ฉบับที่ 37

สวัสดีคุณผู้อ่านนิตยสาร @Rama ทุกท่านครับ

กว่า 3 เดือนที่ผ่านมาสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สามารถทำการควบคุมโรคได้อย่างดี มีผู้ป่วย COVID-19 ราว 3,000 กว่ารายเท่านั้น และทางการแพทย์ของประเทศเรายังรับมือได้ดีในเรื่องการดูแล การกักตัว...ผู้ป่วยนี้ ที่รามาธิบดีเรามีระบบการตรวจคัดกรองที่เป็นมาตรฐานคือ RT-PCR ซึ่งรามาธิบดีได้ทำร่วมกับการทำ Nasopharyngeal swab ในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยมากเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ และเรายังได้พัฒนาวิธีการอีกหนึ่งขั้นของการตรวจคัดกรอง COVID-19 ทางน้ำลาย ที่สามารถใช้ตรวจได้ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ ที่มีความแม่นยำ 85% ซึ่งในขณะนี้ได้นำมาเป็นวิธีการคัดกรองหลักภายในประเทศแล้ว อีกทั้งยังสามารถนำน้ำลายของคนทั้งหมด 10 คนในจำนวนเท่ากันมาตรวจรวมกันในครั้งเดียว และเปิดให้บริการแล้ว 

ในด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วย COVID-19 รามาธิบดีได้ใช้สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เป็นที่รองรับการรักษาผู้ป่วย ซึ่งมีห้อง Negative Pressure 30 ห้อง ในการรักษา และได้สร้างห้อง Negative Pressure เพิ่มอีก 40 ห้อง และมีอยู่ที่รามาธิบดีพญาไทอีก 10 ห้อง แต่จำนวนเตียงก็ยังไม่เพียงพอต่อการรองรับสถานการณ์หากเกิด Second Wave ขึ้น รามาธิบดีเราได้รวมสรรพกำลังจากบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสายสนับสนุนอีกจำนวนไม่น้อย ในการดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19 และดูแลจุดในการคัดกรองผู้ป่วย COVID-19 กันมาโดยตลอด และยังได้รับน้ำใจสำคัญจากหลากหลายหน่วยงาน หลายบุคคล หลายกลุ่มคณะ ที่เข้ามาช่วยทั้งการมอบสิ่งของ หน้ากากอนามัย กำลังทรัพย์ อาหาร มาตัดผมให้ สร้างห้องที่ใช้สำหรับจุดบริการคัดกรองผู้ป่วย และอีกมากมาย ในนามของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องขอขอบพระคุณคนไทยทุกท่านเป็นอย่างมากที่มีน้ำใจและให้กำลังใจ พวกเราชาวรามาธิบดีตลอดระยะเวลาที่เราปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเสมอมาครับ

ในท้ายนี้ จากสถานการณ์ COVID-19 ที่เราได้เผชิญกันมาทั่วทั้งโลก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตในภาวะปกติไปมากมาย ทั้งการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันและแพร่กระจาย การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การกินร้อน ช้อนตัวเอง การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ซึ่งเราอาจต้องปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตแบบ New Normal ภาวะปกติแบบใหม่ ซึ่งอาจต้องอยู่กับสภาวะนี้ไปอีกนาน ขอร่วมให้กำลังใจคนไทยทุกคนครับ

ไกล...เพราะรัก     กัก...เพราะห่วงใย     แต่ใจยังเหมือนเดิม

ศ. นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา
คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

นิตยสาร @Rama : นักรบชุดกาวน์ สู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่
บทบรรณาธิการ: 

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่าน นิตยสาร @Rama ฉบับที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ เป็นฉบับพิเศษที่หยิบยกเรื่องราวอันสำคัญเกี่ยวกับ วิกฤตการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค COVID-19 มาบันทึกไว้ต่อจาก @Rama ฉบับที่แล้ว ซึ่งได้นำเสนอเรื่องราวไปบ้างแล้ว ฉบับนี้ขอเริ่มต้นที่คอลัมน์พิเศษ คือคอลัมน์ Open Lab กันค่ะ ในสถานการณ์ที่ COVID-19 ระบาดอยู่นั้น มีหน่วยงานสำคัญที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในการคิด วิเคราะห์ วิจัย คัดกรองเชื้อ นั่นคือหน่วยงาน ห้องปฏิบัติการ หรือห้อง LAB นั่นเอง 

