ประวัติความเป็นมาของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

 

พ.ศ. 2551      

 

 

               สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ถือกำเนิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาทบพิตร 

และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีพระราชประสงค์ให้มีสถานพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่

ระดับโรงเรียนแพทย์ จ.สมุทรปราการซึ่งเป็นจังหวัดที่มีภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก และเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนผู้ใช้แรงงาน

ซึ่งมีรายได้น้อยเพื่อเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น ทางคณะกรรมการประจำคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้มีมติเห็นชอบในการสนองพระราชดำริดังกล่าว

โดยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในนาม“โครงการพัฒนารามาธิบดีสู่คณะแพทยศาสตร์ชั้นนำในเอเชีย (Ramathibodi Toward Leading Medical School in Asia)

อีกปัจจัยหนึ่ง คือ เพื่อเป็นการขยาย Campus จากพญาไทมาที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ด้วยพื้นที่ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีพื้นที่แค่ 40 ไร่ 

จึงไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่มาใช้บริการในแต่ละวันได้อย่างเพียงพอ

 

พ.ศ. 2552

 

             

               

               ได้มีการเขียน “แผนผังความคิดอันเยี่ยมยอดของอาจารย์ยอดเยี่ยม” ซึ่งอาจารย์ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ สถาปนิกผู้ออกแบบการก่อสร้าง

“โครงการพัฒนารามาธิบดีสู่คณะแพทยศาสตร์ชั้นนำในเอเชีย (Ramathibodi Toward Leading Medical School in Asia)” ได้เขียนแผนผังความคิด (Mind Map)

ซึ่งแสดงให้เห็นมโนภาพที่สัมพันธ์กันเพื่ออธิบายเรื่องราวและความต้องการของโครงการอย่างครอบคลุมในทุกด้าน

 

พ.ศ. 2553

               ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

เป็นผู้แทนในการรับมอบหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินราชพัสดุ จำนวน 5 แปลง ณ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

เนื้อที่รวม 291 ไร่ 3 งาน 81 ตารางวา จากนายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ณ ห้องประชุมศาลากลาง จังหวัดสมุทรปราการ

การออกแบบพื้นที่ “โครงการพัฒนารามาธิบดีสู่คณะแพทยศาสตร์ชั้นนำในเอเชีย แรกเริ่มนั้น 

มีแนวคิดหลักในการออกแบบ คือ Green Campus – Community Linkage (ใกล้ชิดธรรมชาติ ใกล้ชิดชุมชน) โดยแบ่งพื้นที่เป็น 5 ส่วน คือ

1. พื้นที่บริการทางการแพทย์

2. พื้นที่การศึกษา

3. พื้นที่ที่พักอาศัย

4. พื้นที่สาธารณูปโภค

5. พื้นที่รองรับการขยายตัวในอนาคต

 

ภายใต้กรอบแนวคิด 4E คือ

1) Education reform : การสร้างโอกาสในการปฏิรูประบบการศึกษาและหลักสูตรใหม่

2) Environmental friendly : คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของบุคลากร นักศึกษา และผู้ป่วย

3) Energy saving : ภูมิสถาปัตยกรรมที่ “เน้นความเป็นมิตรและกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม”

4) Excellent living and working condition : คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน โดย “มุ่งอาศัยการใช้พลังงานทางเลือกให้มากที่สุด"

 

พ.ศ. 2554 จนถึงปี พ.ศ. 2556

 

 

               สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ออกสลากการกุศลงวดพิเศษ เพื่อสนับสนุนการก่อสร้าง

“โครงการพัฒนารามาธิบดีสู่คณะแพทยศาสตร์ชั้นนำในเอเชีย (Ramathibodi Toward Leading Medical School in Asia)

รวมมูลค่า 3,000,000,000 บาท (สามพันล้านบาทถ้วน) ซึ่งในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

EIA – Environmental Impact Assessment report ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความห่วงใยและใส่ใจพื้นที่โดยรอบโครงการอย่างแท้จริง
 

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2555 เวลา 15.00 น.

               สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรี สิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี

เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธี “วางศิลาฤกษ์” สถาบันการแพทย์แห่งใหม่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ณ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นขวัญกำลังใจของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
 

พ.ศ. 2556

 

 

               พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ

สถาบันการแพทย์แห่งใหม่ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ว่า สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ (Chakri Naruebodindra Medical Institute) นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

ให้เชิญตราสัญลักษณ์ งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 ประดิษฐานที่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ด้วย
 

สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์กับงานอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม

               สมุทรปราการเป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กและใหญ่มากกว่า 8,000 แห่ง จากที่ตั้งของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

จึงถือเป็นความรับผิดชอบโดยตรงในการขับเคลื่อนงานด้านอาชีวเวชศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมของประเทศ 

ซึ่งการดูแลประชาชนในภาคอุตสาหกรรมมิใช่เฉพาะในจังหวัดสมุทรปราการ แต่จะขยายผลไปจังหวัดด้านอุตสาหกรรมใกล้เคียงแถบชายฝั่งทะเลตะวันออก

