กักตัว

กักตัว
Volume: 
ฉบับที่ 41 เดือนกรกฎาคม 2564
Column: 
Camera Diary
Writer Name: 
นันทิตา จุไรทัศนีย์

  

 4 มิถุนายน 2564 
    ฉันได้รับโทรศัพท์จากที่ทำงานหลังจากเลิกงานไม่ถึงชั่วโมง ข้อความสนทนาสั้น ๆ สรุปใจความได้ว่า “ให้กักตัวทันที”
    เช้านี้มีเพื่อนในที่ทำงานคนหนึ่งมีไข้สูง และตามระบบการคัดกรองโรค บุคลากรทางการแพทย์ถือว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากมีการสัมผัสโรคจากการทำงานตลอดเวลา เขาจึงต้องไปรับการตรวจที่คลินิกทางเดินหายใจ (ARI Clinic) โรงพยาบาลรามาธิบดี และได้รับการป้ายเอาเนื้อเยื่อหรือสารคัดหลั่งบริเวณหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal swab) เพื่อตรวจหาเชื้อ COVID-19 หลังจากตรวจเสร็จต้องกักตัวทันทีขณะที่รอผลการตรวจ
    6 ชั่วโมงหลังการตรวจผ่านไป ผลการตรวจพบว่าพบเชื้อ COVID-19 (Detectable) เพื่อนของฉันกลายเป็นผู้ป่วย COVID-19 อย่างสมบูรณ์ ทำให้ทุกคนในที่ทำงานต้องกักตัวทันที นั่นทำให้ฉันต้องกักตัวอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ของตัวเอง ฉันเริ่มส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชัน LINE เพื่อบอกคนในครอบครัวว่าฉันต้องกักตัว ห้ามเข้ามาในห้องของฉัน และงดการพูดคุยกันแบบเผชิญหน้าจนกว่าฉันจะได้รับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ในวันรุ่งขึ้น

    โดยปกติแล้วตามมาตรการการควบคุมโรค แบ่งความเสี่ยงในการติดเชื้อออกเป็น 3 กลุ่ม หรือ 3 วง ได้แก่ 

    วงที่ 1 ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (high risk contact) หรือสีแดง หมายถึง ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อยืนยันโรค COVID-19 ที่เข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
    •    ผู้ที่เรียน ผู้อาศัยร่วมห้องพัก หรือทำงานในห้องเดียวกัน
    •    ผู้คลุกคลีกับผู้สัมผัสที่มีการพูดคุยกับผู้ติดเชื้อในระยะ 1 เมตร นานกว่า 5 นาที
    •    ถูกไอ จาม รด จากผู้ติดเชื้อ COVID-19 โดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า
    •    ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ปิด ไม่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ในรถปรับอากาศ ในห้องปรับอากาศ ร่วมกับผู้ติดเชื้อ COVID-19 และอยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อไม่เกิน 1 เมตร นานกว่า 15 นาที โดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า
    สิ่งที่ต้องทำ ต้องเข้ารับการกักกันโรค และตรวจหาเชื้อจากทางห้องปฏิบัติการ
    วงที่ 2 ผู้สัมผัสกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (สัมผัสกับวงที่ 1) หรือสีเหลือง หมายถึงผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จัดเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้สัมผัสอีกครั้งหนึ่ง คนที่อยู่ใกล้ผู้สัมผัสจึงไม่มีความเสี่ยง
    สิ่งที่ต้องทำ
    •    สังเกตอาการตัวเอง 14 วัน
    •    หลีกเลี่ยงที่ชุมชน
    •    แยกรับประทานอาหาร (แยกสำรับ)
    •    สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ
    •    หากมีไข้หรืออาการของระบบทางเดินหายใจให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที เพื่อเก็บสิ่งส่งตรวจ ติดตามอาการและวัดไข้ตามแนวทางผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูง
    วงที่ 3 ผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ (สัมผัสกับวงที่ 2) หรือสีเขียว จัดเป็นผู้ที่ไม่มีความเสี่ยง เช่น อยู่ในโรงเรียนร่วมกับผู้ติดเชื้อ แต่ไม่มีกิจกรรมหรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ
    สิ่งที่ต้องทำ
    •    ไม่ต้องกักตัว
    •    สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ
    •    ไม่ต้องตรวจหาเชื้อ

