เด็กส่งยา

เด็กส่งยา
Volume: 
ฉบับที่ 41 เดือนกรกฎาคม 2564
Column: 
Behind the Scene
Writer Name: 
นันทิตา จุไรทัศนีย์

    เด็กส่งยา

     เมษายน 2564 ท่ามกลางความยากลำบากในช่วงสถานการณ์ COVID-19 อันยาวนานกว่าที่เราคิดไว้ หลาย ๆ บ้าน หลาย ๆ ครอบครัวนอกจากความท้อแท้และสิ้นหวังแล้วยังแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ด้วยหนี้สินอันรุงรังและการถูกให้ออกจากงาน และฉันยังคงต้องทำงานเพื่อเลี้ยงชีพตัวเองต่อไปในทุกวัน แม้จะแลกมาด้วยความเสี่ยง แต่เพื่อความอยู่รอดของตัวฉันเองและครอบครัวแล้ว ... ฉันยอม
    ฉันไม่มีหนทางให้เลือกมากนัก เรียกได้ว่าเป็นงานที่ฉันต้องทำเสียมากกว่า อาจด้วยความเหมาะสม ความรู้ที่พอมีติดตัว และทักษะการเอาตัวรอดทำให้ฉันได้เข้ามาทำงานนี้
    อาจเรียกว่าเป็นความเสี่ยงที่สุดเท่าที่เคยทำมาในช่วง COVID-19 แต่ฉันเลือกที่ยอมรับและทำงานนี้ด้วยความเต็มใจ
    งานที่ต้องเป็นความลับ ห้ามเปิดเผย บอกใครไม่ได้ ต้องทำให้เงียบและมิดชิดที่สุด หลังจากงานเรียบร้อย ฉันต้องเก็บกวาดทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทาง
    เด็กส่งยา ... เป็นงานที่ฉันได้รับมอบหมายมา

เด็กส่งยา

    ปลายเดือนเมษายน เป็นช่วงที่เจ้าเชื้อ COVID-19 กำลังแพร่ระบาดในประเทศไทยอย่างหนักหน่วง เรียกได้ว่าพบคลัสเตอร์ใหม่ในทุก ๆ วัน 
    ฉันได้รับการติดต่อเพื่อให้ทำงานอย่างกะทันหันในบ่ายวันหนึ่ง ฉันลังเลเล็กน้อยก่อนจะตัดสินใจรับงานนี้ ฉันได้รับคำสั่งลงมาว่าให้ไปส่งยายังที่พักแห่งหนึ่ง ต้องไปให้เงียบที่สุด อย่าให้ใครรู้ และต้องส่งให้ถึงมือผู้รับเท่านั้น โดยงานนี้ฉันจะมีเพื่อนไปด้วยหนึ่งคน เพื่อช่วยกันทำงานให้สำเร็จ
    ยาอัดเม็ดเรียงเป็นแผงใส่อยู่ในถุงอีกหลายชั้น จนแทบมองไม่เห็นของที่อยู่ข้างใน ซึ่งน่าจะมีมูลค่าหลายบาทเลยทีเดียว 
    ฉันถือถุงยาแน่น พยายามทำตัวไม่ให้มีพิรุธ เพียงครู่เดียวก็มีรถยนต์คันหนึ่งเข้ามาจอดรับฉันและเพื่อน ฉันบอกจุดหมายปลายทางแก่คนขับ และนั่งเงียบมาตลอดทาง พลางนึกถึงสิ่งที่ทำให้ฉันตัดสินใจรับงานนี้
    โรงพยาบาลหลายแห่งประกาศไม่รับผู้ป่วย COVID-19 เพิ่ม เนื่องจากเตียงเต็ม แต่เพื่อผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 ทำให้เราต้องใช้พื้นที่ของโรงแรมบางแห่งที่ยินดีให้เป็นสถานที่ในการรับผู้ป่วย COVID-19 เพื่อทำการรักษาผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ หรือที่เรียกว่าฮอสปิเทล (Hospitel) บุคลากรทางการแพทย์หลายสิบหลายร้อยชีวิตจำเป็นต้องอพยพย้ายถิ่นฐานออกจากโรงพยาบาลไปยังฮอสปิเทลเพื่อดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
    แต่ถึงแม้ว่าจะได้ทำการเปิดฮอสปิเทลหลายแห่งแล้ว แต่เตียงคงยังไม่พอ รวมถึงโรงพยาบาลรามาธิบดีเองเช่นกัน  ผู้ป่วยหลายคนยังคงรอเข้ารับการรักษาอยู่ที่บ้าน บางคนอาการเริ่มแย่ลง และในช่วงนี้เองเราก็ได้รับรู้ข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่บ้าน บางรายรอเตียงจนอาการแย่ลงและเสียชีวิตในที่สุด 