ห้อง LAB ต้องมีการเตรียมความพร้อมของเครื่องมือ อุปกรณ์ น้ำยาในการตรวจ รวมทั้งบุคลากรในการบริหารจัดการห้อง LAB เพื่อรองรับการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นจำนวนมากตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด รวมไปถึงงานวิจัยสำคัญเรื่องการตรวจ COVID-19 ผ่านทางน้ำลาย ซึ่งผลจากงานวิจัยพบว่า การตรวจ COVID-19 ผ่านทางน้ำลาย เป็นการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพทั้งในเรื่องความไวและความแม่นยำในการตรวจ สามารถลดความเจ็บปวด ความระคายเคืองของคนไข้จากการตรวจทางโพรงจมูกและหลังคอ ลดการใช้ชุดป้องกันโรค PPE ของบุคลากรทางการแพทย์ได้ รวมทั้งลดเวลาในการเก็บสิ่งส่งตรวจ ได้ประโยชน์มากมายค่ะ

โรงพยาบาลรามาธิบดี มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ระบาด ทั้งการจัดการบุคลากรทางการแพทย์ การจัดเตรียมอุปกรณ์จำเป็นทางการแพทย์ สถานที่ในการรองรับผู้ป่วย การให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อ COVID-19 และเป็นองค์กรที่กำหนดทิศทางในการระมัดระวังการแพร่ระบาดของเชื้อให้แก่ประเทศ รวมทั้งเป็นองค์กรที่ได้รับแรงสนับสนุนจากคนไทยและหน่วยงานภายนอกมาโดยตลอด คอลัมน์ Rama Today จะพาเราไปพุดคุยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีเกี่ยวกับบทบาทนี้ค่ะ

คอลัมน์ ชุดกาวน์เล่าเรื่อง (A White Coat) เมื่อเกิดสัญญาณการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น ได้มีการประชุม เตรียมความพร้อม จัดเตรียมอุปกรณ์ เตรียมบุคลากรทางการแพทย์ และองค์ความรู้ที่มีอยู่ เพื่อให้ทันการกับการทำงานในสถานการณ์การระบาดอยู่ตลอดเวลา คอลัมน์นี้จะมีเรื่องเล่าที่ชาวเสื้อกาวน์อยากจะถ่ายทอดในอีกมิติมุมมองให้พวกเราได้รับรู้กัน

ส่วนคอลัมน์ Rama Fungjai จะมาบอกเล่าเรื่องราวที่ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เพิ่มช่องทางการบริการในการรับฟังความทุกข์ร้อน ความเครียด ปัญหาที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญในสถานการณ์การระบาดร่วมกัน ผ่านแอปพลิเคชัน LINE ในชื่อ รามาฯ ฟังใจ (Rama Fungjai) ซึ่งมีบริการอะไรบ้างนั้นไปติดตามกันได้เลยค่ะ

ในคอลัมน์ ฟุตฟิตฟอไฟกับรามาฯ จะพาเราไปรู้จักที่มาของคำว่า CORONA VIRUS กันค่ะ ทำไมถึงเรียกว่า CORONA มีที่มาจากไหน ศัพท์สำคัญในสถานการณ์แบบนี้ต้องรู้กันเลยค่ะ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับอาหารต้าน COVID-19 มาฝากกันด้วยค่ะ ในคอลัมน์ Healthy Eating

ก่อนลากันไป ขอฝากคุณผู้อ่านทุกท่านเรื่องสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ กินร้อน ช้อนตัวเอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และการเว้นระยะห่างทางสังคม ที่ช่วยให้เราควบคุมการแพร่ระบาดอย่างได้ผล เรามาปรับตัวใช้ชีวิตแบบปกติใหม่ที่เรียกว่า New Normal ฝ่าฟัน ผ่านวิกฤตและบันทึกเหตุการณ์สำคัญไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญนี้ ไปด้วยกันค่ะ

ผศ. พญ.จริยา ไวศยารัทธ์
บรรณาธิการนิตยสาร @Rama

เนื้อหาภายในฉบับที่ 37