มะเร็งรังไข่

มะเร็งรังไข่ (โดย อ. พญ.สุวิชา จิตติถาวร) 

         ในประเทศไทย มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรีพบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองลงมาจากมะเร็งปากมดลูก และเป็นอันดับ 6 ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในหญิงไทย ซึ่งอุบัติการณ์ของมะเร็งรังไข่ 5.2 ต่อประชากรสตรี 100,000 คนต่อปี ช่วงชีวิตของสตรีที่ไม่มีประวัติของมะเร็งรังไข่ในครอบครัว จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่ร้อยละ 1.4 หรือ 1 ในสตรี 70 คน และโอกาสนี้จะสูงขึ้นถ้ามีประวัติมะเร็งรังไข่ในครอบครัว ปัจจุบันได้มีการค้นพบยีนที่เกี่ยวข้องกับการเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่

 

 

         

         มะเร็งรังไข่พบได้ทุกกลุ่มอายุ โดยชนิดและอุบัติการณ์ของมะเร็งแตกต่างกันไปตามอายุในเด็กและสตรีที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 60 จะเป็นเนื้องอกรังไข่ชนิดเจอร์มเซลล์ พบมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวร้อยละ 85 ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด ซึ่งเป็นชนิดที่พบมากที่สุด มะเร็งชนิดนี้พบน้อยในวัยรุ่น อุบัติการณ์จะสูงขึ้นตามอายุ โดยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนหลังอายุ 40 ปี และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนอายุ 55 ปี หลังจากนั้นจะลดลง

 

 

         

         การศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่โดยเฉพาะชนิดเยื่อบุผิว โดยหญิงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว ได้แก่ อายุมาก แต่งงานแต่ไม่มีบุตร มีประวัติเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ลำไส้ใหญ่ หรือเต้านม และมีประวัติญาติพี่น้องในครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่ การที่มีการตกไข่อย่างต่อเนื่องทุกเดือน หญิงที่หมดระดูเมื่ออายุมาก สำหรับหญิงที่เป็นมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวน้อยได้แก่ มีบุตรมาก มีภาวะไม่ตกไข่ และมีการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด โดยการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดนาน 5 ปี สามารถลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ลงได้ครึ่งหนึ่ง หญิงที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกโดยเหลือรังไข่ไว้ หรือได้รับการทำหมัน การตั้งครรภ์และการให้นมบุตรเป็นเวลานานมีผลในการป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่ ส่วนการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์หรือกาแฟ และการใช้ฮอร์โมนเอสโตเจนในวัยหมดระดูไม่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่

 

 

         

         อาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์บ่อยที่สุดได้แก่ อาการท้องโตอืดขึ้น เนื่องจากในท้องมีน้ำหรือมีก้อนเนื้องอกใหญ่ แน่นอึดอัดในท้อง ปวดท้อง ซึ่งเป็นอาการของโรคที่ได้แพร่กระจายไปในช่องท้องมากแล้ว นอกจากนี้ผู้ป่วยที่โรคยังเป็นไม่มาก อาจมีอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย ท้องผูกแน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่จำเพาะกับโรคใดโรคหนึ่ง ฉะนั้นตรีที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีอาการดังกล่าวและได้รับการรักษาด้วยยาโรคกระเพาะอาหารแล้วไม่ดีขึ้น ควรต้องนึกถึงโรคมะเร็งรังไข่ไว้บ้าง อาการอื่นที่พบ ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักตัวลด การปวดท้องเฉียบพลันอาการบิดขั้ว ก้อนแตกหรือเลือดออกในช่องท้อง บางรายอาจไม่มีอาการซึ่งอาจตรวจพบจากการตรวจภายใน หรือการตรวจร่างกายทั่วไป

 

 

         

         การรักษาหลักของมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว ประกอบไปด้วย การผ่าตัดและเคมีบำบัด รังสีรักษามีที่ใช้น้อย การใช้ immunotherapy กับการรักษาทางยีนกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น การพยากรณ์โรคจะดีหรือไม่ ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งระยะของโรค ชนิดของเนื้อเยื่อที่เป็นและขนาดของมะเร็งที่เหลืออยู่หลังการผ่าตัดครั้งแรก

         อย่างไรก็ดีต้องมีการติดตามหลังการรักษาเพื่อให้คำปรึกษา ให้ความรู้และคำแนะนำการปฏิบัติตัว อาการของมะเร็งกลับเป็นซ้ำ ร่วมกับการตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจภายใน การตรวจ tumor marker และการตรวจทางรังสี หรือการตรวจพิเศษอื่นๆ เมื่อมีข้อบ่งชี้