เด็กส่งยา

การรักษาผู้ป่วย COVID-19 บางรายจำเป็นต้องได้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ การใช้ยาต่าง ๆ นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แพทย์จึงต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนให้ยาแก่คนไข้

    จนกระทั่งวันนี้ เวลา 8 นาฬิกา ผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 จำนวนมากมารับการตรวจที่คลินิกทางเดินหายใจ ซึ่งใช้เวลาในการรอผลประมาณ 6 ชั่วโมง
    14 นาฬิกา ผลการตรวจของผู้ป่วย 2 รายจากทั้งหมด พบว่าติดเชื้อ COVID-19 ร่วมกับผลการตรวจร่างกายและเอกซเรย์ปอดพบว่าผิดปกติ ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่เนื่องจากเตียงในโรงพยาบาลเต็มทุกหอผู้ป่วย แต่คนไข้จำเป็นต้องได้รับการรักษา “ภารกิจส่งยา” จึงได้เริ่มต้นขึ้น
    15 นาฬิกา หน่วยบริการพยาบาลผู้ป่วยที่บ้านหรือหน่วยเยี่ยมบ้าน ได้รับมอบหมายให้ไปส่งยาให้แก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 2 รายที่มีอาการไอ หายใจเหนื่อยหอบ และผลเอกซเรย์ปอดพบว่ามีความผิดปกติ ทีมเยี่ยมบ้านได้ประชุมทีมเฉพาะกิจ และจัดทำแผนในการส่งยาให้ถึงมือผู้ป่วย โดยมีหน่วยโรคติดเชื้อของโรงพยาบาลเป็นผู้ให้ข้อมูลและแนวทางวิธีการปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และที่สำคัญคือต้องคำนึงถึงการรักษาความลับของผู้ป่วย ลดการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยสู่ผู้อื่นด้วย
    ข้อจำกัดของภารกิจนี้คือ ทำอย่างไรไม่ให้ผู้อื่นรู้เพื่อหลีกเลี่ยงการตีตรา ซึ่งเป็นการรักษาความลับของผู้ป่วยที่สำคัญ เราจึงวางแผนโดยใช้รถยนต์ในการเดินทางแทนรถพยาบาล (Ambulance) โทรศัพท์สอบถามแผนที่และการเดินทางไปยังบ้านของผู้ป่วย ซักประวัติและอาการเพิ่มเติมเพื่อวางแผนในการรักษากรณีฉุกเฉิน และวางแผนในการรับยากับผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยจะไม่สามารถออกมาจากบ้านได้เพราะต้องป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น 

เด็กส่งยา

    ผู้ป่วยทั้ง 2 รายนี้ แยกเป็น 2 ครอบครัว ครอบครัวหนึ่งเป็นคุณยายที่มีโรคประจำตัวหลายอย่าง ผลเอกซเรย์ปอดผิดปกติ และเป็นผู้ป่วยติดเตียงซึ่งมีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นต้องรับประทานยา โดยมีหลานสาวเป็นผู้ดูแลและติดเชื้อด้วยเช่นกัน แต่ตัวหลานสาวเองนั้นไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ จึงยังไม่ต้องรับประทานยา
    อีกครอบครัวหนึ่งเป็นคุณพ่อวัย 30 ปี อาศัยอยู่กับลูกสาวอายุ 1 ขวบเพียงสองคน เนื่องจากคุณแม่ติดเชื้อและเข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลไปก่อนหน้านี้แล้ว คุณพ่อเริ่มมีอาการไอ เหนื่อยง่าย และผลเอกซเรย์ปอดผิดปกติจึงต้องรับประทานยาเช่นเดียวกัน     15 นาฬิกา 30 นาที ทีมพยาบาลเยี่ยมบ้านส่วนหนึ่งไปที่ห้องยา โดยฉันและเพื่อนจะเป็นผู้ที่ไปส่งยา ทีมทั้งหมดได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากเภสัชกรคลินิกในเรื่องของการรับประทานยา อาการข้างเคียงต่าง ๆ เพื่อส่งต่อข้อมูลนี้ให้แก่คนไข้ ฉันรับยามาจากเภสัชกร ในซองยาประกอบด้วย ยาลดไข้ ยารักษาตามอาการอื่น ๆ และ ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่ราคาสูงถึงเม็ดละ 150 บาท และต้องรับประทานทั้งหมด 50 เม็ด รวมเป็นราคา 7,500 บาท จำนวน 2 ชุด ทำให้ฉันต้องรักษาถุงยานี้ไว้เป็นอย่างดี      16 นาฬิกา รถยนต์ของโรงพยาบาลมารับฉันและเพื่อน ฉันบอกจุดหมายปลายทางแก่เจ้าหน้าที่ผู้ขับรถ โดยไม่ได้บอกจุดประสงค์ของการเดินทางในครั้งนี้เพื่อรักษาความลับของคนไข้ ระหว่างการเดินทาง ทีมพยาบาลเยี่ยมบ้านอีกชุดหนึ่งโทรศัพท์ให้ข้อมูลต่าง ๆ แก่คนไข้ ทั้งสองครอบครัว 

