ว่าด้วยเรื่องอ้วน ๆ เมื่อ FAT VS. OBESITY

ว่าด้วยเรื่องอ้วน ๆ เมื่อ FAT VS. OBESITY
Volume: 
ฉบับที่ 41 เดือนกรกฎาคม 2564
Column: 
Vocab With Rama
Writer Name: 
นู๋โน โกอินเตอร์, นู๋นัน สะพายกล้อง

    สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านที่น่ารักทุกท่าน 

    ช่วงที่ผ่านมา ตามที่มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปัจจัยเสี่ยงการเสียชีวิตของผู้ป่วย “COVID-19” ระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 คือการมีโรคประจำตัว ทั้งโรคความดัน เบาหวาน โรคอ้วน ฯลฯ ซึ่งโรคที่กลายเป็นกระแสในความสนใจและถูกพูดถึงเป็นอย่างมากก็คือ “โรคอ้วน” หรือ Obesity (ออกเสียงว่า əʊˈbiːsɪti.) 
    ปกติพูดว่าอ้วนเฉย ๆ ก็เจ็บแล้วนะ ยังจะเป็นโรคอีกเหรอ? เขียนแค่นี้น้ำตาก็จะไหลแล้วค่ะ T-T 
    คุณผู้อ่านอาจสงสัยเพิ่มไปอีกว่า เอ๊ะ คำว่า “อ้วน” ในภาษาอังกฤษที่เราเคยเรียนกันมาตลอด ไม่ได้ใช้คำว่า Fat (ออกเสียงว่า fæt) หรอกหรือ? ตรงนี้ขอขยายความเพิ่มเติมว่า ความหมายของ Fat ในภาษาอังกฤษ มีหลายความหมาย กรณีใช้เป็นคำนาม (noun) จะหมายถึง ไขมัน น้ำมัน มันเปลว ความอ้วน หรือความสมบูรณ์ ถ้าเป็นคำคุณศัพท์ (Adjective) จะหมายถึง ที่ดูใหญ่ ดูหนา และที่อ้วน จึงสื่อถึงรูปลักษณ์ที่มองเห็นจากภายนอกเป็นหลัก  ในขณะที่ โรคอ้วน หรือ Obesity สื่อถึงภาวะน้ำหนักเกินที่ส่งผลกระทบถึงสุขภาพ เป็นสภาวะทางการแพทย์ที่มีการสะสมไขมันในร่างกายมากถึงขนาดที่อาจมีผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้มีอายุสั้นลง และมีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น การพิจารณาว่าบุคคลใดอ้วน นั้นต้องพิจารณาจาก ดัชนีมวลกาย (BMI) ซึ่งเป็นการวัด มีค่าเท่ากับน้ำหนัก (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลังสอง บุคคลที่มีดัชนีมวลกายเกิน 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรถือว่าเป็นโรคอ้วน โดยในช่วง 25-30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรนิยามเป็นน้ำหนักเกินค่ะ 
    คุณผู้อ่านอาจเริ่มขมวดคิ้ว นึกหงุดหงิดอยู่ในใจว่า แล้วมันต่างกันตรงไหน? ก่อนอื่น เราต้องแยกแยะเรื่องเกี่ยวกับความงามและเรื่องสุขภาพออกจากกันเสียก่อน 

    ในอดีตกาล รูปร่างอ้วนมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ เป็นรูปแบบของความงามในอุดมคติ อย่างที่ปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมาย โดยประติมากรรมศิลปะที่เป็นตัวอย่างได้ดีที่สุดคือ วีนัสแห่งวิลเลนดรอฟ (Venus of Willendorf) เป็นประติมากรรมในยุคหินเก่าตอนปลาย (24,000 - 22,000 ปี ก่อนคริสตกาล) แกะสลักด้วยหินขนาดเล็ก ส่วนใหญ่เป็นรูปแกะสลักหินซึ่งนักโบราณคดีสมัยปัจจุบันเรียกชื่อรูปเหล่านี้ว่า “วีนัส” อันสื่อถึงความเป็นเทพีแห่งความงามตามอุดมคติในยุคนั้น ๆ เนื่องจากเป็นประติมากรรมที่แสดงเพศหญิงอย่างชัดเจน และสรีระที่สมบูรณ์มาก เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่ต้องต่อสู้กับความหิวโหยและการขาดแคลนอาหาร 


