บทบาทโรงพยาบาลรามาธิบดี ในสถานการณ์ COVID-19

บทบาทโรงพยาบาลรามาธิบดี ในสถานการณ์ COVID-19
Volume: 
ฉบับที่ 37 เดือนมิถุนายน 2563
Column: 
Rama Today
Writer Name: 
ดนัย อังควัฒนวิทย์

ในช่วงที่สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยที่ยังคงมีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนถึงราวสามพันรายนั้น ผลกระทบสำคัญที่เห็นได้ชัดก็คือ การดำเนินงานของธุรกิจเกือบทุกประเภทต้องหยุดชะงักลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนึ่งในกิจการที่กลายมาเป็นส่วนสำคัญมากที่สุดในสถานการณ์นี้คือ โรงพยาบาล ซึ่งปกติต้องทำหน้าที่ตรวจการรักษาผู้ป่วย จะปรับตัวรับสถานการณ์อย่างไรท่ามกลางการระบาดของโรคอุบัติใหม่นี้ ทั้งที่ความเจ็บป่วยจากโรคทั่วไปของผู้ป่วยยังมีอยู่ แต่กลับมีโรค COVID-19 มาระบาดขึ้น

คอลัมน์ Rama Today ฉบับนี้ มีบทสัมภาษณ์จาก รศ. นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับการทำงาน การบริหารโรงพยาบาลในสถานการณ์ COVID-19 มาฝากกันครับ

การรับมือสถานการณ์ COVID-19 ของโรงพยาบาลรามาธิบดี

ในสถานการณ์เมื่อมีโรค COVID-19 ระบาดขึ้นในประเทศไทยช่วงมกราคม 2563 โรคนี้เกิดจากไวรัสโคโรนา-2019 ซึ่งเป็นไวรัสตัวใหม่ที่เรามีความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของโรคไม่มากนักในช่วงเวลานั้น เรารู้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หากมีอาการก็ยากจะแยกโรคจากไข้หวัดธรรมดา และเชื้อไวรัสนี้ยังติดต่อทางระบบทางเดินหายใจและการสัมผัสเสมหะของผู้ป่วย ขณะที่ทุกโรงพยาบาลรัฐส่วนใหญ่มีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ มีความแออัดของผู้ป่วยที่หน่วยผู้ป่วยนอก หากต้องนอนพักในโรงพยาบาลต้องใช้ห้องที่มีพื้นที่กว้างและความดันอากาศเป็นลบเทียบกับความดันอากาศภายนอก การระบาดของเชื้อ COVID-19 นี้ย่อมมีผลต่อการให้บริการผู้ป่วยของทุกโรงพยาบาลรัฐอย่างมาก สำหรับโรงพยาบาลรามาธิบดีปกติมีผู้ป่วยมาเข้ารับการตรวจรักษาประมาณ 7,000 คนต่อวัน มีผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉินกว่า 200 คนต่อวัน ขณะที่ในช่วงการระบาดในประเทศไทยเมื่อปลายกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2563 มีผู้ป่วยมาตรวจรักษาที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และจำเป็นต้องรับผู้ป่วย COVID-19 เข้านอนรักษาในโรงพยาบาลจำนวน 151 ราย

ในช่วงต้นที่มีการระบาดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีได้จัดจุดตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดหรือมีอาการเข้าข่ายสงสัยโรค COVID-19 โดยจัดจุดบริการ ARI Clinic เพื่อตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยที่มาตรวจเป็นจำนวนมาก นอกจากเรามีทีมงานที่มีความพร้อม เรายังมีห้องแลปที่สามารถตรวจเชื้อไวรัสด้วยวิธี RT-PCR ที่มีศักยภาพในการตรวจตลอดทั้งวัน ทำให้สามารถวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้การคัดแยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 เพื่อการรับเข้าพักในโรงพยาบาลรามาธิบดีและเป็นการควบคุมการระบาดได้รวดเร็ว

