“ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี” ศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก (WHO) ด้านยาต้านพิษในอนาคต

“ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี” ศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก (WHO) ด้านยาต้านพิษในอนาคต
Volume: 
ฉบับที่ 32 เดือนสิงหาคม 2561
Column: 
Rama Update
Writer Name: 
เรื่อง: ดนัย อังควัฒนวิทย์ ภาพ: เอกพจน์ รอดชาวนา, เมธี บัวจู

“ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี”
ศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก (WHO) ด้านยาต้านพิษในอนาคต

ปัญหาทางด้านพิษวิทยา นับเป็นปัญหาที่อาจพบไม่มาก แต่ก็สามารถสร้างให้เกิดอันตรายในระดับวงกว้างได้จะดีกว่าไหม ถ้ามีศูนย์ที่คอยให้คำแนะนำการดูแล เฝ้าระวัง รวบรวมข้อมูลทางด้านพิษ และให้บริการยาต้านพิษที่เบ็ดเสร็จในที่แห่งเดียว เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาด้านพิษวิทยาของประเทศ

ใช่แล้วครับ “ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี” ศูนย์ที่จะตอบโจทย์ทางด้านพิษวิทยาในทุกแง่มุมได้เป็นอย่างดี

ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีแห่งนี้ เป็นศูนย์พิษวิทยาแห่งแรกในประเทศไทยที่ครบวงจร เป็นแหล่งรวบรวมและให้ข้อมูลคำปรึกษาที่ถูกต้องทางด้านพิษวิทยาและเภสัชวิทยาได้อย่างสะดวก รวดเร็ว รวมทั้งยังเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง และให้คำปรึกษาผ่านสายด่วน 1367

จุดเด่นสำคัญอีกประการของศูนย์แห่งนี้คือ เป็นศูนย์ประสานงานงานกับแหล่งเก็บยาต้านพิษทั่วประเทศ และเป็นศูนย์ที่เก็บยาต้านพิษที่สำคัญไว้ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นซึ่งสามารถนำออกมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สามารถรักษาผู้ที่ได้รับสารพิษได้อย่างทันท่วงที ศูนย์พิษวิทยาช่วยเสริมให้โรงพยาบาลต่าง ๆ สามารถดูแลผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษอย่างถูกต้องและเหมาะสม

“ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี” ศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก (WHO) ด้านยาต้านพิษในอนาคต

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกที่ ด็อกเตอร์ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO)ได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ในโอกาสที่ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีได้ให้ความช่วยเหลือในการส่งยาต้านพิษ Botulinum Antitoxin ให้แก่ผู้ป่วยในประเทศไนจีเรีย จากการร้องขอผ่านทางองค์การอนามัยโลก ซึ่งถือว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ทำให้ศูนย์แห่งนี้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เป็นศูนย์กลางความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก (WHO) ด้านยาต้านพิษได้ในอนาคต

ศ. นพ.วินัย วนานุกูล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และหัวหน้าศูนย์พิษวิทยาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับการมาเยือนศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีในครั้งนี้ว่า ทางศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีได้รับการติดต่อจากองค์การอนามัยโลกผ่านทาง นพ.สุวิทย์ วิบุลย์ผลประเสริฐ ว่ามีการร้องขอความช่วยเหลือ โดยขอยาต้านพิษ Botulinum Antitoxin ในประเทศไนจีเรีย เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเราก็ทำการติดต่อเพื่อสอบถามรายละเอียดอาการของผู้ป่วยก็พบว่า มีครอบครัวที่มีผู้ป่วย 3 ราย มีอาการเจ็บป่วยเข้าได้กับโรคโบทูลิซึม (Botulism) ผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 1 ราย อีก 2 รายต้องได้รับยาต้านพิษ Botulinum Antitoxin โดยทางศูนย์ฯ มียาต้านพิษนี้อยู่ด้วย จึงได้ทำการประสานงานร่วมกันกับทาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์การเภสัชกรรม และเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ในการนำส่งยาต้านพิษดังกล่าวไปยังผู้ป่วยในประเทศไนจีเรียโดยทางเครื่องบิน