และจะขยายครอบคลุมไปทั่วประเทศ การพัฒนางานอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ภายใต้สาขาวิชาอาชีวเวชศาสตร์และพิษวิทยา ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน

นั้น เป็นโครงการร่วมระหว่าง 3 ภาควิชาของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คือ อายุรศาสตร์ เวชศาสตร์ครอบครัว และเวชศาสตร์ชุมชน

โดยพัฒนาอย่างรอบด้านเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้งด้านการศึกษา การบริการ การวิจัย และการสร้างเครือข่ายกับสถาบันอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

 

วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ 2557

 

 

               พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

พระราชทานชื่อโรงพยาบาลของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ว่า “โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์”

และชื่อภาษาอังกฤษว่า “RAMADHIBODI CHAKRI NARUEBODINDRA HOSPITAL”

และในปีเดียวกัน คุณหญิงกานดา เตชะไพบูลย์ และครอบครัว ทูลเกล้าฯ ถวายโฉนดที่ดินบริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

เนื้อที่ 27 ไร่ 2 งาน แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรี สิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี 

เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการก่อสร้างสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ทำให้สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์มีพื้นที่ก่อสร้างรวม 319 ไร่ 1 งาน 81 ตารางวา
 

พ.ศ. 2558

               ได้มีการจัดเตรียมความพร้อม เพื่อก้าวสู่การเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำในเอเชียอย่างสมบูรณ์ที่สุด ในระยะแรกมีบุคลากรฝ่ายวิชาการ(อาจารย์)

จำนวน 20 คน  ฝ่ายสนับสนุน จำนวน 12 คน และสายวิชาชีพ จำนวน 346 คน รวมทั้งหมด 378 คน รวมทั้งการเตรียมการในด้านต่าง ๆ เช่น อาคารสถานที่

โครงสร้างของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ การวางแผนอัตรากำลัง นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาแผนกลยุทธ์และนำมาปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แก่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
 

พ.ศ. 2559

               คณะผู้บริหารเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรี สิรินธร สยามบรมราชกุมารี

เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานความก้าวหน้าของโครงการสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ 

 

พ.ศ. 2560 

               นับว่าเป็นปีที่มีความสำคัญยิ่งของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ หลายประการ คือ

1. สภามหาวิทยาลัยมหิดล

               ให้มีมติอนุมัติให้ประกาศใช้ “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการบริหารสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์และโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์”

ภายใต้สังกัดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการบริหารสถาบันฯ

และโรงพยาบาลฯ โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

2. วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2560

               ได้เริ่มย้ายสำนักงาน อุปกรณ์โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ จากที่พญาไท มายังสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

และในระหว่างนี้ได้มีการฝึกอบรมบุคลากรและติดตั้งเครื่องมือแพทย์ 

เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการทางการแพทย์ที่สมบูรณ์ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560

3. วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2560

               จัดตั้งโครงสร้างองค์กรของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ (เป็นการภายใน)

เพื่อให้การบริหารงานภายในสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์และโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

เป็นไปอย่างเหมาะสมและคล่องตัวยิ่งขึ้น

4. วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2560

               จัดงานเดิน – วิ่ง รามาธิบดี มินิ-ฮาล์ฟมาราธอน เพื่อสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

เป็นการประชาสัมพันธ์การก่อสร้างสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ รวมทั้งยังช่วยกระตุ้นให้ประชาชนที่สนใจและรักในการดูแลสุขภาพตนเอง

ได้มีเวทีในการออกกำลังกายผ่านรูปแบบการวิ่งและเดิน เพื่อสุขภาพ

5. วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560

               โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ได้เปิดให้บริการประชาชนเป็นวันแรก

และมีคนไข้เป็นรายแรกที่เข้ามารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ด้วย

6. วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560

               สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี

เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสมุทรปราการ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11

ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดลและอุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล

อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ผู้อำนวยการก่อสร้างสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

และคณะผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เฝ้าฯ รับเสด็จทรงกดปุ่มเปิดป้ายชื่อ “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์”

และป้ายชื่อ “โรงพยาบาลรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์” 

               ทรงทอดพระเนตรการดำเนินงานของห้องรังสีวินิจฉัยและห้องตรวจเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

(Magnetic Resonance Imaging : MRI) ทรงลงพระนามาภิไธยในแผ่นศิลา และทรงปลูกต้นราชพฤกษ์ จำนวน 1 ต้น

บริเวณด้านหน้าคลินิกพิเศษ (Premium Clinic) อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์

           ทั้งนี้ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ จึงถือว่า วันที่ 25 ธันวาคม ของทุกปี

เป็นวันครบรอบของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ด้วย

 

 

 

 

แนวคิดในการก่อสร้างสถาบันฯ [PDF]
การบริหารโครงการ : จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ [PDF]