เบื้องหลังของการเตรียมความพร้อมก็คือจัดเตรียมบุคลากร ได้แก่ การฝึกอบรมบุคลากรให้มีความรู้เรื่องการดูแลการรับมือ COVID-19 การสวมชุดป้องกันโรค เช่น PPE สวมหน้ากากอนามัย ขณะที่ต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 เสื้อกาวน์ Face Shield เครื่องช่วยหายใจ เครื่อง ECMO เครื่องฟอกไตให้เพียงพอ และสิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องขวัญกำลังใจ ความกลัว และความกังวลใจ เนื่องจากบุคลากรการแพทย์ก็มีครอบครัวและมีสังคมที่บ้านเช่นกัน

เป็นที่ทราบว่าโรงพยาบาลรามาธิบดีมีความจำกัดเรื่องพื้นที่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินการในการรับผู้ป่วย COVID-19 ทั้ง 151 รายเข้ารักษาในโรงพยาบาล โดยเมื่อวินิจฉัยได้จะส่งตัวผู้ป่วยที่ติดเชื้อเข้ารับการรักษาไปที่โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งอยู่ที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยเป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ขนาด 400 เตียง และเปิดดำเนินการมาแล้ว 2 ปี มีการออกแบบทางสถาปัตยกรรมให้มีพื้นที่กว้างขวาง ห้องผู้ป่วยที่มีความดันอากาศเป็นลบและมีอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น

เนื่องจากผู้ป่วย COVID-19 ส่วนหนึ่งจะมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ไตวายเฉียบพลัน จนถึงเสียชีวิต ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์นอกจากมีการเตรียมการและเตรียมบุคลากรดังเช่นกล่าวข้างต้น ยังต้องระดมเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อการดูแลภาวะวิกฤตของผู้ป่วย COVID-19  เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่อง ECMO เครื่องฟอกไต และชุดป้องกันบุคลากรการแพทย์ที่คล้ายชุดมนุษย์อวกาศหรือชุด PAPR เป็นต้น

ในช่วงที่สถานการณ์ระบาด COVID-19 ในประเทศโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โรงพยาบาลรามาธิบดีจำเป็นต้องลดบริการผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่เร่งด่วนลง ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก เพื่อเป็นการควบคุมโรคและความปลอดภัยของผู้มารับบริการเอง อย่างไรก็ดี บริการทางการแพทย์ที่จำเป็นและเร่งด่วนยังเปิดบริการปกติ ตัวอย่างเช่น การรักษาโรคมะเร็ง ไม่ว่าการผ่าตัด การฉายแสงและการให้เคมีบำบัด ห้องฉุกเฉินและการรักษาภาวะฉุกเฉิน เป็นต้น ยังเปิดให้บริการปกติ ภายใต้มาตรการป้องกันการระบาด COVID-19

ในช่วงนั้นบุคลากรของเราได้พัฒนาและผลักดันนวัตกรรมหลายอย่างที่จะช่วยทั้งในการบริการผู้ป่วยทั่วไปและกับการระบาด COVID-19 ตัวอย่างเช่น นวัตกรรมเกี่ยวกับการตรวจคัดกรอง COVID-19  โดยใช้ตัวอย่างน้ำลายซึ่งช่วยในการตรวจคัดกรองวงกว้าง การตรวจแลปด้วยวิธี RT-PCR  LAMP technic ซึ่งช่วยลดต้นทุนและลดเวลาการตรวจวินิจฉัยเหลือ 1 ชั่วโมงครึ่ง มีนวัตกรรมเกี่ยวกับการระบาด COVID-19 เช่น การนำตู้อบไมโครเวฟมาใช้อบหน้ากาก N95 เพื่อใช้ซ้ำได้มากถึง 5 ครั้งในช่วงที่ขาดแคลนหน้ากาก N95  นวัตกรรมเกี่ยวกับการระบาด COVID-19 ขณะที่นวัตกรรมการบริการผู้ป่วยทั่วไปที่เด่น ๆ ได้แก่ การตรวจทางไกลหรือ Telemedicine ผ่านวิดีโอคอล การบริการจัดส่งยาไปที่บ้าน การให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy) เป็นต้น 

การจัดเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ของโรงพยาบาลกับน้ำใจของคนไทย

เรามีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในการใช้งานอยู่ และมีส่วนที่ต้องจัดหาเพิ่มเติมเพื่อเตรียมการเผื่อไว้สำหรับสถานการณ์ระบาด COVID-19 ที่ควบคุมไม่ได้ เป็นสิ่งที่น่าตื้นตันใจที่มีคลื่นน้ำใจจากประชาชนคนไทยบวกเพิ่มเข้ามา ร่วมส่งศรัทธาน้ำใจ ความห่วงใยมายังบุคลากรทางการแพทย์ สนับสนุนให้พวกเรามีความพร้อมมากยิ่งขึ้นและมีกำลังใจในการทำงาน ทั้งการบริจาคหน้ากากอนามัย ชุด PPE เจลแอลกอฮอล์ เครื่องช่วยหายใจ เครื่อง ECMO เครื่องฟอกไต และชุดป้องกันบุคลากรการแพทย์ที่คล้ายชุดมนุษย์อวกาศหรือชุด PAPR แล้วก็มีการบริจาคมาเพื่อสร้างห้องความดันลบ ห้องวิกฤตความดันลบสำหรับดูแลผู้ป่วย COVID-19

หากมี Second Wave ขึ้น โรงพยาบาลมีแผนในการรับมืออย่างไรเพิ่มเติม

เราสามารถนำแผนกลับมาปรับใช้ต่อได้ในทันที ซึ่งเราได้เรียนรู้จากสิ่งที่ได้ปฏิบัติกันอยู่ ทำให้องค์กรและคนในองค์กรของเราพร้อมและยืดหยุ่นอยู่เสมอ รวมทั้งยังมีการซักซ้อมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้พร้อมรับมือหากมีการระบาดซ้ำขึ้นอีก นอกจากนี้ยังมีการบำรุงรักษาทรัพยากรทั้งเครื่องมือ เครื่องใช้ ชุดป้องกันที่จำเป็นที่โรงพยาบาลทั้งสองแห่ง และบูรณาการทีมงานทั้งสองโรงพยาบาลให้เป็นหนึ่ง เพื่อจัดการภารกิจของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ต้องรับผิดชอบสังคมเหมือนที่ได้ดำเนินการในสถานการณ์ที่ผ่านมา

ยามสงบเรายังเน้นบุคลากรของเราในเรื่อง การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ และการเว้นระยะห่างทางสังคม การคัดกรองผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการ และเรายังคงรณรงค์เรื่องการล้างมือกันมาตลอด มีเจลแอลกอฮอล์กระจายไปยังจุดต่าง ๆ ไว้บริการ เหล่านี้ก็ยังคงเป็นสิ่งที่พวกเราควรปฏิบัติกันต่อไป

รู้สึกอย่างไรที่ประชาชนเรียกขานพวกเราว่า นักรบชุดขาว หรือ นักรบเสื้อกาวน์

ขอขอบคุณประชาชนที่ให้เกียรติพวกเราด้วยคำนี้ พวกเราซาบซึ้งมาก ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีเองก็ได้สื่อสารกับบุคลากรของเราเพื่อให้เขาได้รู้ว่าสิ่งที่เขาทำอย่างกล้าหาญ มีคนที่ชื่นชมเขาอยู่และให้กำลังใจในความกล้าที่จะเสี่ยงต่อสถานการณ์นี้ ความสำเร็จทั้งหลายต้องวกกลับไปที่ประชาชนเพราะว่าสิ่งสำเร็จเหล่านี้เป็นเพราะประชาชนร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขกับแพทย์ ก็ต้องขอขอบคุณที่ทำหลายสิ่งให้เราและต้องฝากด้วยว่าไม่ใช่แค่เฉพาะทำในช่วงนี้ หลาย ๆ อย่างควรจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันในระยะยาวยกตัวอย่างเช่น การล้างมือ สวมหน้ากากเมื่อไม่สบาย ให้ยึดถือว่าความร่วมมือร่วมใจกันนั้นได้ทำให้เราผ่านพ้นมาด้วยกัน

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 37