โครงการยาต้านพิษนี้เป็นโครงการความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง และศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีโดยจะจัดหาและสำรองยาต้านพิษที่สำคัญไว้ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ตามเท่าที่จำเป็น ยาต้านพิษ Botulinum Antitoxin เป็นยาที่จำเป็นต้องใช้ในผู้ป่วยจำนวน 2 ขวดต่อราย และมีราคาต่อขวดที่ 200,000 บาท ด้วยยาต้านพิษนี้มีราคาแพงจึงต้องมีการตรวจสอบอาการป่วยให้แน่ใจในการวินิจฉัยเสียก่อน นอกจากนี้ยาต้านพิษรวมทั้ง Botulinum Antitoxin ในโครงการนี้มีไว้ใช้สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จึงต้องได้รับความเห็นชอบจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสียก่อน ส่วนการนำยาต้านพิษออกมาใช้เพื่อส่งต่อไปยังต่างประเทศต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง องค์การเภสัชกรรม เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลก และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

 “ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี” ศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก (WHO) ด้านยาต้านพิษในอนาคต 

เนื่องด้วยศูนย์ฯ เปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้สามารถรับเรื่องได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีระบบตรวจสอบข้อมูลและความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นอย่างดี    ทำให้สามารถส่งยาต้านพิษไปยังผู้ป่วยที่มีความจำเป็นในประเทศไนจีเรียได้ตามที่มีการร้องขอ ซึ่งงานนี้ทำได้ไม่ง่ายนัก

ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกเดินทางเข้าเยี่ยมชมศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี

การเดินทางเข้าเยี่ยมชมศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ถือเป็นครั้งแรกที่ท่านเดินทางมาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกได้กล่าวชมว่า ศูนย์ฯ มีพื้นที่ไม่มาก บุคลากรไม่มาก แต่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แสดงให้เห็นว่าของบุคลากรของศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีมีพลัง และความมุ่งมั่นเพื่อสร้างสรรค์งานที่มีอย่างดีเยี่ยมและน่าชื่นชมแม้ว่าจะมีทรัพยากรที่จำกัด

นอกจากนี้ศูนย์ฯ ได้ทำงานมาสักพักใหญ่แล้ว ยาต้านพิษที่มีอยู่กับระบบการทำงานก็มีศักยภาพที่เพียงพอต่อประเทศไทย ซึ่งยังสามารถต่อยอดครอบคลุมในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ก่อนหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ

 

“ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี” ศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก (WHO) ด้านยาต้านพิษในอนาคต

ทางไนจีเรียก็ได้เชิญให้ไปนำเสนอโครงการยาต้านพิษนี้ให้กับตัวแทนประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สำนักงานขององค์การอนามัยโลกสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยได้เสนอไปว่า เรามีแนวคิดที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางแหล่งสำรองยาต้านพิษของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากนั้นมา องค์การอนามัยโลกและคณะฯ มีความเห็นสอดคล้องกันจึงให้ศูนย์พิษวิทยา สมัครเป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก (WHO Collaboration Center) ซึ่งคาดว่าจะได้รับการประกาศเป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านพิษวิทยาในอนาคต

ภารกิจของศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี

ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทางด้านพิษวิทยาและเภสัชวิทยา ให้คำปรึกษาแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป รวมทั้งประสานงานให้มียาต้านพิษเพื่อเตรียมไว้พร้อมใช้สำหรับประเทศไทยหากมีการร้องขอมา และเป็นแหล่งเก็บยาต้านพิษที่สำคัญเพียงแห่งเดียวที่พร้อมใช้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีระบบการตรวจสอบ ให้คำแนะนำ ติดตามรวมทั้งระบบการขนส่งยาต้านพิษไปยังโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษ

ติดต่อศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี สายด่วน 24 ชั่วโมง โทร.1367

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 32