มารู้จักฟันคุดกันเถอะ

มารู้จักฟันคุดกันเถอะ

             “ โอ๊ย! ปวดฟันค่ะ คุณหมอช่วยตรวจดูให้หนูที” ประโยคที่คุ้นเคยดังออกมาจากปากสาวน้อยวัยรุ่นรายหนึ่ง แม้ในขณะที่ปวดฟันอยู่นี้เธอยังไม่วายสำทับหมออีกว่า “ คุณหมอตรวจเบาๆนะคะ หนูอ้าปากไม่ค่อยได้ค่ะ” หลังจากที่ตรวจในช่องปากและเอกซเรย์สาวน้อยรายนี้แล้วหมอก็ได้ข้อสรุป “ เหงือกที่คลุมฟันกรามล่างด้านขวาซี่ในสุดของหนูบวมเป่งเลยล่ะ ซึ่งเป็นอาการของเหงือกคลุมฟันอักเสบร่วมกับการมีฟันคุดนะจ๊ะ” สาวน้อยอุทานขึ้นมาทันที “ ตายแล้วอย่างนี้ก็ต้องผ่าออกล่ะซี หนูจะเป็นอะไรมากไหมคะคุณหมอ” “ ไม่เป็นอะไรมากหรอกจ้ะเดี๋ยวหมอจะอธิบายให้ฟังนะ”
 
              ฟันคุด (impacted tooth, wisdom tooth) คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นมาทางช่องปากได้ตามปกติ ซึ่งอาจจะไม่ขึ้นมาเลยหรือขึ้นมานิดหน่อย ไม่เต็มซี่เนื่องจากมีฟันซี่อื่นมาขวางไว้ โดยส่วนมากมักจะเกิดกับฟันกรามล่างซี่ที่สาม (third molar) จนคนทั่วไปมักคิดว่าฟันคุดเกิดได้แต่กับฟันซี่นี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วฟันคุดสามารถเกิดกับฟันซี่อื่นได้ด้วย เช่น ฟันเขี้ยว (canine) ฟันกรามน้อย (premolar)
 
 
              เราสามารถแบ่งชนิดของฟันคุดได้ง่ายๆ โดยดูจากความสัมพันธ์กับฟันข้างเคียง โดยฟันคุดที่หันส่วนครอบฟัน ( crown) เข้าหาฟันกรามแท้ซี่ที่สองเราเรียกว่า mesioangular impaction หรือ mesial impaction ซึ่งเป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ถ้าหันส่วนครอบฟันออกเราเรียกว่า distoangular impaction หรือ distal impaction ถ้าฟันคุดนั้นสามารถขึ้นได้ตรงๆ เราเรียกว่า vertical impaction และถ้าฟันคุดนั้นขึ้นในแนวนอนเราเรียกว่า horizontal impaction

 
 
              นอกจากนี้ เรายังสามารถแบ่งตามความสัมพันธ์กับเหงือกที่คลุมฟันได้โดยฟันคุดที่ไม่ สามารถโผล่พ้นกระดูกขากรรไกรได้เราเรียกว่า bony impaction และฟันคุดที่สามารถโผล่พ้นกระดูกขากรรไกรได้แต่ไม่สามารถทะลุผ่านเหงือกได้เลย หรือสามารถผ่านได้บางส่วนเราเรียกว่า soft tissue impaction

             “ ทำไมเราต้องผ่าฟันคุด” “ ไม่ต้องผ่าฟันคุดได้ไหม” คำถามยอดฮิตที่ทันตแพทย์มักจะโดนถามเป็นประจำ และคำตอบที่ทันตแพทย์มักจะให้ก็คือควรจะผ่าตัดออก เนื่องจากบริเวณที่เป็นฟันคุดมักจะทำความสะอาดได้ยาก มักจะมีเศษอาหารสะสมอยู่ที่ช่องว่างระหว่างฟันคุดกับฟันซี่ข้างเคียง ทำให้เหงือกที่คลุมฟันอักเสบได้ (pericoronitis) และยังทำให้ฟันซี่ข้างเคียงผุหรือเป็นโรคเหงือกได้ด้วย

 
              นอกจากนี้ฟันคุดยังอาจทำให้เกิดปัญหาฟันล้มเก ปัญหาการละลายตัวของรากฟันข้างเคียง และยังอาจทำให้เกิดถุงน้ำหรืออันมีสาเหตุจากฟันได้ด้วย

             “ การผ่าตัดฟันคุดมีผลอย่างไร” เป็นอีกหนึ่งอย่างที่คนไข้ควรรู้ โดยผลของการผ่าตัดฟันคุดมีหลายอย่าง เช่น อาการปวด บวม อักเสบบริเวณแผลผ่าตัด ซึ่งคล้ายคลึงกับการผ่าตัดเล็กโดยทั่วไปซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้นได้เอง แต่มีสิ่งที่แตกต่างคือ บางครั้งการผ่าตัดฟันคุดอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคืออาการชาบริเวณ ริมฝีปากล่างและคาง ซึ่งเหมือนกับตอนที่ทันต-แพทย์ฉีดยาชาให้ อาการดังกล่าวนี้เป็นผลจากการบาดเจ็บของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงฟันในขากรรไกรล่าง (inferior alveolar nerve) ซึ่งบางครั้งพบว่าเส้นประสาทนี้อยู่ใกล้ชิดกับฟันคุดมากจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ อาการชานี้อาจคงอยู่เป็นวัน เดือน หรือเป็นปีขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บต่อเส้นประสาท แต่อาการชานี้จะไม่รบกวนต่อการดำรงชีวิต หรือการรับรู้รสชาติอาหารแต่อย่างใด เพื่อหลีกเลี่ยงอาการชาดังกล่าว ทันตแพทย์จึงมักแนะนำให้ผ่าตัดฟันคุดออกในวัยรุ่น อายุประมาณ 18-25 ปี เนื่องจากรากฟันจะยังไม่ยาวจนไปชิดกับเส้นประสาทดังกล่าว

             “ ตกลงค่ะคุณหมอ หนูยอมผ่าตัดฟันคุดแล้วค่ะ” สาวน้อยตอบ หมอจึงหันไปเตรียมเครื่องมือผ่าตัด “ ...มีรักแท้อยู่ดูแลไม่ได้...” เสียงเพลงรักแท้ดูแลไม่ได้ของโปเตโต้ดังขึ้น มีเสียงสาวน้อยพูดโต้ตอบกับปลายสายอีกด้านหนึ่ง ถ้าดูไม่ผิดหมอแอบเห็นน้องเขาน้ำตาไหลด้วยล่ะ “ เฮ้อ! ฟันคุดน่ะหมอดูแลให้ได้ แต่ถ้ารักคุดล่ะก็ตัวใครตัวมันนะจ๊ะ”

โดย ทพญ. ธนพร ทองจูด
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี