มะเร็งลำไส้ใหญ่และเคมีบำบัด

 

ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

    

             (colon และ rectal) เป็นอวัยวะในช่องท้องที่อยู่ท้ายสุดของทางเดินอาหาร มีความยาวประมาณ 150 เซนติเมตร แบ่งเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่ 1 ซีกั้ม (caecum)  เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนต้นเหนือท้องน้อย  อยู่ทางด้านขวา ยาวประมาณ  6.3-7.5 เซนติเมตร มีไส้ติ่ง ยื่นออกมาขนาดเท่านิ้วก้อย ความยาวประมาณโดยเฉลี่ย 8-10 เซนติเมตร
ส่วนที่ 2 โคลอน (colon) แบ่งย่อยเป็น 3 ส่วน ดังนี้
2.1 ลำไส้ใหญ่ส่วนทอดขึ้นบน (ascending colon) เป็นส่วนที่ยื่นตรงขึ้นไปเป็นแนวตั้งฉากทางด้านขวาของช่องท้อง ขึ้นข้างบนไปจนชิดตับ ความยาว ประมาณ 20 เซนติเมตร
2.2 ลำไส้ใหญ่ส่วนขวาง (transverse colon) เป็นส่วนที่วางพาดตามแนวขวางของช่องท้อง ข้ามไปทางด้านซ้ายลำตัวจนถึงบริเวณใต้ม้าม ความยาวประมาณ  50 เซนติเมตร
2.3 ลำไส้ใหญ่ส่วนทอดลงล่าง (descending colon)  เป็นส่วนที่ดิ่งตรงลงมาเป็นแนวตั้งฉาก ความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร อยู่บริเวณช่องเชิงกรานซีกซ้าย ส่วนปลายจะขดตัวคล้ายตัวเอส (S) เรียกว่า ซิกมอยด์  (sigmoid) ความยาวประมาณ 45 เซนติเมตร และจะต่อกับลำไส้ตรง
ส่วนที่ 3 ลำไส้ตรง (rectum) เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนสุดท้าย ความยาวประมาณ 12 เซนติเมตร อยู่แนวกลางลำตัว ปลายของไส้ตรงจะเปิดสู่ภายนอกทางทวารหนัก (anus)
 

ขบวนการย่อยอาหารและการทำหน้าที่ของลำไส้ใหญ่

           
           เมื่อรับประทานอาหารเข้าสู่ร่างกาย  กระเพาะอาหารจะผลิตน้ำย่อยและเคลื่อนไหวคลุกเคล้าอาหาร กล้ามเนื้อกระเพาะอาหารจะหดตัวอย่างแรงเป็นช่วงๆ ดันให้อาหารเคลื่อนลงสู่ส่วนล่างของกระเพาะอาหาร ลงสู่ลำไส้เล็ก มีน้ำย่อยต่างๆ มากมายที่สร้างจากตับอ่อน ผนังลำไส้เล็ก และน้ำดีที่สร้างจากตับผ่านทางถุงน้ำดี เกิดขบวนการย่อยและเปลี่ยนอาหารให้เป็นสารอาหารโมเลกุลเดี่ยว ได้แก่ น้ำตาลกลูโคส เพื่อให้สามารถดูดซึมสารอาหารผ่านทางผนังลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือด ไปเลี้ยงอวัยวะทุกส่วนทั่วร่างกาย ส่วนกากอาหารที่ผ่านการย่อยแล้วจะส่งไปยังลำไส้ใหญ่
หน้าที่ของลำไส้ใหญ่

       

1. ดูดน้ำ วิตามิน แร่ธาตุ (โซเดียม และโปรแตสเซียม) และน้ำตาลกลูโคสที่เหลือค้างอยู่ในกากอาหาร กลับเข้า
สู่หลอดเลือดฝอย

       2. รับและเก็บกากใยอาหาร
       3. สร้างน้ำเมือกจากผนังลำไส้ใหญ่ด้านใน
       4. เป็นที่อยู่ของแบคทีเรียหลายชนิดที่ทำประโยชน์และไม่เกิดโทษ เช่น แบคทีเรียที่ช่วยสังเคราะห์วิตามินบี 12 
และวิตามินเค เป็นต้น

ข้อควรทราบ

  •      ถ้ามีเชื้อโรคเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ จะทำให้ลำไส้ใหญ่ดูดน้ำกลับสู่เลือดไม่ได้ ทำให้เกิดอาการท้องร่วง
  •       ถ้ากากอาหารอยู่ในลำไส้ใหญ่นานเกินไป จะถูกลำไส้ใหญ่ดูดน้ำออกมามาก ทำให้เกิดอาการท้องผูก

 

ขั้นตอนการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

            การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นไปตามขั้นตอน   (ดูรูปที่ 2) ดังนี้ คือ เริ่มจากการกลายพันธุ์ของเซลล์ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของขนาดเยื่อบุที่เติบโตเร็ว เซลล์เปลี่ยนแปลงจากเดิม เป็นความผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็ง (dysplasia) ต่อมาเกิดติ่งเนื้อของ   เยื่อบุลำไส้แตกกิ่ง (villous) แล้วกลายเป็นมะเร็งในที่สุด

สาเหตุและปัจจัยของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดแน่ชัด  แต่มีปัจจัยบางอย่างเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ดังนี้ คือ
         - อายุ: ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ที่มีอายุน้อย และร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่มีอายุมากกว่า 50 ปี
         - ประวัติมะเร็งในครอบครัว ถ้าบุคคลในครอบครัว ญาติสายตรงลำดับแรก ได้แก่ พ่อ แม่ พี่น้อง มีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อเกิดโรคในอายุน้อยกว่า 60 ปี จะมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากกว่าคนทั่วไป
        - ผู้ที่เคยเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease) หรือมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ (polyps) 
        - โรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น Hereditary nonpolyposis colon cancer
( HNPCC
 หรือLynch syndrome ) และ Familial adenomatous polyposis ( FAP ) เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้มากขึ้น
                   - ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่ มดลูก หรือเต้านม จะมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากกว่าคนปกติ

                   - ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงจะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งกรดน้ำดีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุของผนังลำไส้ และทำให้เกิดการแบ่งตัวของเยื่อบุผนังลำไส้มากขึ้น นอกจากนี้ อาหาร ปิ้งย่าง รมควัน จะมีสารก่อมะเร็ง การรับประทานผัก ผลไม้น้อย สูบบุหรี่และดื่มสุราจัด

 

 

อาการและความผิดปกติที่ตรวจพบ

อาการและอาการแสดงที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับขนาดของก้อน และตำแหน่งของก้อนมะเร็งอาการที่พบบ่อย คือแน่นท้อง ท้องอืด ปวดท้อง อาเจียน อ่อนเพลีย หรือคลำได้ก้อนบริเวณท้องน้อยด้านขวา ซีด เบื่ออาหาร น้ำหนักลดผิดปกติ  อุจจาระมีสีคล้ำ อาจมีมูกเลือดปะปนมากับอุจจาระ การขับถ่ายอุจจาระผิดปกติ เช่น ขับถ่ายลำบาก มีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย  ขนาดอุจจาระลดลงผิดปกติ  หรือมีอาการถ่ายอุจจาระไม่สุด เป็นต้น

การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยยาเคมีบำบัด มีหลายสูตร แพทย์จะพิจารณาการรักษา ตามระยะโรค และความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย สูตรยาเคมีบำบัดที่ใช้บ่อยปัจจุบัน มีดังนี้ คือ
            1. สูตร ไฟว์เอฟยู (5-FU, 5 Fluorouracil ) และ โฟลินิคแอซิดหรือลิวโคโวริน (Folinic acid, leucovorin) เป็นยาฉีด 5 วันติดต่อกัน ต่อ 1 ชุดการรักษา ทุก 28 วัน ให้ทั้งหมด 6 ชุด เป็นเวลา 6 เดือน
            2. สูตร ฟอลฟอก ประกอบด้วยยาฉีด 3 ชนิด คือ โฟลินิค แอซิด  ไฟว์เอฟยู และออกซาลิพลาติน (Oxaliplatin)  สูตรนี้ให้ทุก 2 สัปดาห์ ต่อ 1 ชุดการรักษา ทั้งหมด 12 ชุด
          3. สูตร ฟอลฟิริ (FOLFIRI) ประกอบด้วยยาฉีด 3 ชนิด คือ อิริโนทีแคน โฟลินิค แอซิด และไฟว์เอฟยู ให้ทุก 2 สัปดาห์ต่อ 1 ชุดการรักษา ทั้งหมด 12 ชุด หรือจนกว่าโรคจะสงบ

          4.สูตร เคพไซทาบีนหรือซีโลดา:Xeloda) เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน มีขนาด 500 มิลลิกรัม และ 150 มิลลิกรัมรับประทาน เช้าและเย็น หลังอาหารติดต่อกัน 14 วัน พัก 1 สัปดาห์ ต่อ 1 ชุดการรักษา รวม 8 ชุด หรือ 6 เดือน

            5. สูตร ซีล็อก/แคฟพอค (XELOX /CAPOX) ประกอบด้วยยา 2 ชนิด คือ ยาเม็ดซีโลดา และ ยาฉีดออกซาลิพลาติน โดยให้ยาฉีดในวันแรก และยาซีโลดา รับประทาน 14 วัน พัก 1 สัปดาห์ ต่อ 1 ชุดการรักษา ทั้งหมด 6 ชุด
6. สูตรยามุ่งเป้า (Targeted therapy) ปัจจุบันมียาฉีด 2 ชนิด คือ ยาบีวาซิซูแมบ (Bevacizumab) ชื่อการค้าว่า อวาสติน (Avastin) และยาซิทูซิแม็บ (Cetuximab) ชื่อการค้าว่า เออร์บิทัก (Erbitux )  วิธีการให้ยาดังนี้
             6.1 ยาบีวาซิซูแมบ ให้คู่กับยาเคมีบำบัด สูตรฟอลฟอก หรือสูตรฟอลฟิริ  ทุก 2 สัปดาห์  
        6.ยาบีวาซิซูแมบ ให้คู่กับยาเคมีบำบัด สูตร ซีล็อก/แคฟพอค ทุก 3 สัปดาห์
  
            6.3 ยาเออร์บิทัก ฉีดทุก 1 สัปดาห์  ให้คู่กับยาเคมีบำบัด สูตรฟอลฟอก หรือ สูตรฟอลฟิริ ทุก 2 สัปดาห์