ภาพประกอบวีนัสแห่งวิลเลนดรอฟ (Venus of Willendorf)

    ความอ้วนจึงถูกมองว่าเป็นสัญญาณแห่งความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรือง เป็นเรื่องปกติในหมู่ข้าราชการระดับสูงในยุโรปในยุคกลางและยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาเพราะถือว่าเป็นผู้มีอันจะกินและไม่ได้ใช้ชีวิตลำบาก เมื่อกาลเวลาผ่านไป ในหลายวัฒนธรรม ความอ้วนกลับถูกมองว่าเป็นผลมาจากข้อบกพร่องของบุคคล ตัวละครอ้วนที่ปรากฎตัวในบทละครตลกของกรีกโบราณจะถูกแสดงภาพว่าเป็นคนตะกละและน่าเยาะเย้ย ในช่วงสมัยคริสตศาสนาเจริญรุ่งเรือง อาหารถูกมองว่าเป็นประตูสู่บาปของความเกียจคร้านและราคะ ในวัฒนธรรมตะวันตกสมัยใหม่ การมีน้ำหนักเกินมักถูกมองว่าไม่ใช่ความงามในอุดมคติ และโรคอ้วนมักเกี่ยวข้องกับทัศนคติเชิงลบต่าง ๆ คนทุกวัยสามารถเผชิญกับการตีตราทางสังคม และอาจตกเป็นเป้าโจมตีหรือถูกรังเกียจจากคนรอบข้าง 
    แนวความคิดนี้ยังคงส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน คนที่มีรูปร่างอ้วนยังคงถูกผลักออกไปสู่ความเป็นอื่น (otherness) โดยลืมคำนึงไปว่า ไม่ว่ารูปลักษณ์ภายนอกจะเป็นอย่างไร นั่นก็อาจจะไม่ได้มีความหมายมากเท่ากับการที่ร่างกายของเรายังคงแข็งแรงและมีสุขภาพดี ตามที่กล่าวไว้เบื้องต้น ว่านิยามภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน (Overweight and Obesity) เอาไว้ว่าคือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเกินปกติ จนเป็นปัจจัยเสี่ยง หรือเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่ส่งผลถึงสุขภาพ จนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ ทั้งโรค โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคนิ่วในถุงน้ำดี ปัญหาในการหายใจ ซึ่งอาจทำให้เป็นโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจได้ รวมทั้งยังพบว่า ถ้ามีการติดเชื้อ COVID-19 ผู้ป่วยโรคอ้วนมักมีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงมากกว่าคนทั่วไป เพราะคนที่มีดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) สูง ๆ อาจมีผลทำให้การขยายตัวของปอดทำได้จำกัด ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อไวรัสที่ปอด ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อผู้ป่วยโรคอ้วน มีอาการป่วยหนักและต้องเข้ารักษาในห้องภาวะวิกฤติ (ICU) อาจจะมีปัญหาในการใส่ท่อช่วยหายใจ การหาเตียงที่รองรับน้ำหนักได้มาก ๆ หรือ การทำ X-Ray Computer ที่อาจจำกัดขนาดและน้ำหนักของผู้ป่วย
    เพราะฉะนั้น พวกเราเหล่าคนเจ้าเนื้อ (fat) ทั้งหลาย (รวมทั้งคนเขียนด้วย) มาหลีกเลี่ยงภาวะโรคอ้วน (Obesity) กัน เพื่อสุขภาวะที่ดี เพื่อตัวเราเองและเพื่อคนที่เรารักกันนะคะ สู้ ๆ ค่ะทุกคน!

อ้างอิง 
- จักรกฤษ์ วนาใส.  “ความงามบนความหลากหลายของ “วีนัส” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://worldcivil14.blogspot.com/2018/12/blog-post_94.html. 
- Haslam D (March 2007). “Obesity: a medical history”. Obesity Reviews (Review). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/j.1467-789X.2007.00314.x 
- Centers for Disease Control and Prevention. “Obesity, Race/Ethnicity, and COVID-19” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.cdc.gov/obesity/downloads/data/obesity-maps/obesity-race-eth...

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 41