เด็กส่งยา

    17 นาฬิกา เรามาถึงบ้านของคุณยายเป็นบ้านแรก มีหลานสาววัย 10 ขวบที่ไม่ติดเชื้อใส่หน้ากากอนามัยออกมายืนรอรับยาที่หน้าบ้าน ฉันโทรศัพท์เพื่อพูดคุยกับหลานสาวของคนไข้ ให้ข้อมูลและทวนสอบเรื่องการรับประทานยาอีกครั้งให้ถูกต้อง สอบถามวิธีการกักตัวของเธอและคุณยาย เนื่องจากมีคนอื่น ๆ ในครอบครัวอาศัยอยู่ด้วย และให้เพิ่มเพื่อนในบัญชีทางการ RAMA Home Nurse ในแอปพลิเคชัน LINE ซึ่งเป็นไลน์ออฟฟิเชียลแอคเคาท์ (LINE Official Account) ของหน่วยบริการพยาบาลผู้ป่วยที่บ้านเพื่อเป็นช่องทางสอบถามข้อมูลต่าง ๆ หรือในกรณีฉุกเฉิน และรายงานอาการผิดปกติได้ตลอด 24 ชั่วโมง 
    17 นาฬิกา 10 นาที พยาบาลเยี่ยมบ้านอีกทีมแจ้งว่าผู้ป่วยได้เพิ่มเพื่อนในแอปพลิเคชัน LINE และได้ให้ข้อมูลทั้งหมดเป็นข้อความอีกครั้ง รวมทั้งข้อมูลต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยต้องการเรียบร้อยแล้ว
    18 นาฬิกา   เรามาถึงบ้านที่สอง คุณพ่อและลูกสาวออกมายืนรออยู่ที่ระเบียงหลังห้องของอพาร์ตเมนท์ชั้น 3 ซึ่งปีกตึกแยกตัวออกมาอยู่ริมบันไดหนีไฟ ลูกสาวตัวน้อยโบกมือเล็ก ๆ ให้เรา แต่เนื่องจากไม่มีญาติคนอื่นมารับยาได้ ฉันจึงเลือกเดินขึ้นไปทางบันไดหนีไฟเพื่อให้คุณพ่อออกมารับยาได้โดยไม่แพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่น ถุงยาถูกแขวนไว้ที่หน้าประตู ฉันโทรศัพท์เพื่อพูดคุยกับคุณพ่อ ให้ข้อมูลและอื่น ๆ เหมือนบ้านหลังแรก
    18 นาฬิกา 5 นาที พยาบาลเยี่ยมบ้านอีกทีมแจ้งว่าคุณพ่อได้เพิ่มเพื่อนในแอปพลิเคชัน LINE และได้ให้ข้อมูลทั้งหมดแล้วเช่นเดียวกัน
    19 นาฬิกา ฉันและเพื่อนกลับมาถึงโรงพยาบาลโดยสวัสดิภาพ พร้อมกับความภูมิใจและอิ่มใจที่ภารกิจนี้สำเร็จไปด้วยดี     เช้าวันรุ่งขึ้น ทีมเยี่ยมบ้านได้ทำการทบทวนหลังปฏิบัติงาน (After Action Review : AAR) เพื่อทบทวนวิธีการทำงานทั้งด้านความสำเร็จและปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปปรับปรุง พัฒนา และต่อยอดการทำงานในอนาคต     ฉันและเพื่อนผู้ส่งยาได้โทรศัพท์เพื่อติดตามอาการของทั้งสองครอบครัวอีกครั้ง และได้ทราบว่าครอบครัวแรก คุณยายได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว ส่วนหลานสาวได้เข้ารับการรักษาที่ฮอสปิเทล
    ครอบครัวที่สอง คุณพ่อและลูกสาวตัวน้อย ทางโรงพยาบาลได้ติดต่อเข้ามาว่าจะมารับตัวไปรักษาภายในวันนั้น

