Happy New Year! 1 มกราคม กลายเป็นปีใหม่สากลได้อย่างไรนะ?

Happy New Year!  1 มกราคม กลายเป็นปีใหม่สากลได้อย่างไรนะ?
Volume: 
ฉบับที่ 39 เดือนมกราคม 2564
Column: 
Vocab With Rama
Writer Name: 
นู๋โน โกอินเตอร์, นู๋นัน สะพายกล้อง

 

Happy New Year! Bonne Année! สวัสดีปีใหม่ค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน 

ท่านผู้อ่านเคยสงสัยกันมั้ยคะว่า โลกออกจะกว้างใหญ่ มีหลายประเทศ หลากวัฒนธรรม แต่ละแหล่งก็มีการนับวันขึ้นปีใหม่เฉพาะท้องที่ต่าง ๆ กันไป อย่างไทยเราก็นับว่าวันสงกรานต์เป็นปีใหม่ของไทย ในขณะที่จีนก็จะมีเทศกาลตรุษจีน แต่ทำไมเราถึงร่วมฉลองปีใหม่สากลด้วยกันในวันที่ 1 มกราคม? มา ๆ วันนี้ ฟุตฟิตฟอไฟกับรามาฯ จะเล่าให้ฟังค่ะ

เริ่มแรกสุด เราต้องย้อนอดีตกลับไปถึงยุคสมัยของชาวบาบิโลน (Babylon/ˌbæbɪˈloʊniə/) เมื่อ 4,000 กว่าปีที่แล้วค่ะ ชาวบาบิโลนได้คิดค้นการใช้ปฏิทินขึ้นโดยคำนวณจากการเคลื่อนที่วงรอบของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เรียกว่า “จันทรคติ” (Lunar calendar/ ˈluːnə(r)ˈkælɪndə(r) ) เมื่อครบ 12 เดือน ก็กำหนดให้เป็น 1 ปี ต่อมาเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก ๆ 4 ปี 

ครั้นเมื่ออารยธรรมในยุคต่อมาอย่าง อียิปต์ กรีก และโรมัน รุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ก็มีการนำปฏิทินของชาวบาบิโลนปรับปรุงโฉมมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเมื่อประมาณ 45 ปี ก่อนคริสตกาล ในสมัยของจักรพรรดิ จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar/ˌdʒuːliəs ˈsiːzə(r)) ได้มีการนำความคิดและหลักความเชื่อเรื่อง “จักรราศี” (Zodiac/ ˈzəʊdiæk) ตามหลัก “สุริยคติ” (Solar Calendar/ ˌsəʊlə ˈkælɪndə(r)) ของอียิปต์มาผสมผสานกับจันทรคติในแบบเดิม ทำให้ในหนึ่งปีมี 365 วัน จึงกำเนิดเป็น “ปฏิทินจูเลียน” (Julian calendar/ˌdʒuːliən ˈkælɪndə(r)) ซึ่งใกล้เคียงกับปัจจุบันมาก โดยทุก ๆ 4 ปี จะให้เติมวันในเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือ เดือนกุมภาพันธ์ โดยปฏิทินเวอร์ชั่นนี้มีการกำหนดให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันแรกของปี ตามที่เรียกเดือนมกราคมในภาษาอังกฤษว่า January (‘dʒænjuəri) อันมีที่มาจาก “เจนัส” (Janus/ˈdʒeɪnəs) เทพเจ้าองค์หนึ่งในศาสนาโรมันยุคโบราณที่เชื่อกันว่า เป็นผู้เฝ้าประตูทางเข้าประตูสู่สรวงสวรรค์ คุ้มครองการเริ่มต้น การผันแปร และกาลเวลา โดยชาวโรมันจะจัดให้มีการบูชาเทพเจนัสองค์ดังกล่าว และมีประเพณีมอบของขวัญแก่กัน ในวันแรกของเดือนมกราคม เพื่อเป็นสิริมงคลต่อชีวิตที่จะเริ่มขึ้นในปีใหม่นั่นเอง 

โดยในเวลาต่อมา ทางฟากยุโรปที่ยึดเอาปฏิทินจูเลียนมาใช้ตลอด ก็มีการปรับเปลี่ยนวันเวลาต่าง ๆ ภายในปฏิทินให้เหมาะสมมากขึ้นในยุคของพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 (Pope Gregory XIII /pəʊp ˈɡreɡəri ˌfɪfˈtiːn/) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่า ปฏิทินเกรกอเรี่ยน (Gregorian calendar/ /ɡrɪˌɡɔːriən ˈkælɪndə(r)/) ตามชื่อพระสันตะปาปา เกรกอรี่ ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปปรับเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินเกรกอเรี่ยนตาม และในที่สุด ด้วยการขยายอาณานิคมและอิทธิพลของชาวยุโรปไปยังดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลกมายังฝั่งทวีปเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ปฏิทินเกรกอเรี่ยนก็กลายเป็นปฏิทินสากลของโลกยุคปัจจุบันนั่นเอง 

สำหรับในประเทศไทยนั้น แรกเริ่มเดิมทีเราถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย ตรงกับ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตามคติทางพุทธศาสนา ที่ถือช่วงฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นของปี ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 ได้นำเอาคติพราหมณ์ฮินดูที่เข้ามาพร้อมกับศาสนาจากประเทศอินเดีย ที่ถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 (เดือนเมษายน) หรือ วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติ ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนรอบปีนักษัตรให้เป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาทางราชการนิยมใช้สุริยคติ จึ่งได้ถือวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นต้นปีมาตั้งแต่พุทธศักราช 2432 จนถึงสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องการให้ประเทศไทยมีความเป็นสากลเหมือนอารยประเทศ จึงได้ออกพระราชบัญญัติ ปีปฏิทินพุทธศักราช 2483 ประกาศให้ยึดวันปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

2020 อาจเรียกได้ว่า เป็นปีที่หนักหน่วงในทุก ๆ ด้าน แต่เชื่อว่าด้วยสติปัญญาและความพยายามของพวกเรา เชื่อว่า อุปสรรคใด ๆ จะต้องผ่านไปได้ด้วยดี แล้วปีหน้า เราจะได้เริ่มต้นกันใหม่อีกครั้ง ด้วยความหวังและความ สุขสดชื่นตลอดปีแน่นอนค่ะ! มาเป็นกำลังใจให้กันและกันนะคะ Happy New Year อีกครั้งค่ะ ♥

อ้างอิง

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 39