ความสุขในการให้

ความสุขในการให้
Volume: 
ฉบับที่ 39 เดือนมกราคม 2564
Column: 
Easy Living
Writer Name: 
รศ. พญ.โสมรัชช์ วิไลยุค ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เขาว่ากันว่า “การให้” มีความสุขมากกว่า “การรับ” การให้ไม่ได้จำกัดเฉพาะเทศกาลต่าง ๆ แต่เราสามารถที่จะให้ได้ในทุก ๆ วัน “ความสุข” ที่ได้บางทียากที่จะประเมินหรือตีเป็นราคา .. @Rama ฉบับส่งความสุขในเทศกาลปีใหม่ปีนี้จึงอยากแบ่งปันเรื่องราวดีดี ของ อ. นพ.ณรงค์ฤทธิ์ ขันธทัต อาจารย์แพทย์สาขาศัลยศาสตร์ทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาไว้ในบทความนี้ด้วยค่ะ 

ณ ค่ำคืนหนึ่งต้นเดือนธันวาคม ลมหนาวเริ่มพัดมา หลายคนกำลังหลับในนิทราอย่างมีความสุข

เวลา 01:30 น. ผมสะดุ้งตื่นขึ้นกลางค่ำคืนนั้น เนื่องจากโทรศัพท์มือถือข้างศีรษะส่งเสียงที่ทุกคนไม่อยากได้ยินกลางดึก 
“อาจารย์คะ มีผู้บริจาคหัวใจ ที่ โรงพยาบาลสมุทรสาคร ไม่ทราบว่าอาจารย์ได้เห็นข้อมูลในไลน์หรือยังค่ะ น่าจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง” เสียงของพยาบาลผู้ประสานงานโครงการปลูกถ่ายอวัยวะดังขึ้นข้างหู หลังจากตั้งสติได้และอ่านข้อมูลผู้บริจาคที่ส่งมา สิ่งที่เกิดขึ้นในความคิดแรกเลยคือผมไม่อยากรับหัวใจรายนี้เลย เนื่องจากบ่ายวันนั้นเองผมเพิ่งจะผ่านการตรวจคนไข้ที่แผนกผู้ป่วยนอกอันแสนเหน็ดเหนื่อยและยาวนาน เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก สติสัมปชัญญะของผมเริ่มกลับมาครบถ้วน ผมจึงยกหูโทรศัพท์
“เราออกไปได้เร็วที่สุดกี่โมง” 
“พยาบาลห้องผ่าตัดขอเตรียมตัวประมาณ 1 ชั่วโมงค่ะ คงออกได้ประมาณตี 3” 
“งั้นฝากบอกทีมทุกคนด้วยว่าเราจะออกเดินทางตี 3 ถึงน่าจะประมาณตี 4 เห็นหัวใจประมาณตี 5 ถ้าหัวใจทำงานได้ดีค่อยเอาคนไข้ผู้รับบริจาคเข้าห้องผ่าตัด และช่วยติดต่อคนไข้ให้รีบมานอนโรงพยาบาลด้วย”

เวลา 03:00 น. รถตู้ของโรงพยาบาลเริ่มเคลื่อนออกจากโรงพยาบาล ผ่านไปชั่วโมงนิด ๆ จึงถึงโรงพยาบาลปลายทาง
“มาผ่าตัดรับหัวใจครับ” เสียงพนักงานขับรถพูดกับพนักงานรักษาความปลอดภัยของโรงพยาบาล 
“ประตู 4 ทางด้านนู้น” พี่ยามบอกทางไปอย่างมั่นใจ
หลังจากขับรถวนไปตามประตู 1-2-3 สุดท้ายเราจึงวนกลับมาที่พี่ยาม และนั่นก็คือประตู 4 .......

