การใช้ยาในโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 COVID-19

การใช้ยาในโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 COVID-19
Volume: 
ฉบับที่ 37 เดือนมิถุนายน 2563
Column: 
Rama RDU
Writer Name: 
ภก. ภิฏฐา สุรพัฒน์ ภญ.นันทพร เล็กพิทยา งานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัด ถึงสูตรยารักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยาที่มีข้อมูลว่ามีฤทธิ์ต่อไวรัสดังกล่าวและมีการนำมาใช้ในผู้ป่วย ได้แก่ ยารักษาโรคมาลาเรีย (hydroxychloroquine, chloroquine) ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (azithromycin) ยาต้านไวรัสเอชไอวี (darunavir, lopinavir, ritonavir) และ favipiravir ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสตัวใหม่ที่มีการนำเข้าประเทศไทยเพื่อรักษาโรคนี้โดยเฉพาะ ระยะเวลาในการรักษาจะอยู่ที่ 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย

สำหรับอาการข้างเคียงจากยา โดยรวมแล้วยาทุกตัวมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นการใช้ยาในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ อาการข้างเคียงที่อาจพบได้ ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว ภาวะตับอักเสบ เป็นต้น อย่างไรก็ตามอาจต้องระวังอาการคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติโดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคหัวใจและมีการใช้ยาหลาย ๆ ชนิด ผู้ป่วยจะต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบถึงโรคประจำตัวและยาที่ใช้ประจำทั้งหมด รวมถึงสมุนไพรและอาหารเสริม เนื่องจากยาบางตัวอาจเกิดอันตรกิริยากับยารักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ปัญหายาตีกัน) อาจไม่สามารถใช้ยาร่วมกันได้ ซึ่งแพทย์จะต้องประเมินความจำเป็นของยาแต่ละตัวสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายต่อไป

ส่วนการสกัดแอนติบอดีจากน้ำเลือดหรือพลาสมาของผู้ที่หายป่วยจากโรค COVID-19 ก็เป็นอีกความหวังหนึ่งในการพัฒนายารักษาด้วยวิธีรับภูมิคุ้มกันที่ได้จากผู้อื่นมาโดยตรง โดยผลการทดลองเบื้องต้นในจีนและสหรัฐฯ พบว่า แอนติบอดีในน้ำเลือดที่ผ่านการทำให้บริสุทธิ์ สามารถใช้ได้ผลในห้องปฏิบัติการ และดูเหมือนว่าจะมีความปลอดภัยในการใช้กับมนุษย์ ซึ่งต้องติดตามผลต่อไป

สำหรับการใช้ยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอถึงสูตรยาที่เหมาะสม ดังนั้นประชาชนทั่วไปไม่ควรหาซื้อยามารับประทานเอง เนื่องจากอาจเกิดผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวได้

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 37