EGAT STUDY

 

โครงการวิจัย “การศึกษาระยะยาวถึงอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจหลอดเลือด และเมแทบอลิซึมในพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย”

                คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ฝ่ายแพทย์และอนามัยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และภาควิชาปริทันต์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีความร่วมมือกันในการทำโครงการวิจัยในพนักงานการไฟฟ้าอยู่ 3 โครงการ คือ

                EGAT 1 โครงการวิจัยอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโครงการต่อเนื่องที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2528 ทำการสำรวจในพนักงานการไฟฟ้า 3,499 คน

                EGAT 2 โครงการวิจัยการศึกษาหาอิทธิพลของสภาพแวดล้อมในการทำงานต่อความชุกของโรคหัวใจ และหลอดเลือดรวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในพนักงานการไฟฟ้าเป็นโครงการต่อเนื่องที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2541 ทำการตรวจในพนักงาน 3,000 คน โดยแบ่งเป็นพนักงานที่การไฟฟ้าบางกรวย 2,000 คน เขื่อนภูมิพล เขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนศรีนครินทร์ 1,000 คน

                EGAT 3 โครงการวิจัยการศึกษาระยะยาวถึงอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจหลอดเลือดและเมแทบอลิซึมในพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งจะทำการศึกษาในพนักงานการไฟฟ้าบางกรวย 2,500 คน โดยแบ่งกลุ่มอายุ 25-34 ปี จำนวน 500 คน อายุ 35-54 ปี จำนวน 2,000 คน

ระยะเวลาที่ดำเนินโครงการ 28 ปี และโครงการจะทำการสำรวจซ้ำใหม่ทุก 5 ปี

                วัตถุประสงค์เพื่อหาอุบัติการณ์ของโรคหัวใจ และหลอดเลือดและเมแทบอลิซึม โรคตับเรื้อรัง และโรคมะเร็ง ประเมินผลปัจจัยทางด้านชีวภาพ รูปแบบการดำเนินชีวิตและลักษณะทางสังคมจิตวิทยา ผลจากการปรับเปลี่ยนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมและความสัมพันธ์ระหว่างโรคปริทันต์ การสูบบุหรี่ต่อการเกิดปัจจัยเสี่ยงและโรคหัวใจและหลอดเลือดและเมแทบอลิซึมในประชากรกลุ่มพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ผลการตรวจทำให้ทราบอุบัติการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตับ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์สำหรับการวางแผนป้องกันโรคในประชากรไทยและการประเมินภาระโรค ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยได้นำไปใช้ในการกำหนดแนวทางในการรักษาภาวะไขมันผิดปกติในประชากรไทย และได้มีการจัดทำ RAMA-EGAT HEART SCORE, RAMA-EGAT DIABETES SCORE, RAMA-EGAT SCORE and CAVI RAMA-EGAT STROKE SCORE เพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงต่อ การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดสมองสำหรับประชาชน

                ในส่วนของพนักงานการไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการตรวจหาปัจจัยเสี่ยงของโรคอย่างละเอียด โดยคณะแพทย์จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยทำให้ทราบว่าสถานะสุขภาพของพนักงาน และทราบถึงปัจจัยเสี่ยงของโรคต่างๆ ที่ยังไม่ทราบ เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน รักษาโรคและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตได้อย่างถูกต้อง

ผลงานวิจัยได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารในประเทศและต่างประเทศ นำเสนอที่งานประชุม ESC ที่ประเทศสวีเดนและประเทศฝรั่งเศส ในที่ประชุมราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย

                นอกจากนี้แพทย์ผู้ช่วยอาจารย์โรคหัวใจคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักศึกษาปริญญาโท คณธทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและปริญญาเอก สาขาวิทชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้นำข้อมูลมาใช้ทำวิทยานิพนธ์ มากกว่า 10 วิทยานิพนธ์

                โครงการนี้เป็นประโยชน์ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่และนำความรู่ที่ได้ไปใช้ในการป้องกัน รักษาโรคและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตได้อย่างถูกต้องของประชากรไทยในระยะยาว

                ผู้ร่วมโครงการทุกท่านได้รับการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอ็กซเรย์ปอด ตรวจฟัน ตรวจร่างกายโดยแพทย์โรคหัวใจ การตรวจความเสื่อมของหลอดเลือดแดง และการตรวจสมรรถภาพสมองโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งโครงการคาดว่าผลการตรวจนี้จะนำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นต่อไป ทำให้เกิดซึ่งโครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อไปในระยะยาวต่อประชากรไทย

                นับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันผลงานการวิจัย ได้ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุขของประเทศอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมโครงการ “คนไทยไร้พุง” หรือร่วมให้ข้อมูลแก่โครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ หรือการสร้างนวัตกรรมแบบประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดในคนไทย