Pollution

Pollution
Volume: 
ฉบับที่ 36 เดือนมีนาคม 2563
Column: 
Vocab With Rama
Writer Name: 
นู๋โน โกอินเตอร์, นู๋นัน สะพายกล้อง

Pollution

ยินดีต้อนรับคุณผู้อ่าน @Rama เข้าสู่คอลัมน์ “ฟุดฟิดฟอไฟกับรามาฯ” คอลัมน์ใหม่ที่จะมาให้ความรู้นานาสาระ เกี่ยวกับศัพท์ภาษาอังกฤษที่ปรากฏเป็นกระแสอยู่ในแวดวงการสุขภาพและการแพทย์ปัจจุบันค่ะ

สำหรับหัวข้อแรกที่เราจะนำเสนอในฉบับนี้ ถือว่าเป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่มีที่มาจากปัญหาที่ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการการแก้ไข เพราะส่งผลกระทบกับลมหายใจของพวกเราทุกคน ใช่ค่ะ เจ้าฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ที่เป็นผลมาจากสภาพสิ่งแวดล้อมทางอากาศที่ย่ำแย่ในปัจจุบัน PM ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ PM 10 และ PM 2.5) ซึ่งตอนนี้ เป็นปัญหามลภาวะทางอากาศที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาอย่างที่เราทราบกันดี และทำให้ทุกคนคุ้นเคยกันดีกับคำว่า มลภาวะ/ มลพิษ แต่กับศัพท์ภาษาอังกฤษของมัน คำว่า Pollution อาจไม่ค่อยเห็นผ่านตากันเท่าไหร่

Pollution สามารถแปลเป็นภาษาไทยได้หลากหลาย เช่น การทำให้เป็นมลพิษ ภาวะมลพิษ* มลพิษ การก่อมลพิษ** การทำให้สกปรก การทำให้เปื้อน การทำให้เสียหาย*** คำนี้มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคำว่า Pollute หมายถึง การทำให้สกปรก แปดเปื้อน หรือทำให้ติดพิษ ชาวกรีกโบราณใช้คำว่า Miasma (μίασμα) ในความหมายเดียวกัน มีมุมมองต่อคำนี้ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบสังคมมนุษย์ โดยตีตราสภาวะ สถานการณ์ เหตุการณ์ หรือบุคคลที่ไม่แปลกแยกออกไปในฐานะของ ‘มลพิษ’ อันเป็นการระบุสภาพนั้นว่าเป็นมลทินหรือเป็นอันตรายต่อสังคมโดยรวมในเชิงเปรียบเปรย**** ทั้งยังรวมถึงพฤติกรรมแปลกแยกอันไม่พึงประสงค์ต่อสังคม เช่น ความผิดปกติทางจิต การมีเพศสัมพันธ์ที่แปลกประหลาด ซึ่งสังคมกรีก-โรมันโบราณมองว่าเป็นคำสาปที่กระทำจากเทพเจ้าเบื้องบน ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

สำหรับปัจจุบัน คำว่า Pollution ได้รับการแปลโดย  สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (Office of the Royal Society)***** ด้วยคำว่า มลพิษ และ    มลภาวะ แต่ทำไมคำอังกฤษคำเดียวจึงมีคำไทยถึงสองคำ ทั้งยังมีรูปศัพท์ที่มีเค้ามูลคล้ายกันอีกด้วย ซึ่งที่มาของศัพท์ทั้งสองคำนี้ คงจะช่วยไขข้อสงสัยและวินิจฉัยได้ว่าเราควรจะใช้เมื่อไรและอย่างไร