    ซึ่งตอนนี้ฉันเป็นผู้ที่อยู่ในวงที่ 1 หรือสีแดง ส่วนสมาชิกในครอบครัวเป็นสีเหลืองนั่นเอง
    2 ชั่วโมงหลังการการกักตัว ฉันเริ่มรู้สึกได้ถึงความอึดอัด ถึงแม้ว่าในช่วงเวลาปกติฉันจะใช้เวลาอยู่ในห้องตามปกติอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ความรู้สึกกลับเปลี่ยนไป มันไม่ได้อยู่อย่างสุขสงบหรือสบายใจเหมือนเดิม
    ฉันเริ่มคิดไปข้างหน้าว่า หากฉันติดเชื้อ ฉันคงต้องเข้ารับการรักษาที่ฮอสปิเทล (Hospitel) หรือในโรงพยาบาล ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการและการวินิจฉัยของแพทย์ และสมาชิกในบ้านก็ต้องไปตรวจเช่นเดียวกัน เพราะถ้าฉันติดเชื้อ คนในบ้านจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีแดงทันที
    ย่างเข้าชั่วโมงที่ 3 ฉันนึกขอบคุณอาหารกล่องที่มีผู้บริจาคให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเสี่ยงกับผู้ป่วย COVID-19 ทำให้ฉันรอดพ้นมื้อเย็นไปได้ด้วยดีโดยไม่ต้องออกจากห้อง ทำให้ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อลงไป
    พระอาทิตย์ลับขอบฟ้า ฉันคิดถึงประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่ได้รับไปครบ 2 เข็ม ว่าจะได้ผลหรือไม่ อย่างไร ถึงวัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ 100% แต่ลดความเสี่ยงในการติดโรคและช่วยลดความรุนแรงของโรคลง ฉันค่อยรู้สึกสบายใจขึ้นมาอีกหน่อย
    เช้าวันต่อมา ฉันเดินทางมาโรงพยาบาลด้วยรถส่วนตัว มุ่งหน้าไปยังคลินิกทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ลงทะเบียนตามระบบ และเข้าห้องตรวจแรงดันลบเพื่อป้ายเอาเนื้อเยื่อหรือสารคัดหลั่งบริเวณหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal swab) ไปส่งตรวจ
    หลังตรวจเสร็จฉันยังคงต้องกักตัวจนกว่าผลจะออก เวลาผ่านไป 6 ชั่วโมง ผลการตรวจถูกส่งผ่านข้อความเข้ามายังโทรศัพท์แต่ละคน ฉันเปิดข้อความด้วยใจที่เต้นโครมคราม ผลการตรวจของฉันและทุกคนในที่ทำงานคือไม่พบเชื้อ COVID-19 (Undetectable) 
    ความสบายใจ ความโล่งใจถาโถมเข้ามา ฉันดีใจที่เราทำตามมาตรการการป้องกันการติดเชื้อของโรงพยาบาลได้อย่างถูกต้อง จึงไม่เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
    หน่วยโรคติดเชื้อของโรงพยาบาลได้ทำตามการสอบสวนโรคตามขั้นตอน ซึ่งเป็นมาตรฐานในการทำงานของโรงพยาบาล และอธิบายถึงความเสี่ยงของผู้ที่ต้องกักตัวต่อบางคน 
    การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ทำให้ผู้ที่สัมผัสโรคมีความเสี่ยงในการติดเชื้อลดลง ถือว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ผู้ที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบหรือไม่ได้ฉีดเลยจะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน หากระหว่างนี้มีอาการผิดปกติ ต้องกลับมาตรวจร่างกายและรับการป้ายเอาเนื้อเยื่อหรือสารคัดหลั่งบริเวณหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal swab) เพื่อตรวจหาเชื้อ COVID-19 อีกครั้ง
    ฉันตระหนักถึงความสำคัญของวัคซีน COVID-19 มากยิ่งขึ้น และเห็นความสำคัญในการรับวัคซีนมากขึ้นไปอีกว่ามีความจำเป็นขนาดไหน
    ฉีดวัคซีนไม่ได้ทำเพื่อใคร แต่เพื่อตัวคุณเองและคนที่คุณรัก และเพื่อความปลอดภัยของทุกคน

 

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 41