การดูแลตนเองในผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในมุมมองของผู้รักษา

 

         การรักษาเพื่อบรรเทาอาการ โดยตัวผู้ป่วยเองและผู้ดูแลควรทราบข้อมูลเกี่ยวกับชนิดของยาเคมีบำบัด และผลข้างเคียงของยาที่ได้รับโดยการปรึกษาแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลเฉพาะทางโรคมะเร็งที่ให้การดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และสามารถจัดการกับผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดและยาต้านมะเร็งเฉพาะจุดโดยเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง การเตรียมความพร้อมทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ การเข้าใจถึงการรักษาและผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นได้จากการรักษาเป็นสิ่งสำคัญทำให้ผู้ป่วยสามารถปรับกิจวัตรการดำเนินชีวิตให้เหมาะสมระหว่างช่วงรับการรักษาได้ดีโดยเฉพาะเมื่อเริ่มเข้าสู่ขบวนการรักษา สิ่งสำคัญคือ การปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง เพื่อลดผลข้างเคียงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คำถามที่พบบ่อยๆ อาทิเช่น

ไม่ควรรับประทานเนื้อสัตว์ใช่ไหม ? อย่าลืมนะคะว่า ร่างกายที่แข็งแรงและสมบูรณ์จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถต่อสู้

กับความเจ็บป่วย ทนต่อผลข้างเคียงจากการรักษา และช่วยให้ผลตอบสนองต่อการรักษาดีขึ้น การให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งที่ผอมมากๆ พบว่าได้ผลตอบสนองน้อยกว่าผู้ป่วยมะเร็งที่มีภาวะโภชนาการดี ผู้ป่วยที่มีภาวะโภชนาการไม่ดีมักจะได้รับยาเคมีบำบัดไม่ครบตามที่กำหนด และมีผลกระทบต่อระบบการสร้างเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ทำให้เม็ดเลือดต่ำ ดังนั้นผู้ป่วยควรเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะรับการรักษาดังนี้ คือ รับประทานอาหารที่ให้พลังงานเพียงพอและครบทั้ง 5 หมู่ คือ แป้ง เนื้อสัตว์ ไขมัน ไข่ นม ผัก และผลไม้ ปรุงสุกสะอาด หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโอกาสทำให้ท้องเสียได้ง่าย เช่น อาหารค้าง ขนมจีน ส้มตำ หรือยำต่างๆ ควรงดการรับประทานผักสด ผลไม้เปลือกบาง เช่น องุ่น ชมพู่ และผลไม้ที่ไม่มีเปลือก เช่น สตอร์เบอรี่ โดยเฉพาะในช่วง 14 วันแรก หลังได้รับยาเคมีบำบัด

         สามารถไปทำงานได้ตามปกติหรือเปล่า ? ผู้ป่วยสามารถมีกิจวัตรประจำวันไปทำงานได้ตามปกติ ออกกำลังกายได้พอควร ตามความชอบและเหมาะสม หากมีอาการอ่อนเพลียควรนอนพักฟื้นภายหลังได้รับยาเคมีบำบัด 1-2 วัน ที่บ้านพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง อาการอ่อนเพลียจะมากน้อยขึ้นอยู่กับสูตรยาเคมีบำบัด และความแข็งแรงของผู้ป่วยแต่ละราย

         สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ การไปในที่แออัดที่มีคนมากๆ เช่น ตลาด โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ไม่ควรใกล้ชิดกับคนที่ไม่สบาย เด็กที่ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรสังเกตจดบันทึกอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น ถ้ามีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรมาพบแพทย์ก่อนนัดเช่น

         
           · มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
         · ท้องเสีย หรือท้องผูกอย่างรุนแรง
         · ปวดมาก · หายใจลำบาก
         · คลื่นไส้ อาเจียน อย่างรุนแรง

 

         อย่าลืมนะคะว่ายังมีทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย พร้อมจะให้ความช่วยเหลือในทุกโอกาสผู้ป่วยและญาติผู้ดูแลเองเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนสำคัญมากที่สุดในการรักษา การร่วมตัดสินใจ รวมถึงการแสดงความเห็นการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย สิ่งที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง คือ กำลังใจในการต่อสู้กับการเจ็บป่วยและการเรียนรู้ที่จะสามารถปรับตัวได้ดีในขณะรับการรักษา และอยู่กับโรคมะเร็งปอดได้อย่างมีความสุข