การสร้างเนื้อเต้านมขึ้นใหม่โดยใช้เนื้อเยื่อตัวเองในการผ่าตัดมะเร็งเต้านม

สร้างเนื้อเต้านมขึ้นใหม่โดยใช้เนื้อเยื่อตัวเองในการผ่าตัดมะเร็งเต้านม
(โดย ผศ.นพ.ประกาศิต จิรัปปภา) 

 

         ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยี่ในการตรวจเต้านมและการส่งเสริมการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ทำให้ค้นพบมะเร็งในระยะแรกๆได้มากขึ้น ซึ่งทำให้อัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น การผ่าตัดซึ่งเป็นการรักษาหลักได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงจากอดีตที่มุ่งเน้นเพียงการรอดชีวิต เป็นการผ่าตัดที่จะคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและความสวยงามมากขึ้น

         สำหรับในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมก็เช่นเดียวกัน ไม่มีความจำเป็นต้องถูกตัดเต้านมออกหมดทุกรายหรือในรายที่จำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออก ก็สามารถทำการผ่าตัดสร้างเสริมเต้านมได้ทันทีในการผ่าตัดนั้น ด้วยการใช้เต้านมเทียมหรือการใช้เนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยเอง เนื้อเยื่อที่นิยมได้แก่ กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้อง และกล้ามเนื้อและไขมันบริเวณที่หลัง

         วิธีการผ่าตัด Latissimus Dorsi (LD) flap เป็นวิธีที่ใช้ในการผ่าตัดเพื่อสร้างเนื้อเต้านมขึ้นใหม่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมที่ต้องการทำการผ่าตัดเต้านมออก ซึ่งวิธีการนี้จะใช้ผิวหนังกล้ามเนื้อ Latissimus Dorsi และไขมันบริเวณหลังมาผ่าตัดตกแต่งเสริมภายหลังการผ่าตัดเลาะเนื้อเต้านมออกทั้งหมด (รูปที่ 1, 2 )

         การผ่าตัดใช้กล้ามเนื้อที่หลังเป็นวิธีหนึ่งที่ทำมากขึ้นในปัจจุบันเนื่องจากผู้ป่วยฟื้นฟูสุขภาพได้เร็วกว่าการใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง เป็นวิธีการที่ปลอดภัยมีผลแทรกซ้อนน้อย ระยะการนอนรักษาตัวอยู่ ร.พ.เทียบเท่ากับการผ่าตัดในมะเร็งเต้านมตามปกติคือประมาณ 3 วัน สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ทั้งในแง่ตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัวและสังคม

 

         แม้ว่าการผ่าตัด LD flap reconstruction จะดูยุ่งยากเล็กน้อยแต่ก็เพิ่มเวลาในการผ่าตัดไม่มากนัก และเนื่องจากวิธีการนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้เต้านมเทียมช่วยเสริม แต่ใช้เพียงแผ่นผิวหนังและชั้นไขมันบริเวณหลังรวมไปถึงกล้ามเนื้อ LD ของตัวผู้ป่วยเองทั้งหมด ดังนั้นผลของการผ่าตัดในระยะยาวแล้ว จะได้ลักษณะของเต้านมที่สร้างขึ้นใหม่ เหมือนเต้านมจริงมากที่สุด ทั้งในด้านรูปร่างและลักษณะเนื้อเต้านมจากการสัมผัส สร้างความพึงพอใจ และความรู้สึกว่ายังมีเต้านมอยู่เช่นเดิมได้เป็นอย่างดี

 

หลักเกณท์ในการคัดเลือกผู้ป่วยที่จะทำผ่าตัดสร้างเต้านมใหม่ด้วยการใช้กล้ามเนื้อ Latissimus Dorsi ได้แก่

          1.ผู้ป่วยที่มีเต้านมขนาดเล็กถึงปานกลาง
          2.ผู้ป่วยที่มีเต้านมหย่อนคล้อย ไม่มาก
          3.ผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องมาตกแต่งได้ เนื่องจากมีรอยแผลเป็นบริเวณหน้าท้องมาก่อน
          4.ใช้ผ่าตัดเสริมเพื่อแก้ไขในผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดเสริมเต้านมด้วยวิธีอื่นมาก่อน

 

การเลาะกล้ามเนื้อ LD มีอยู่ 2 วิธี คือ

          1. Latissimus Dorsi miniflap

คือการเลาะเอากล้ามเนื้อLD บางส่วนให้เพียงพอปิด breast defect หลังทำ lumpectomy (รูปที่ 3, 4)

 

รูปที่ 3 

รูปที่ 4 

          2. The extended LD flap technique       

เป็นเทคนิคที่ใช้ในการผ่าตัดทำเต้านมใหม่ทั้งเต้า ซึ่งวิธีการนี้จะใช้กล้ามเนื้อLD มาทั้งหมดรวมทั้งแผ่นผิวหนัง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ชั้นไขมันรอบๆ ทำให้ได้เนื้อเยื่อปริมาณเพียงพอสำหรับทำเต้านมใหม่ หลังการผ่าตัดเลาะเนื้อเต้านมออกทั้งหมด (รูปที่ 5, 6)         

รูปที่ 5 

รูปที่ 6 

         

          สภาพผู้ป่วยหลังผ่าตัด

         หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดบริเวณเต้านมข้างที่ทำผ่าตัด(รูปที่7) และแผลผ่าตัด donor siteซึ่งเป็นแผลเส้นตรงยาวประมาณ 10-15 เซ็นติเมตร(รูปที่8) ที่หลังข้างเดียวกับที่ทำผ่าตัดเต้านมออก ซึ่งศัลยแพทย์จะผ่าตัดในแนวบริเวณขอบเสื้อชั้นในเพื่อเน้นความสวยงามของแผลหลังผ่าตัดสามารถใส่เสื้อในปิดรอยแผลผ่าตัดภายหลังแผลหายดีแล้ว และมีท่อระบายน้ำเหลือง 2 สาย จากแผลผ่าตัดเต้านมและแผลผ่าตัด donor site ที่หลัง
 

รูปที่ 7 

รูปที่ 8 

 

         โดยทั่วไปผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาลรามาธิบดีส่วนใหญ่จะนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลภายหลังผ่าตัดประมาณ 2 วันและจำหน่ายกลับบ้านพร้อมท่อระบายน้ำเหลือง และมาติดตามการรักษาหลังจำหน่ายกลับบ้านประมาณ 1 สัปดาห์ สำหรับท่อระบายน้ำเหลืองจะคาไว้ประมาณ 10-14 วัน จึงถอดออก

          ส่วนวิธีการผ่าตัดอีกแบบหนึ่งคือ Transverse Rectus Abdominis Musculocutaneous flap หรือ TRAM flap ภายหลังการผ่าตัดเลาะเนื้อเต้านมออกทั้งหมด

         หมายถึงการผ่าตัดตกแต่งหรือเสริมสร้างเนื้อเต้านมขึ้นใหม่โดยใช้กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้องมาผ่าตัดตกแต่งเสริมภายหลังการผ่าตัดเลาะเนื้อเต้านมออกทั้งหมด (รูปที่ 9)

 

รูปที่ 9.1

รูปที่ 9.2

รูปที่ 9.3

รูปที่ 9 แสดงวิธีการผ่าตัดโดยใช้กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้อง

         การผ่าตัดใช้กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้องมาเป็นวิธีหนึ่งที่ทำมากขึ้นในปัจจุบันเนื่องจากเป็นวิธีการที่ปลอดภัยมีผลแทรกซ้อนน้อย ระยะการนอนรักษาตัวประมาณ 3-5 วัน สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ทั้งในแง่ตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัวและสังคม

 

หลักเกณท์ในการคัดเลือกผู้ป่วยที่จะทำผ่าตัดสร้างเต้านมใหม่ด้วยการใช้กล้ามเนื้อ และชั้นไขมันบริเวณหน้าท้อง ได้แก่

          1. เหมาะสมสำหรับเต้านมทุกขนาด ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
          2. ผู้ป่วยที่มีเต้านมหย่อนคล้อยมาก

 