เวลา 05:00 น. ห้องผ่าตัดและทีมดมยาพร้อมที่จะเริ่มการผ่าตัดผู้บริจาคอวัยวะ ผมยกมือพนมขึ้นที่หน้าอกและกล่าวในใจอย่างที่ทำทุกครั้ง 
“ขอบคุณสำหรับการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพื่อที่จะได้ต่อชีวิตของผู้อื่นต่อไปนะครับ” 
“ลงมีด เปิดหน้าอก” 

เวลาผ่านไปไม่นาน “หัวใจของผู้บริจาคทำงานได้ดี ส่งข่าวให้ทีมผ่าตัดผู้รับบริจาคด้วยว่า เอาคนไข้เข้าห้องผ่าตัดได้” ผมพูดกับน้องพยาบาลร่วมทีม

เวลา 06:00 น. หลังจากทีมผ่าตัดในช่องท้องพร้อมแล้ว ทีมผ่าตัดในช่องอกและช่องท้องเริ่มทำการให้น้ำยารักษาสภาพของอวัยวะพร้อมกัน
“อาจารย์ไม่ไปหาอะไรกินที่ตลาดร่มหุบก่อนกลับเหรอคะ” พี่พยาบาลดมยาที่หัวเตียงถามผม
“เอ ตลาดร่มหุบมันอยู่ที่แม่กลอง สมุทรสงคราม ไม่ใช่หรือครับ” ผมถามกลับ
“ที่นี่สมุทรสงครามค่ะ” 
ผมอึ้งไปเล็กน้อยและเสียดายที่ไม่ได้ไปทักทายคุณลุงคุณป้าของผมที่เคยทำงานที่โรงพยาบาลนี้และบ้านของท่านก็อยู่ใกล้ ๆ นี้เอง ผมนึกว่าที่นี่คือสมุทรสาคร ความกังวลเล็ก ๆ เริ่มก่อตัวขึ้นในใจ

เวลา 06:30 น. “ผมขออนุญาตรบกวนทีมของอาจารย์ช่วยปิดหน้าอกให้คนไข้ด้วยนะครับ”
“ได้เลยครับ” ทีมผ่าตัดในช่องท้องตอบกลับ
“เรามีเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมงเพื่อนำหัวใจกลับไปให้ผู้รับบริจาค ตอนนี้เช้าแล้ว รบกวนโทรหาทีมพยาบาลผู้ประสานงานโครงการปลูกถ่ายอวัยวะช่วยติดต่อสภากาชาดเพื่อขอตำรวจช่วยนำทางให้ด้วย ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า” ผมให้น้องพยาบาลในทีมช่วยประสานงาน
“บอกทีมทางโน้นด้วยว่าเรากำลังจะออกเดินทาง ทีมแพทย์ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี น่าจะเริ่มผ่าตัดผู้รับบริจาคแล้ว เมื่อเราไปถึงจะได้ไม่เสียเวลามาก” ผมกล่าวย้ำพร้อมกับความกังวลที่มากขึ้น

เวลา 07:30 น. ณ ด่านดาวคะนอง ก่อนขึ้นทางด่วนไปทางสะพานพระราม 9 บรรดารถทั้งเก่าใหม่ใหญ่เล็กเต็มไปทั่วทั้งท้องถนน ผมสิ้นหวังเนื่องจากผ่านมา 1 ชั่วโมงแล้ว ถ้าหัวใจดวงนี้ไปไม่ทันเวลา ก็คงจะใช้เพื่อทำการผ่าตัดปลูกถ่ายให้ผู้รับบริจาคไม่ได้ และรถตู้ที่พาพวกเรากลับไปก็ไม่ขยับมานานแล้ว
“รถคันนี้จะไปโรงพยาบาลรามาธิบดี ใช่ไหมครับ” เสียงของคุณตำรวจดังเข้ามาพร้อมกับเสียงเคาะกระจก
“ใช่ครับ” พนักงานขับรถรีบตอบ
เสียงไซเร็นดังขึ้นท้ายบิ๊กไบค์ของพี่ตำรวจทั้งสองคัน บิ๊กไบค์ขับไประหว่างเลนขวาสุดและเลนซ้ายมือ พี่ตำรวจขับบิ๊กไบค์ด้วยมือเดียวและใช้อีกมือนึงโบกรถให้หลบ รถตู้ของผมขับแทรกตามหลังพี่ตำรวจไปด้วยความเร็ว
“ปัง” เสียงรถชนดังขึ้นประมาณ 3 ครั้ง คาดว่ากระจกรถตู้คงไปกระแทกกับกระจกรถด้านข้าง อย่างไรก็ตามรถตู้ยังคงขับตามบิ๊กไบค์ต่อด้วยความยากลำบาก ผมหันไปมองรถทางด้านหลัง พบว่ามีรถเปิดไฟกระพริบขับแทรกเลนตามหลังมาจำนวนหนึ่ง “ที่ขับตามมานี่รถตำรวจใช่ไหม” ผมถามทีม ไม่มีคำตอบที่เหมาะสม...........
หลังจากขับผ่ามาถึงทางขึ้นสะพานพระราม 9 ซึ่งสูงชัน และแน่นอน เต็มไปด้วยรถทุกทิศทุกทางจนไม่มีที่ให้แทรกผ่านได้ ความสิ้นหวังเริ่มเข้ามาในใจผม
“หวอ หวอ” เสียงไซเรนของบิ๊กไบค์ดังเพิ่มขึ้นพร้อมกับจำนวนตำรวจที่ขับบิ๊กไบค์ที่เข้ามาช่วยกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะทางที่ผ่านไป ด้านหลังของพี่ตำรวจติดเสื้อกั๊กซึ่งเขียนว่า “โครงการพระราชดำริ” น้ำตาของผมไหลซึมมาเล็กน้อย ด้วยความชำนาญร่วมกับจำนวนบิ๊กไบค์ของตำรวจที่เพิ่มขึ้น เราใช้เวลาไม่ถึง 15 นาที จนสามารถลงที่ถนนอุรุพงษ์และเข้าสู่โรงพยาบาลรามาธิบดีได้

