ยารักษาสิว

ยารักษาสิว
Volume: 
ฉบับที่ 38 เดือนตุลาคม 2563
Column: 
Rama RDU
Writer Name: 
ภญ.เบญญาภา เพชรปวรรักษ์ ภญ.ศุภาพิชญ์ แก้วลี งานเภสัชกรรมคลินิก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ยารักษาสิว

สิว เป็นปัญหาใหญ่ของใครหลายคน เนื่องจากก่อให้เกิดความรู้สึกกังวลและไม่มั่นใจ ปัจจุบันมียารักษาสิวหลากชนิด หลายรูปแบบในท้องตลาด ซึ่งมีการออกฤทธิ์และความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันไป

• สำหรับผู้ที่มีสิวไม่อักเสบหรือมีสิวอักเสบเพียงเล็กน้อย นิยมใช้ยาในรูปแบบทา โดยยาทาที่พบบ่อย ได้แก่

1. ยาทาที่มีฤทธิ์ผลัดเซลล์ผิว ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบครีมหรือเจล ใช้ทาบาง ๆ ทั่วใบหน้าหรือบริเวณที่มีสิว วันละ 1-2 ครั้ง เช่น benzoyl peroxide, adapalene, retinoic acid ผลข้างเคียงที่พบคือ ระคายเคืองผิวหนัง ผิวลอก แสบผิว หรือยา retinoic acid จะทำให้มีสิวเห่อมากขึ้นเล็กน้อยในช่วงแรกที่เริ่มใช้ยา อาการข้างเคียงเหล่านี้แก้ไขได้ด้วยการลดความเข้มข้นหรือลดระยะเวลาที่ทา ยากลุ่มนี้แนะนำให้ผู้ใช้หลีกเลี่ยงแสงแดด หรือทาผลิตภัณฑ์กันแดดร่วมด้วย นอกจากนี้ยา retinoic acid ยังมีข้อห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์

2. ยาทาที่เป็นยาปฏิชีวนะ รูปแบบโลชั่นและเจล ตัวยาปฏิชีวนะที่นิยมใช้รักษาสิว ได้แก่ clindamycin และ erythromycin ใช้ทาเฉพาะบริเวณที่มีสิวอักเสบ วันละ 2-3 ครั้ง ผลข้างเคียง คือ ผิวลอก ผิวบาง แสบผิว ในทางปฏิบัตินิยมใช้ยาทาปฏิชีวนะควบคู่ไปกับยา benzoyl peroxide เพื่อลดปัญหาเชื้อดื้อยา

• สำหรับผู้ที่มีสิวอักเสบหรือสิวตุ่มหนองจำนวนมาก อาจมีการใช้ยารับประทานร่วมด้วย ตัวอย่างยารับประทาน ได้แก่

1. ยารับประทานที่เป็นยาปฏิชีวนะ มักต้องใช้ยานานหลายสัปดาห์จึงจะมีประสิทธิภาพในการลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียก่อสิว ยาที่มีจำหน่ายได้แก่ tetracycline และ doxycycline แนะนำให้รับประทานหลังอาหาร เนื่องจากมีผลข้างเคียงทำให้คลื่นไส้อาเจียน ควรห่างจากนม แคลเซียม และวิตามินที่มีธาตุเหล็ก เนื่องจากทำให้การดูดซึมของยาลดลง หลีกเลี่ยงการใช้ในสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ยาปฏิชีวนะเหล่านี้ มีผลอาจทำให้ผิวไวต่อแสง จึงควรใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดร่วมด้วย

2. ยารับประทานอื่น ๆ มักจะใช้ในผู้ที่มีสิวอักเสบรุนแรงเป็นจำนวนมาก ตัวยาที่มีจำหน่าย ได้แก่ isotretinoin ควรรับประทานหลังอาหารเพื่อเพิ่มการดูดซึมและห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ เนื่องจากอาจเกิดอันตรายต่อทารก ดังนั้น สตรีที่ต้องการใช้ยานี้ต้องคุมกำเนิดตลอดการใช้ยาและอยู่ในการดูแลของแพทย์ ผลข้างเคียงที่พบได้ เช่น ผิวแห้ง ปากลอก ผมร่วง ตาแห้ง ผิวไวต่อแสงจึงควรใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดควบคู่กันด้วย แต่หากมีอาการมองเห็นไม่ชัด หรืออาการตาแห้งรุนแรง ให้รีบมาพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ยังมียารักษาสิวที่เป็นยาฮอร์โมนรวม หรือยาคุมกำเนิด เนื่องจากฮอร์โมนเพศก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลให้เกิดสิวได้ ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมนี้นิยมใช้ในสตรีที่มีสิวระดับปานกลางถึงรุนแรง ผลข้างเคียงที่พบ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ เลือดออกกะปริดกะปรอย อย่างไรก็ตามหากต้องการใช้ยาเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน

จะเห็นว่าเพื่อให้การรักษาสิวด้วยยาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดผลข้างเคียงที่อาจเกิด มีข้อควรระวังหรือคำแนะนำการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมควบคู่เสมอ อีกทั้งเราควรดูแลทำความสะอาดผิวหน้าเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด การสัมผัส แกะ เกาใบหน้า เพื่อลดสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจกระตุ้นการเกิดสิว
 

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 38