่วมมือจากเด็กและผู้ปกครองเป็นสำคัญ อีกทั้งยังต้องมีการดูแลช่องปากเป็นอย่างดี ซึ่งการจัดฟันจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ

  1. ) ระยะ Interceptive Treatment เป็นระยะการจัดฟันเพื่อป้องกันไม่ให้ความผิดปกติมีมากขึ้นหรือแก้ไขความผิดปกติบางอย่างให้มีน้อยลงหรือหายไป
  2. ) ระยะ Comprehensive Treatment ระยะการจัดฟันแบบแก้ไขทั้งหมด เช่น การจัดฟันแบบติดแน่น ใส่เส้นลวดในช่องปาก ซึ่งการจัดฟันแบบนี้จะมีอุปกรณ์ในช่องปากอยู่ 2  แบบคือ เครื่องมือจัดฟันภายนอกปาก และเครื่องมือจัดฟันภายในปาก

เครื่องมือจัดฟันภายในปากและภายนอกปาก

เครื่องมือจัดฟันภายนอกปากมี 2 ประเภทใหญ่ คือ

  1. Headgear ใช้สำหรับเด็กที่มีขากรรไกรบนยื่นมากผิดปกติ เมื่อเทียบกับขากรรไกรล่าง โดยจะใส่เครื่องมือที่เรียกว่า Headgear ที่ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของขากรรไกรบน 
  2. Protection Face Mask สำหรับแก้ไขปัญหาขากรรไกรล่างยื่นมากผิดปกติ เมื่อเทียบกับขากรรไกรบน เป็นการดึงขากรรไกรบนมาข้างหน้า และยับยั้งการเจริญเติบโตของขากรรไกรล่าง

เครื่องมือจัดฟันภายนอกปากจะมุ่งเน้นแก้ไขโครงสร้างขากรรไกรของเด็กเป็นหลัก เนื่องจากเด็กจะต้องใส่นอนเฉลี่ยราว12-14 ชั่วโมงต่อคืน จึงต้องได้รับความร่วมมือจากเด็กค่อนข้างมาก แต่หากเป็นเครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้จะมุ่งเน้นการแก้ไขการปรับแต่งขากรรไกรบ้างหรือแก้ไขความผิดปกติของฟัน ส่วนการจัดฟันที่ใช้เครื่องมือแบบถอดได้นั้น จะใช้ในกรณีเหล่านี้ เช่น เด็กมีฟันล่างคร่อมฟันบน แต่ไม่มีปัญหาที่โครงสร้างของใบหน้า ก็จะใส่เครื่องมือถอดได้ในช่องปากเพื่อทำการผลักฟันล่างออกมากรณีที่ฟันบนยื่นมาก ๆ  จะใส่เครื่องมือที่หน้าตาคล้าย Retainer เพื่อดันฟันหน้าบนให้เคลื่อนที่ไปด้านหลัง และมีตัวระนาบเอียง เพื่อกระตุ้นให้ขากรรไกรล่างมีการเคลื่อนที่มาข้างหน้า

ปัญหาที่เกิดจากการจัดฟัน

หากเปรียบการจัดฟันเหมือนห้องหนึ่งห้อง ก็จะเหมือนมีการนำเฟอร์นิเจอร์เข้ามาในห้อง จึงต้องมีการทำความสะอาดการจัดฟันก็เหมือนกัน เมื่อมีอุปกรณ์เข้าไปในช่องปาก ก็จะต้องทำความสะอาดให้ดี และมีโอกาสที่ฟันจะผุตามร่องการจัดฟันได้สูง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเหงือกอักเสบอันเกิดจากการแปรงฟันไม่สะอาด ฉะนั้น ควรมาพบทันตแพทย์ตามนัด หรือในระยะเวลา1-2 เดือน แล้วแต่ประเภทของเครื่องมือจัดฟัน

ปัญหาที่เกิดจากการจัดฟัน อาจเกิดจากการไม่ดูแลความสะอาดในช่องปาก ไม่ดูแลเครื่องมือที่นำเข้าในช่องปาก ที่มองข้ามมากที่สุดคือ การใส่ Retainer หากไม่ใส่เลยหรือใส่บ้าง ไม่ใส่บ้าง ก็จะมีผลทำให้ฟันมีการย้อนกลับไปสู่ตำแหน่งเดิมก่อนการจัดฟันได้ จึงเป็นที่มาที่มีการพูดกันว่า เคยจัดฟันมาแล้ว แต่ก็ต้องมาจัดฟันซ้ำอีก

ต้องแปรงฟันหรือดูแลช่องปากอย่างไร เมื่อมีการจัดฟัน

มีการแปรงฟันเช่นเดิม แต่ต้องมีการแปรงที่ตัวฟันเพิ่มด้วย เช่น ใช้ไหมขัดฟันร้อยไปตามตัวลวดแล้วขัดฟัน ต่อมาเป็นการแปรงซอกฟันเพื่อทำความสะอาดขอบข้างของเครื่องมือจัดฟัน การแปรงลิ้น และทำความสะอาดกระพุ้งแก้ม

ข้อแนะนำ ควรใช้ไหมขัดฟันก่อนแปรงฟัน จะเป็นการขจัดเชื้อโรคไปด้วย แล้วจึงแปรงฟันด้วยแปรงขนนุ่ม โดยเลือกขนาดของแปรงให้เหมาะกับช่องปากและฟัน สำหรับยาสีฟันควรมีส่วนผสมของฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ และแนะนำให้แปรงแห้งคือ บ้วนปาก บีบยาสีฟันแล้วแปรง บ้วนยาสีฟันส่วนเกินออก หลังแปรงไม่บ้วนปาก ซึ่งมีงานวิจัยที่ต่างประเทศให้ความรู้ว่า ให้บ้วนออกแต่ไม่ล้างปาก เพราะฟลูออไรด์ส่วนที่มากับยาสีฟันจะได้จับกับตัวฟัน

เมื่อจัดฟันตอนเด็กแล้ว จำเป็นต้องจัดเมื่อโตขึ้นหรือไม่

เด็กที่จัดฟันในระยะ Interceptive Treatment มาก่อน ไม่ได้หมายความว่า โตขึ้นแล้วไม่จำเป็นจะต้องจัดฟันแบบติดแน่น ในบางรายอาจสามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ต้องจัดฟันอีกตอนโต ในขณะที่บางรายก็จำเป็นที่ต้องรับการรักษาจัดฟันแบบติดแน่น

..การจัดฟัน ไม่ว่าในเด็กหรือผู้ใหญ่ สิ่งสำคัญคือการมีวินัยในการทำความสะอาดช่องปากและการมาพบทันตแพทย์ตามเวลานัดอย่างสม่ำเสมอ..

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 32