คำว่า มลพิษ กำเนิดขึ้นจากที่ประชุมของคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทย แห่งราชบัณฑิตยสถานในการประชุมเมื่อวันที่ 7  พฤษภาคม 2519 ซึ่งมีพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ ที่ประชุมได้พิจารณาคำนี้เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เสนอขอให้บัญญัติคำไทยขึ้นเพื่อให้ทุกหน่วยงานได้ใช้คำเดียวกัน และได้เสนอคำ เปื้อนพิษ สกปรก โสโครก และเสื่อมโทรม มาให้พิจารณาว่าควรใช้คำใด หรือจะคิดคำอื่นใดที่เหมาะสมกว่านี้ องค์ประธานฯ ได้เสนอคำ มลพิษ (อ่านว่า มน-ละ-พิด) มีความหมายว่า พิษเกิดจากความมัวหมองหรือความสกปรก ซึ่งเป็นคำกลาง ๆ ใช้นำไปประกอบคำอื่น ๆ ได้ทั่ว ๆ ไป เช่น มลพิษทางทะเล น้ำตามลำคลองเริ่มมีมลพิษ ภาวะมลพิษทางอากาศหลายแห่งในกรุงเทพฯ อยู่ในขั้นวิกฤต ควันจากท่อไอเสียรถโดยสารก่อให้เกิดมลพิษ ส่วนคำว่า มลภาวะ เป็นศัพท์ที่สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอมาให้ราชบัณฑิตยสถาน ว่า คำว่า pollution มีความสำคัญในด้านต่าง ๆ ของวิชาการสิ่งแวดล้อม น่าจะพิจารณาให้ครอบคลุมไปทุก ๆ ด้าน เพราะ pollution โดยรูปศัพท์เป็นอาการนาม หมายถึง สภาวะ หรือ ความเป็นไป พร้อมกันนี้ได้เสนอเอกสารมาเพื่อให้ใช้ประกอบการพิจารณาด้วย คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาทบทวนความหมายของศัพท์ pollution จากเอกสารที่ส่งมา และมีความเห็นว่า คำ มลภาวะ ตามรูปศัพท์แปลว่า ความมัวหมอง หรือความสกปรก ไม่แสดงว่ามีพิษ เป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดความเสียหาย น้ำตามลำคลองหรืออากาศโดยทั่ว ๆ ไปก็สกปรกแต่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหาย และคำว่า พิษ ที่ใช้อยู่ในภาษาไทยมิได้หมายความถึง สิ่งที่เป็นพิษอย่างเดียว แต่หมายถึง ความเป็นพิษ ด้วยก็ได้ เหตุผลอีกประการหนึ่งที่คณะกรรมการฯ ยังเห็นว่า มลพิษ เหมาะสมกว่า เพราะจากเอกสารซึ่งทางสถาบันฯ ส่งมานั้น ความหมายของ pollution ใช้ในความหมายที่ก่อความเป็นพิษ อันตรายต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าความหมายตามรูปศัพท์ (denotation) ของ pollution จะหมายเพียงความไม่บริสุทธิ์ ความสกปรกเท่านั้นก็ตาม แต่ความหมายปัจจุบันที่นิยมใช้ (connotation)หมายถึง ความเป็นอันตราย ความเป็นพิษ ด้วย คำ มลพิษ จึงถ่ายทอดความหมายของ pollution ตามความหมายที่นิยมใช้ได้ชัดเจนและถูกต้องกว่า คำ มลภาวะ ซึ่งหมายถึง ความสกปรก ความมัวหมอง เท่านั้น

Pollution

ด้วยเหตุนี้ คำ pollution จึงมีคำไทยขึ้นใช้สองคำ การที่ใช้คำที่กินความได้ไม่ตรงตามความหมายที่นิยมใช้ เมื่อต้องการให้เห็นว่าเกิดอันตรายหรือเสียหาย จึงได้พบข้อความว่า “บางจุดในกรุงเทพฯ มีมลภาวะทางอากาศเป็นพิษ” ซึ่งหากจะใช้ว่า บางจุดในกรุงเทพฯ มีมลพิษทางอากาศ จะกะทัดรัดกว่าและได้เนื้อความเท่ากันนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก
* English-Thai: NECTEC’s Lexitron-2 Dictionary
**อังกฤษ-ไทย: ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน
*** English-Thai: Nontri Dictionary
**** https://www.oxfordreference.com/view/10.1093/oi/author-ity.2011080310033...
*****จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 1 ฉบับที่ 7 กรกฎาคม 2532

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 36