          สภาพผู้ป่วยหลังผ่าตัด

         หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดบริเวณเต้านมข้างที่ทำผ่าตัดและแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้องส่วนล่างสุดซึ่งเป็นแผลเส้นโค้งตามแนวพับของท้องซึ่งศัลยแพทย์จะผ่าตัดในแนวบริเวณหน้าท้องส่วนล่างสุดตามแนวขอบกางเกงในเพื่อเน้นความสวยงามของแผลหลังผ่าตัด อาการปวดสามารถระงับได้ด้วยยาแก้ปวดชนิดฉีดในวันแรกหลังผ่าตัด หลังจากนั้นสามารถระงับด้วยยาแก้ปวดชนิดรับประทาน หลังผ่าตัดไม่เกิน 24-48 ชั่วโมงผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถลุกนั่งบนเตียงและลุกเดินได้ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลภายหลังผ่าตัดประมาณ 3-5 วันและจำหน่ายกลับบ้านพร้อมท่อระบายน้ำเหลือง และมาติดตามการรักษาหลังจำหน่ายกลับบ้านประมาณ 1 สัปดาห์

         เมื่อติดตามผลของการผ่าตัดในระยะยาวแล้ว จะได้ลักษณะของเต้านมที่สร้างขึ้นใหม่ เหมือนเต้านมจริงมากที่สุด ทั้งในด้านรูปร่างและลักษณะเนื้อเต้านมจากการสัมผัส สร้างความพึงพอใจ และความรู้สึกว่ายังมีเต้านมอยู่เช่นเดิมได้เป็นอย่างดี (รูปที่ 10-13)

รูปที่10 แสดงผู้ป่วยหลังผ่าตัดเต้านมขวาด้วยวิธีนี้
*รูปนี้เป็นลิขสิทธิ์ ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

รูปที่11.1 แสดงผู้ป่วยหลังผ่าตัดเต้านมขวาด้วยวิธีนี้และทำหัวนมขึ้นมาใหม่
*รูปนี้เป็นลิขสิทธิ์ ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

รูปที่11.2 แสดงผู้ป่วยหลังผ่าตัดเต้านมขวาด้วยวิธีนี้และทำหัวนมขึ้นมาใหม่ร่วมกับสักสีบริเวณลานนม
*รูปนี้เป็นลิขสิทธิ์ ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

รูปที่ 12 แสดงผู้ป่วยมะเร็งเต้านมขวา ร่วมกับเต้านมซ้ายมีความหย่อนคล้อยตามวัย

รูปที่ 12.1 ภาพก่อนผ่าตัดเต้านมขวา และก่อนแก้ไขเต้านมซ้ายที่หย่อนคล้อย
 

รูปที่ 12.2 ภาพหลังผ่าตัดบริเวณเต้านมขวาออกทั้งหมดร่วมกับ
เสริมสร้างเต้านมใหม่ด้วย Pedicled TRAM flap และแก้ไขเต้านมซ้ายที่หย่อนคล้อย
(vertical mastopexy of the opposite breast) ที่ 6 อาทิตย์หลังผ่าตัด

รูปที่12.3 ภาพหลังผ่าตัดเสริมแต่งเต้านมขวา และแก้ไขเต้านมซ้ายที่หย่อนคล้อย ที่ 3 เดือนหลังผ่าตัด

 

 

รูปที่13.1 ภาพก่อนผ่าตัดเต้านมขวา และก่อนแก้ไขเต้านมซ้ายที่หย่อนคล้อย

 

 

รูปที่13.2 ภาพหลังผ่าตัดบริเวณเต้านมขวาออกทั้งหมดร่วมกับเสริมสร้างเต้านมใหม่ด้วย Pedicled TRAM flap และแก้ไขเต้านมซ้าย( vertical mastopexy of the opposite breast)ที่หย่อนคล้อย (ภาพด้านหน้า) ที่ 6 อาทิตย์หลังผ่าตัด

 

รูปที่13.3 ภาพหลังผ่าตัดเสริมแต่งเต้านมขวา และแก้ไขเต้านมซ้ายที่หย่อนคล้อยที่ 6 อาทิตย์หลังผ่าตัด
(ภาพด้านข้าง)

         สรุป

         การผ่าตัดสร้างเสริมเต้านมขึ้นมาใหม่โดยใช้เนื้อเยื่อของตัวเอง นอกจากจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ต้องทำการผ่าตัดเต้านมออกไป มีความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น อีกทั้ง ยังช่วยลดปัญหาการผ่าตัดเต้านมหลายๆครั้งได้มากทีเดียว

         ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ต้องทำการผ่าตัดเต้านมออกและต้องการเสริมสร้างเต้านมใหม่ วิธีการดังกล่าวนี้ จะเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยผู้ป่วยได้มาก แต่ต้องไม่ลืมปรึกษาศัลยแพทย์ก่อนถึงผลดีผลเสียของวิธีการแต่ละวิธี