เด็กส่งยา

    2 สัปดาห์ต่อมา ฉันได้รับข้อความจากแอปพลิเคชัน LINE บัญชีทางการ RAMA Home Nurse จากผู้ใช้งานรายหนึ่งที่ทำการเพิ่มเพื่อนเข้ามา และมีข้อความที่ถูกส่งเข้ามาอย่างต่อเนื่องหลายข้อความ
    “สวัสดีค่ะคุณพยาบาล”
    “ดิฉันเป็นญาติของคุณยายที่คุณพยาบาลเอายามาส่งให้ที่บ้านเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน”
    “ตอนนี้ดิฉันอยู่ฮอสปิเทลครบ 14 วันแล้วได้กลับมาบ้านแล้วค่ะ”
    “ส่วนคุณยายจะได้กลับบ้านวันนี้”
    “หมอบอกว่าคุณยายอาการดี ไม่มีอาการแทรกซ้อนเลยให้กลับบ้านได้”
    “เป็นเพราะยายได้รับยาต้านไวรัสเร็วค่ะ เลยทำให้ไม่มีอาการรุนแรงมากกว่านี้”
    “พวกเราต้องขอบคุณคุณพยาบาลและทางโรงพยาบาลรามาฯ มาก ๆ ค่ะ”
    “ที่เสียสละและทำทุกอย่างเพื่อครอบครัวของเรา”
    “จากการติด COVID-19 ครั้งนี้ทำให้เรารู้ได้ว่าคำพูดของคนมีอยู่สองอย่าง”
    “อย่างแรกคือคำติฉินนินทาต่อว่าผู้อื่น ที่ครั้งหนึ่งมันผ่านมาและมันก็จะผ่านไป”
    “อย่างที่สองคือคำชื่นชมในคุณงามความดีของผู้คนที่มันจะอยู่ต่อไปอย่างเนิ่นนาน”
    “คนรอบ ๆ ตัวเรามักจะเป็นอย่างแรก แต่คุณพยาบาลเป็นอย่างที่สองค่ะ”
    “ครอบครัวเราจะจำคุณงามความดีของคุณพยาบาลตลอดไป และอยากจะบอกเล่าในสิ่งที่เราได้รับจากคุณพยาบาลมา มันมีค่าต่อชีวิตดิฉันและคุณยายมาก ๆ และมันจะคงอยู่ตราบนานเท่านาน”
    “ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ”
    ฉันรู้สึกตื้นตันอยู่ในอก การทำงานที่คิดว่าไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น เป็นงานเล็ก ๆ ที่ฉันเต็มใจทำนั้น จะคงอยู่ในใจของใครบางคนจนกระทั่งวันนี้ ฉันตอบกลับข้อความไปสั้น ๆ แต่เต็มไปด้วยความรู้สึกปรารถนาดีอย่างแท้จริง
    “พยาบาลขอบคุณมากนะคะ และขอให้คุณและคุณยายสุขภาพแข็งแรง ดูแลตัวเองนะคะ เราจะผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน พยาบาลเป็นกำลังใจให้ค่ะ”
    ฉันพร้อมรับงานครั้งต่อไปด้วยใจอันมุ่งมั่น ไม่ว่างานใด แต่หากเกิดประโยชน์ต่อคนไข้แล้ว ฉันยังคงยินดี ดังพระราชโอวาทของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย “ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศ จะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” คำสอนที่สถิตอยู่ในใจของบุคลากรทางการแพทย์หรือลูกพระบิดาทุกคน

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 41