เวลา 8:00 น. ผมเดินลงจากรถตู้พร้อมขอบคุณพี่ ๆ ตำรวจที่มาจอดรถและช่วยยกอุปกรณ์ผ่าตัดลงจากรถ ผมเชื่อว่าคำขอบคุณของผมคงไม่พอกับน้ำใจของพวกพี่ ๆ ทุกคน ผมต้องรีบไปผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจต่อให้เสร็จ จึงฝากทีมพยาบาลผู้ประสานงานโครงการปลูกถ่ายอวัยวะรับหน้าไปก่อน

เวลา 11:00 น. การผ่าตัดเสร็จสมบูรณ์ ทั้งผู้รับบริจาคและหัวใจดวงใหม่ปลอดภัยดี แม้ผมจะเป็นหัวหน้าทีมและส่วนหนึ่งของความสำเร็จในครั้งนี้ แต่ที่จริงแล้วทุกคนมีส่วนช่วยกันในความสำเร็จในการช่วยเหลือต่อชีวิตให้คนไข้ ทุก ๆ คนในทีม แม้แต่ทุก ๆ คนบนท้องถนนยามเช้าอันโหดร้ายของกรุงเทพมหานคร ที่ช่วยกันให้ทางเพื่อให้หัวใจดวงนี้ไปสู่ที่หมายได้เร็วที่สุด พระเอกในงานนี้ตัวจริงผมขอยกให้พี่ ๆ ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริครับ ขอขอบคุณจากใจจริง

การให้ที่ไม่สิ้นสุด .. ไม่จำเป็นว่าเราต้องมีเงินจำนวนมากถึงจะให้ได้ เราเริ่มได้จากเรื่องเล็ก ๆ รอบตัวเรานะคะ การให้ทางรถโรงพยาบาลก็ถือเป็นการให้อย่างหนึ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ การช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ นำมาสู่การช่วยเหลืออันแสนยิ่งใหญ่ ทำให้ช่วยต่อชีวิตคน ๆ นึงได้เลยทีเดียว 

ขอขอบคุณผู้บริจาคและครอบครัวผู้บริจาคที่ทำบุญอันแสนยิ่งใหญ่นี้ และขอขอบคุณ อ. นพ.ณรงค์ฤทธิ์ และทีมงานปลูกถ่ายอวัยวะทุกท่านนะคะ ในขณะที่พวกเรากำลังพักผ่อนอยู่ที่บ้าน ก็ยังมีคุณหมอ คุณพยาบาล คุณตำรวจและเจ้าหน้าที่อีกหลายชีวิตที่ต้องตื่นมาทำภารกิจอันแสนจะหนักและสำคัญเช่นนี้ .. เชื่อได้เลยว่า “ความสุข” ที่ทุกคนได้รับไม่สามารถหาซื้อหรือประเมินเป็นมูลค่าได้ แต่มันเป็นความสุขทางใจ ที่คงทำให้ “อิ่มใจ” ไปได้อีกนาน 

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 39