มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก (โดย ผศ. นพ.ภุชงค์ ลิขิตธนสมบัติ) 

         มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในสตรีไทย และทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากโรคนี้เราจึงควรมาทำความรู้จักโรคนี้กัน

 

 

         

         ปากมดลูกคือ ส่วนของอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงที่ต่อจากมดลูกในช่องท้องโผล่ยื่นออกในช่องคลอด (ดังรูป)

         ปากมดลูกเป็นทางผ่านของเลือดประจำเดือน ซึ่งมาจากมดลูกและไหลออกมาภายนอกผ่านช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์น้ำอสุจิจะไปอยู่ในช่องคลอดเข้าไปสู่มดลูกทางปากมดลูก เมื่อเกิดการปฏิสนธิกับไข่ของคุณผู้หญิงจะทำให้เกิดทารกน้อยๆ อาศัยในโพรงมดลูก และคลอดออกมาทางช่องคลอดเมื่อครบกำหนด

 

p3.jpg

 

 

         สาเหตุสำคัญของโรคนี้เกิดจากเชื้อฮิวแมนแป๊ปปิโลม่าไวรัส (Human papilloma virus = HPV) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า เชื้อเอชพีวี (HPV) ซึ่งติดต่อไปยังบุคคลอื่นๆ ได้จากการมีเพศสัมพันธ์ ในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งอาจจะเคยได้รับเชื้อนี้ แต่ร่างกายสามารถกำจัดไปได้ และมีบางส่วนที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ รวมถึงมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกและทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น หูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก และอื่นๆ
 

         ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ นอกจากเชื้อ HPV ที่กล่าวมาได้แก่

  1. อายุ ส่วนใหญ่มะเร็งปากมดลูกมักพบในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป

  2. มีคู่นอนหลายคน ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อ HPV มากขึ้น

  3. สูบบุหรี่

  4. มีบุตรจำนวนมาก

  5. ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์)

  6. ไม่เคยตรวจภายใน เพื่อค้นหารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง (Precancercous lesion) ซึ่งในช่วงเวลานี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่สามารถตรวจพบด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยาที่เรียกว่าแป๊ปสเมียร์ (Pap smear) และสามารถรักษาได้ หากตรวจพบรอยโรคในระยะนี้ก็จะสามารถป้องกันการเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูกได้

 

p4.jpg

 

 

         การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หมายถึง การตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกก่อนที่จะมีอาการ เป็นการตรวจหารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็งและมะเร็งระยะเริ่มแรก ทำให้สามารถรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ รวมถึงรักษามะเร็งระยะเริ่มแรกอย่างได้ผล

         วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบันมีหลายวิธี แต่ที่นิยมใช้คือ

         การตรวจเซลล์ปากมดลูกด้วยวิธีทางเซลล์วิทยา หรือแป๊ปสเมียร์ (Pap smear) ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจเช็คให้ในขณะที่ทำการตรวจภายใน ซึ่งหลังจากตรวจเสร็จแพทย์จะนัดฟังผลตรวจหรือแจ้งผลให้ทราบในภายหลัง หากมีความผิดปกติก็จะใช้การรักษาตามความผิดปกติของรอยโรค

         การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเซลล์วิทยา ร่วมกับการตรวจหาเชื้อ HPV ชนิดที่มีความเสี่ยงสูง การตรวจวิธีนี้มีข้อดีคือ แพทย์สามารถให้การดูแลรักษาเซลล์ปากมดลูกที่ผิดปกติได้ดีขึ้น แต่มีข้อเสียคือ ผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก

         ในปัจจุบันแนะนำให้ผู้หญิงไทยตรวจภายในพร้อมตรวจแป๊ปสเมียร์ในกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์แล้วประมาณ 3 ปี หรืออายุมากกว่า 30 ปี หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ

 

p6.jpg

 

 

ในระยะรอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง และมะเร็งระยะเริ่มแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคเป็นมากขึ้น มีอาการดังต่อไปนี้

  • เลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ สวนล้างช่องคลอด ตรวจภายใน
  • เลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่รอบประจำเดือน
  • เลือดออกทางช่องคลอดหลังจากหมดประจำเดือนไปนานแล้ว (วัยทอง)
  • ตกขาวมากขึ้น มีกลิ่นเหม็น
  • ปวดท้องน้อย หรืออุ้งเชิงกราน
  • เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์

หากคุณมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติโดยเร็ว

 

p5.jpg

 

 

         ถ้าแพทย์ตรวจแป๊ปสเมียร์พบมีผลเซลล์วิทยาผิดปกติ แพทย์อาจนัดตรวจส่องกล้องขยายดูบริเวณปากมดลูก เพื่อหาความผิดปกติและตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ แต่หากแพทย์ตรวจพบความผิดปกติของบริเวณปากมดลูกด้วยตาเปล่า แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเลย ซึ่งทำให้ทราบว่ามีความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกอยู่ในระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรืออยู่ในระยะเป็นมะเร็งแล้ว ในกรณีที่เป็นรอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง แพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีการรักษาต่างๆ ได้แก่ การตรวจติดตาม, การจี้ความ เย็น, การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า เป็นต้น หากรอยโรคเป็นระยะมะเร็งปากมดลูกแล้ว แพทย์จะต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อตรวจว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะใดของมะเร็ง ซึ่งมะเร็งปากมดลูกมี 4 ระยะ

ระยะที่ 1 เป็นระยะต้น
ระยะที่ 2-3 เป็นระยะกลาง
ระยะที่ 4 เป็นระยะสุดท้าย อาจมีการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย เช่น ตับ, ปอด, กระดูก เป็นต้น

 

p8.jpg

 

 

         การรักษาโรคนี้ขึ้นกับระยะของโรคดังที่กล่าวมาแล้ว หากเป็นระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรือมะเร็งปากมดลูกระยะต้น แพทย์อาจใช้การผ่าตัด ซึ่งผลการรักษาดีมากโอกาสหายสูงมาก
หากเป็นมะเร็งระยะกลาง การรักษาส่วนใหญ่ใช้การฉายรังสีรักษาร่วมกับให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งผลการรักษาดีพอสมควร
หากเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย การรักษาส่วนใหญ่ทำได้เพียงแค่ประคับประคองอาการ บำบัดอาการเจ็บปวดของผู้ป่วย ผลการรักษาไม่ดี

         ผลข้างเคียงจากการรักษา ขึ้นอยู่กับว่าได้รับการรักษาแบบใด โดยทั่วไปหากรักษาด้วยการผ่าตัด ผู้ป่วยมักจะมีภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียง ในขณะผ่าตัด เช่น เสียเลือดมาก หรือหลังผ่าตัดใหม่ๆ เช่น แผลติดเชื้อ เป็นต้น แต่หากเป็นการรักษาด้วยวิธีฉายรังสีรักษาส่วนใหญ่มีผลข้างเคียงมักจะเกิดในช่วงหลังรักษา 2-3 ปีขึ้นไป อาการที่อาจเกิดขึ้น เช่น ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด อย่างไรก็ตามก่อนทำการรักษาแพทย์จะแจ้งผลข้างเคียงของการรักษาให้ทราบก่อน

         ส่วนการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด โดยทั่วไปจะเกิดผลข้างเคียงคือ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย เม็ดเลือดขาวต่ำติดเชื้อโรคง่ายขึ้น อาจมีผมร่วงในการใช้ยาบางชนิด

 

p7.jpg

 

 

         ดังที่กล่าวมาแล้ว คุณผู้หญิงสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกด้วยการรับการตรวจภายในพร้อมตรวจแป๊ปสเมียร์ เพื่อตรวจหารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง ทำให้ป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้
         ในปัจจุบันเริ่มมีการผลิตวัคซีนสำหรับป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ในขณะนี้ยังไม่สามารถป้องกันโรคได้ทั้งหมด หากคุณมีความสนใจอาจปรึกษาสูติ-นรีแพทย์เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้