จากบทบาทจริงหมอฉุกเฉิน สู่ซีรีส์ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน

จากบทบาทจริงหมอฉุกเฉิน สู่ซีรีส์ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน
Volume: 
ฉบับที่ 35 เดือนกุมภาพันธ์ 2563
Column: 
Education Talk
Writer Name: 
ดนัย อังควัฒนวิทย์

จากบทบาทจริงหมอฉุกเฉิน สู่ซีรีส์ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน

หลายเดือนก่อน กระแสเรื่องราวของคุณหมอฉุกเฉินในรูปแบบละครหรือซีรี่ส์ โด่งดังไปทั่วประเทศ ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมซีรี่ส์ “รักฉุดใจนายฉุกเฉิน My Ambulance” ถึงเป็นที่พูดถึงและติดตามกันอย่างท่วมท้นล้นเหลือ อาจจะเพราะบทบาทการแสดงของตัวละคร ส่วนประกอบต่าง ๆ ของทุกซีนที่อินถึงใจ Location อันสวยงามที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ รวมไปถึงบทเฟื่องเรื่องราวที่อิงจากแคแรกเตอร์จริงของการเป็นหมอฉุกเฉิน

คอลัมน์ Education Talk ฉบับนี้ เรามีเรื่องราวจากบทสัมภาษณ์จากหมอฉุกเฉินตัวจริง รศ. ดร. นพ.ไชยพร ยุกเซ็น หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ช่วยดูบทสำคัญต่าง ๆ ในทุกซีนของซีรี่ส์ มาฝากกันครับ

ที่มาของการถ่ายทำซีรี่ส์นี้

ทางบริษัทนาดาวอยากจะผลิตละครทางการแพทย์ขึ้น ชื่อ My Ambulance หลังจากนั้นก็มีการติดต่อมาขอแรงช่วยสนับสนุนในการถ่ายทำซีรี่ส์ ซึ่งในขณะนั้นการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยในสายตาของประชาชนทั่วไปยังไม่แพร่หลาย ก็อาจทำให้ยังไม่มีเข้าใจที่จะแสดงออกมาในบทบาทการแสดงที่ดี และส่วนตัวก็มีความตั้งใจอยากให้การแพทย์ฉุกเฉินเป็นที่รู้จัก ก็เลยรับปากที่จะช่วยดูเรื่องนี้ให้ครับ

หมอมีส่วนร่วมในการดูบทอย่างไร

ได้เข้าไปช่วยดูบทที่เป็นส่วนทางการแพทย์ครับ ดูเรื่องความถูกต้อง ความสมจริงให้เหมือนสถานการณ์จริงในห้องฉุกเฉินมากที่สุด เราเข้าไปดูเรื่องการถ่ายทำทุก ๆ ซีนที่เป็นฉากทางการแพทย์ครับ เพื่อให้นักแสดงดูเหมือนหมอเหมือนพยาบาลที่สุด

ถือว่าเป็นผู้กำกับในส่วนทางการแพทย์เลยก็ว่าได้

จริง ๆ นักแสดงไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านการแพทย์ ภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษาที่เราใช้ในโรงเรียนแพทย์ เป็นภาษาไทยคำอังกฤษคำ นักแสดงจึงต้องมีการฝึกใช้ภาษา  ฝึกการทำหัตถการ เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หัตถการฉุกเฉิน นักแสดงต้องฝึกกับหุ่นจำลองให้เหมือนกับหมอจริง ๆ และเรื่องทัศนคติ ทางการแพทย์ เราต้องปลูกฝังเรื่องนี้ลงไปแก่นักแสดงเพื่อให้เขาได้รู้จักบุคลิกที่แท้จริง แต่โชคดีตอนที่นักแสดงมาฝึก ก็มีเคสฉุกเฉินเข้ามาจริง ๆ ผมก็ได้มีโอกาสพานักแสดงออกไปดูเคสเองนอกโรงพยาบาล ได้ไปดูปฏิบัติการจริง ว่าเป็นอย่างไร

จากบทบาทจริงหมอฉุกเฉิน สู่ซีรีส์ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน

อยากให้พูดถึงบทหมอเป้ง

บทหมอเป้ง ตัวนักแสดงก็ถ่ายทอดเรื่องราวของหมอฉุกเฉิน ออกมาได้อย่างดี ตัวผมเองดูซีรีย์แล้วยังรู้สึกว่าอาชีพของตัวเองนี้เท่ห์จริง ๆ ความทุ่มเทที่หมอมีต่อคนไข้ ทุ่มเทในระยะเวลาการปฏิบัติงานแก่คนไข้อย่างแท้จริง มีความเสียสละเวลาของตัวเองเพื่อช่วยคนไข้ ซึ่งก็ถือว่าถ่ายทอดบทบาทของหมอฉุกเฉินได้เป็นอย่างดี  สิ่งสำคัญที่อยากมองให้เห็นคือ หมอฉุกเฉินทำงานอย่างไร แล้วก็คนทำงานการแพทย์ฉุกเฉินมีการใช้ชีวิตแบบไหน จุดนี้บริษัทนาดาวใส่ใจในทุกรายละเอียดของนักแสดง ผู้กำกับมาเขียนบทซ้ำหลายรอบมาก มันเป็นบทที่ Real จริง ๆ ถูกต้องทางการแพทย์ มีความโรแมนติกในบริบทของละคร ซึ่งบทจะมีความถูกต้องทางการแพทย์ 100% จริง ๆ เพื่อความถูกต้องและสวยงามทางการแพทย์ ทั้งหมดก็มีความละเอียดมากในการถ่ายทำ

สิ่งที่อยากเห็นในอนาคตของการแพทย์ฉุกเฉิน

อยากเห็นการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทยพัฒนาอย่างในละครนี่แหละครับ ทั้งเรื่องการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องทางการแพทย์ฉุกเฉิน สามารถสอนให้ประชาชนรู้ว่าเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินต้องทำอย่างไร ก็คิดว่าการสอนที่ดีที่สุดคือการสอดแทรกในละคร หรือในสื่อที่ประชาชนทั่วไปสนใจ อย่างเช่นการสอนทำ CPR การเรียกรถพยาบาลเบอร์ 1669 รวมทั้งการช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นก่อนที่รถพยาบาลจะมาถึง

จากบทบาทจริงหมอฉุกเฉิน สู่ซีรีส์ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน

คำแนะนำสำหรับผู้สนใจที่อยากเรียนหมอฉุกเฉิน

การเรียนเป็นหมอฉุกเฉินต้องเรียนหมอจบก่อน 6 ปีแล้วก็ไปใช้ทุนก่อน 1-2 ปี แล้วจึงกลับมาเรียนฉุกเฉินอีก 3 ปี น้อง ๆ ที่สนใจอยากเรียนอยู่ในตอนนี้ แล้วรู้สึกว่าดูซีรี่ส์เรื่องนี้แล้วเท่ห์ มีความสนใจอยากจะเรียนหมอทางด้านฉุกเฉิน ก็มาเรียนในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตได้ครับ อีกหลักสูตรหนึ่งที่อยากแนะนำคือ Paramedic หรือฉุกเฉินการแพทย์ ซึ่งเรียน 4 ปี เป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทย ใครที่อยากช่วยเหลือฉุกเฉินทางการแพทย์ ก็สามารถสมัครเข้ามาได้เช่นกันที่ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 35